SDGs ไม่ได้มีแค่ "สิ่งแวดล้อม" องค์กรจะ "ยั่งยืน" ต้องเริ่มจากจุดไหน
"เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน" (SDGs) ของ สหประชาชาติ ซึ่งมีทั้งหมด 17 ข้อ การบรรลุเป้าหมายให้ได้ในปี 2030 ไม่ใช่แค่หน้าที่ของภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ขณะที่ องค์กรจะยั่งยืนได้ ต้องเข้าใจคำว่า SDGs
เมื่อพูดถึงความยั่งยืน มิติแรกที่หลายคนมอง อาจเป็นเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” แต่ความจริง “ความยั่งยืน” มีหลายมิติ เห็นได้จาก “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals : SDGs) ของ สหประชาชาติ ที่จะบรรลุความมุ่งหมายให้ได้ภายในปี 2030 มีทั้งหมดกว่า 17 เป้าหมาย โดยเน้นความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนเชิงพื้นที่ (SDG localization) เพื่อนำวาระการพัฒนาระดับโลก สู่ชุมชนท้องถิ่นให้บรรลุผลลัพธ์ตามเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิผล
การเดินหน้าด้านความยั่งยืน ไม่ใช่แค่หน้าที่ของทางภาครัฐผู้กำหนดนโยบายเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึง สื่อมวลชน ที่เปรียบเสมือนกระบอกเสียง ในการสร้างความตระหนักรู้ เฝ้าระวัง และสร้างพลัง ให้เกิดขึ้นในสังคม
ที่ผ่านมา สหประชาชาติ มีการก่อตั้ง UN Global Compact เครือข่ายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก การรวมตัวภาคเอกชนเพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหา คำนึงถึงสิ่งรอบตัวทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเมื่อธันวาคม ปี 2561 สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand หรือ UNGCNT) ก็ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อธันวาคม 2561 โดยมีสมาชิกผู้ก่อตั้ง 15 บริษัท นับเป็นหนึ่งในเครือข่ายท้องถิ่น (Local Network) ลำดับที่ 70
เข้าใจ 17 เป้าหมาย SDGs :
สำหรับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) 17 ข้อ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่
1)ขจัดความยากจน
2)ขจัดความหิวโหย
3)มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
4)การศึกษาที่เท่าเทียม
5)ความเท่าเทียมทางเพศ
6)การจัดการน้ำและสุขาภิบาล
7)พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้
8)การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
9)อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน
10)ลดความเหลื่อมล้ำ
11)เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน
12)แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน
13)การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
14)การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล
15)การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก
16)สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก
17)ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร เลขาธิการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก แห่งประเทศไทย กล่าวในงานเวิร์กช้อป เสริมศักยภาพสื่อมวลชน การสื่อสารประเด็นความยั่งยืน โดยระบุว่า ที่ผ่านมา สมาคมฯ เติบโตอย่างรวดเร็ว บริษัทต่าง ๆ รวมถึง SME เห็นถึงความสำคัญของประเด็นความยั่งยืนและต้องการสร้างเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่จะเกิดขึ้น ร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันเรามีสมาชิก 136 องค์กร ที่มีรายได้รวมกันเกือบเก้าล้านล้านบาท (8,923,780,110บาท) หรือ ประมาณสองแสนหกหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (USD 254,965,146,207) ครอบคลุมการจ้างงานกว่า 1.2 ล้านคน ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมกำลังแรงงานในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทแต่ละราย สมาคมฯ เป็นเครือข่ายท้องถิ่นของเครือข่ายระดับโลก ดำเนินงานตามหลักการสากล 10 ประการ ครอบคลุมเนื้อหา 4 ด้าน ได้แก่
การปกป้องสิ่งแวดล้อม
* ธุรกิจจะต้องสนับสนุนแนวทางการระแวดระวังในการดำเนินงานที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
* ส่งเสริมการยกระดับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
* ส่งเสริมการพัฒนาและการเผยแพร่เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
มาตรฐานแรงงาน
* สนับสนุนเสรีภาพในการรวมกลุ่มของแรงงานและการรับรองสิทธิ์ในการร่วมเจรจาต่อรองอย่างจริงจัง
* ต่อต้านการใช้แรงงานเกณฑ์ และแรงงานที่ใช้การบังคับในทุกรูปแบบ
* ต่อต้านการใช้แรงงานเด็กอย่างจริงจัง
* ขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างแรงงานและการประกอบอาชีพ
สิทธิมนุษยชน
* สนับสนุนและเคารพการปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ประกาศในระดับสากล
* ตลอดจนหมั่นตรวจสอบว่าการดำเนินงานต่างๆ ไม่ล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน
ต่อต้านการทุจริต
* ต่อต้านการทุจริตรวมทั้งการกรรโชก และการให้สินบนในทุกรูปแบบ
“4 หมวด UNGCNT สนับสนุนในการทำธุรกิจ ให้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เพราะ “ความยั่งยืน” คือ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ตั้งแต่ การจ้างงานอย่างเป็นธรรม ความเสมอภาคสตรีและความหลากหลายทางเพศ การเลือกปฏิบัติ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เสมอภาคทางเพศ ไม่รุกล้ำป่า การลดคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศา ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และการตั้งเป้าความยั่งยืน”
17 เป้าหมาย องค์กร ต้องเริ่มจากตรงไหน :
ดร.เนติธร กล่าวต่อไปว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ องค์กรต้องกลับมาสำรวจตัวเองก่อน ต้องเรียกผู้บริหารที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยว่า 17 ข้อ อะไรคือความเสี่ยงขององค์กร ถัดมา อะไร เป็นเรื่องที่เรายังขาด หรือจำเป็นต้องทำ
"คำว่า 17 ข้อน้ำหนักหรือความสำคัญไม่เท่ากันในแต่ละองค์กร เช่น ความเสมอภาคทางเพศ การลดโลกร้อน การไม่ปล่อยคาร์บอน องค์กรปล่อยคาร์บอนเท่าไร จะเป็นองค์กรสีเขียวจะเขียวแค่ไหน ขจัดความยากจน เสมอภาคในการศึกษา โอกาสเข้าถึงการศึกษาของพนักงานเท่ากันหรือไม่ ผู้หญิงมีโอกาสขึ้นมาเป็นผู้บริหารมากน้อยแค่ไหน ความก้าวหน้าด้านอาชีพ ความหลากหลายทางเพศ ศาสนา วัฒนธรรม มากน้อยแค่ไหน ดังนั้น ต้องสำรวจตัวเอง และเรียงตามความเสี่ยง"
สื่อ จุดเชื่อมสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมาย
ดร.เนติธร กล่าวต่อไปว่า การที่องค์กรจะเดินหน้าสู่ความยั่งยืน ก่อนอื่นต้องเอาประเด็นมากางก่อนว่าอะไรสำคัญ เป้าหมายความยั่งยืน 17 ข้อ คืออะไร มาได้อย่างไร ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจว่า โลกกำลังทำอะไรกันอยู่ ต้องมาคลี่กันในแง่ของเนื้อหาพื้นฐานเป็นที่มาของการพูดคุยกันในวันนี้ ความยั่งยืน เป้าของโลก และสื่อจะทำให้บรรลุอย่างไร
จุดเชื่อมระหว่างสมาคมกับสื่อคืออะไร เราทุกคน ทุกองค์กรไม่จำเป็นต้องทำทั้งหมด 17 ข้อ แต่ทั้ง 17 ข้อ มีความสำคัญ และช่วยตีกรอบให้เราว่ามีอะไรบ้าง เพื่อช่วยกันทำให้ทันภายในปี 2030 โดยบทบาทหน้าที่ของสื่อที่สำคัญ 3 ด้าน คือ
* การสร้างความตระหนักรู้
* การเฝ้าระวัง
* สร้างพลัง
“ข้อแรก คือ การสร้างความตระหนักรู้ อาจจะต้องกลับมาคุยกันว่า 17 ข้อที่ว่า คือ อะไร เพื่อที่ว่าเราจะต้องสื่อสาร ไม่เพียงแต่ประชาชน แต่คนที่เกี่ยวข้อง ต้องเข้าใจและเห็นภาพเดียกวันว่า 17 ข้อ สำคัญอย่างไร จะไปถึงเป้าอย่างไร และต้องทำอะไรบ้าง เป็นการสร้างความตระหนักรู้”
ถัดมา นอกจากตระหนักรู้ คือ การเฝ้าระวัง คล้าย Watch Dog สิ่งที่เกิดขึ้น มีความเสี่ยงตรงไหน เช่น สิ่งที่สื่อรายงานบุกรุกพื้นที่ป่า เกี่ยวข้องกับข้อไหนบ้าง ขณะเดียวกัน สิ่งที่เกิดในภาคธุรกิจ เช่น การประกาศช่วยลดโลกร้อน ลดการใช้พลาสติก องค์กรลดการใช้คาร์บอนจริงจังเท่าไร หรือ การบริจาคเงินให้องค์กรสตรี แต่ในองค์กรมีการเหยียดเพศ หรือดูแลแรงงานข้ามชาติไม่เป็นธรรม หรือไม่ เป็นช่องทางที่สื่อดูได้ถือเป็นเรื่องของการเฝ้าระวัง
สุดท้าย การสร้างพลัง การได้สัมผัสกลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อย กลุ่มเปราะบางในสังคม และนำเรื่องราวเหล่านั้นมาเล่าให้ฟัง นับเป็นการสร้างพลัง
“ทั้งสามอาจจะมองว่าทำอยู่แล้วในอาชีพสื่อ แต่อยากจะให้เอาสิ่งที่ทำทุกวัน มาผูกกับความสนใจของโลก 17 ข้อ เรื่องที่นำเสนอ จะช่วยประเทศอย่างไรใน 17 ข้อ หรือเรื่องที่รายงานออกมาและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เกี่ยวอะไรกับ 17 ข้อ และสิ่งที่สมาคมฯ จะรับกลับไปทำ คือ ยังมีช่องว่างหรืออะไรที่ต้องทำอีก ที่ต้องการแรงผลักจากสื่อเพื่อบรรลุเป้านั้น”
ดร.เนติธร กล่าว กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยของคนทำสื่อถือเป็นเรื่องที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เราจำเป็นที่จะต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยในการทำหน้าที่ของสื่อ รวมถึงประชาชนที่ร่วมรณรงค์ เช่น มาตรการทางกฎหมายเพื่อป้องกันการในเรื่องการฟ้องปิดปาก หรือ SLAPP การคุ้มครองเสรีภาพของสื่อในการรายงานข่าวที่มุ่งเปิดเผยข้อเท็จจริงหรือความจริงสู่สังคม ที่สอดคล้องกับจรรยาบรรณของสื่อ
ซึ่งกรณีหลังพบว่าจากรายงาน Sustainable Development Report 2023 เสรีภาพสื่อไทยลดลงจากปีก่อน และกลายเป็นประเด็นท้าทายด้านความยั่งยืนที่มีนัยสำคัญของไทย ซึ่งเราต้องร่วมกันจัดการกับข้อท้าทายดังกล่าวโดยเร็ว
ทุกคนถือเป็นพลังที่สำคัญที่จะช่วยขยายผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของประเทศในทุกระดับและสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก “ที่เป็นรูปธรรม โปร่งใส และวัดได้” ขอชวนทุกคนร่วมกับสมาคมฯ และ UN Global Compact ระดับโลก สร้างความยั่งยืนด้วยการสื่อสาร สร้างความตระหนักรู้ เห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องรีบเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในสังคม ทุกช่วงวัย ติดตาม ตรวจสอบ เพื่อสร้างบรรทัดฐานการดำเนินงานด้านความยั่งยืน และเร่งให้เกิดการลงมือทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
เป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ได้รับผลกระทบเชิงลบ พร้อมนำเรื่องดี ๆ ที่ถูกต้อง มาบอกกล่าวเป็นกำลังใจ เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียม เป็นธรรมกับทุกคน อนุรักษ์ทั้งป่าไม้ รวมทั้งสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ และสุดท้าย เชื่อว่าด้วยพลังและความร่วมมือของสื่อ เราจะร่วมกันสร้างสังคมไทยที่ดีกว่าเดิม ก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน หรือ Forward Better and Faster โดย “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 17 มีนาคม 2567