เอสเอ็มอี หวังงวดหน้า กนง.ลดดอกเบี้ยพรวดเดียวเหลือ 2% ด้านหอค้าฯหนุน เหตุศก.ยังเปราะบาง
เอสเอ็มอี หวังงวดหน้า กนง.ลดดอกเบี้ยพรวดเดียวเหลือ 2% ด้านหอค้าฯหนุน เหตุศก.ยังเปราะบาง-ปชช.หนี้สูง ช่วยลดความเสี่ยงหนี้เสีย
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า มองว่าเป็นสัญญาณที่ดี สะท้อนจากเริ่มมีกรรมการบางคนในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) บางคน มองเห็นความจำเป็นในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ซึ่งการลดดอกเบี้ยในขณะนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งกับการลดความเสี่ยงการทำธุรกิจ และเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและภาคประชาชนโดยตรง ที่วันนี้ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยในอัตราที่สูง ขณะที่สภาพคล่องการทำธุรกิจยังไม่ได้ฟื้นตัวได้ตามคาด กำลังซื้อมีความระมัดระวังสูง ลังเลการใช้จ่าย สะท้อนจากตัวเลขทางเศรษฐกิจและการค้าขายของร้านค้าทั่วไป ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายเล็ก เอสเอ็มอี เราหวังว่าการประชุมกนง.ในครั้งถัดไป จะพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ย
” จริงๆแล้ว ควรปรับดอกเบี้ยลงตั้งแต่รอบนี้แล้ว เริ่มที่ลงอีก 0.5% และเหลือ 2 % ก่อนหน้านี้การปรับขึ้น 0.5% เป็นภาระเพิ่มขึ้น และอัตราดอกเบี้ยความเสี่ยง นั้น แบงก์ชาติ ไม่เคยแสดงความรับผิดชอบต่อการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานที่ธนาคารพาณิชย์คิดกับประชาชน และ เอสเอ็มอี ทั้งๆที่หลักประกันมี แถมทำประกันชีวิต แต่ไม่มีการตรวจสอบ กำกับดูแลที่ชัดเจนให้ความเป็นธรรม ” นายแสงชัย กล่าว
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้มีการหารือและติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยล่าสุดตามที่ประชุม กนง. มีมติเห็นชอบ 5 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลง จากปัจจัยเชิงโครงสร้างนั้น หอการค้าฯ รับทราบถึงเหตุผลประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการฯ แต่อย่างไรก็ตามภาคเอกชนโดยที่ประชุม กกร. มองว่าแม้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยปีนี้จะฟื้นตัวได้จากปัจจัยหนุนภาคการท่องเที่ยว แต่ก็ยังมีความเปราะบางจากกำลังซื้อภายในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวตามเต็มที่ ภาคการผลิตยังมีแนวโน้มหดตัว รวมถึงยังเผชิญความเสี่ยงและความท้าทายในประเด็นภูมิรัฐศาสตร์หลายปัจจัย
ทั้งการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งอาจเกิดการปรับเปลี่ยนทางนโยบายสำคัญ ผลกระทบจากสงครามที่ขยายวงโดยเฉพาะอิสราเอล-ฮามาสที่ส่งผลให้ค่าระวางเรือเพิ่มและกระทบกับราคาพลังงาน ปัญหาความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน และการแข่งขันกับสินค้าจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ภาคธุรกิจถูกกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูงกระทบต้นทุนการดำเนินกิจการโดยตรง ส่วนการกู้ยืมของประชาชนก็มีภาระหนี้สินที่อยู่ในระดับสูงเช่นกัน
ส่วนตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบต่อเนื่อง 4 เดือน แม้ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการปรับลดเชิงเทคนิค ตามนโยบายการลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานของภาครัฐ แต่บ่งชี้ให้เห็นถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอ ดังนั้น หอการค้าฯ จึงมีข้อเสนอแนะว่าในระยะถัดไป กนง. ควรพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อช่วยลดภาระประชาชน ลดต้นทุนผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่วนลดความเสี่ยงในการเกิดหนี้เสีย รวมถึงเสนอให้มีมาตรการใหม่ ๆ ในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวก จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ และเป็นแรงหนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ตามเป้าหมายต่อไป
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567