เอสเอ็มอี กังวลราคาน้ำมันแพงต่อเนื่อง ธุรกิจตะวันออกเฮ โบนัสคึก
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประจำเดือนมกราคม 2567 เปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2566 พบว่า ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55.0 จากระดับ 54.3
ผลจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจบริการ ราคาขายสินค้าเกษตรหลายรายการทั้งกลุ่มพืชไร่และพืชสวนเพิ่มขึ้น ส่งผลธุรกิจเกษตรขยายตัวดี อย่างไรก็ตามต้นทุนจากค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นอีกครั้งทำผู้ประกอบการกังวล
หากพิจารณาแยกตามดัชนีองค์ประกอบปัจจุบัน พบว่า องค์ประกอบด้านปริมาณการผลิต/การค้า/บริการ กำไร คำสั่งซื้อโดยรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นระดับ 60.2 67.6 และ 62.4 จาก 57.6 66.0 และ 60.4 ขณะที่ดัชนีองค์ประกอบด้านต้นทุนรวมต่อหน่วย การลงทุนโดยรวม และการจ้างงาน ปรับตัวลดลงระดับ 37.4 52.3 และ 50.4 จาก 38.7 52.8 และ 50.5
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภาคธุรกิจ พบว่า ภาคธุรกิจการเกษตร ค่าดัชนีขยายตัวเพิ่มขึ้นชัดเจนตามราคาสินค้าเกษตร ธุรกิจภาคบริการขยายตัวได้ดีในหลายสาขาธุรกิจ อาทิ กลุ่มบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้าง การซ่อมบำรุง การท่องเที่ยวและการบริการ แต่ภาพรวมของธุรกิจภาคการค้าทรงตัว และภาคการผลิตทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า แต่ต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงปรับราคาสูงขึ้นยังเป็นปัจจัยหลักที่กระทบต่อต้นทุนของเอสเอ็มอี
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค พบว่า ภาคเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ 57.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 55.5 โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ภาคตะวันออก ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 57.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 55.4 เศรษฐกิจขยายตัวจากเงินโบนัสที่จ่ายในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าดัชนีอยู่ที่ 56.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 55.9 ภาคการค้าได้รับกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ กลุ่มให้เช่าบริการที่พักรายวัน ธุรกิจการเกษตรราคาสูงขึ้นและการจัดงานเกษตรแฟร์ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสรต์
ภาคกลาง ค่าดัชนีอยู่ที่ 54.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 54.0 เศรษฐกิจภาพรวมค่อนข้างทรงตัว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 52.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.4 ต้นทุนราคาสูงขึ้นจากราคาน้ำมันแพง และภาคใต้ ค่าดัชนีอยู่ที่ 53.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.9 สินค้ามีต้นทุนที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 6 มีนาคม 2567