เศรษฐกิจจีน ตัวเลข "ดีขึ้น" หลายด้าน แต่ดีจริงแท้หรือแค่มาหลอก?
ตัวเลขเศรษฐกิจจีนในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์หลายตัว "ดีเกินคาด" ทั้งการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุนในสินค้าคงทน การบริโภคภายในประเทศ ให้ความหวังที่จะบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ 5% แต่ก็ยังต้องตั้งคำถามเอาไว้ก่อน ว่าตัวเลขที่ดีขึ้นนี้จะดีจริงอย่างต่อเนื่อง หรือดีขึ้นแค่ชั่วครู่ก็กลับลงไปแย่อีก
ทั้งนี้ ในการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจของจีนในสองเดือนแรกของปี สำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) ของจีนจะรวมข้อมูลทั้งสองเดือนเข้าด้วยกัน เพื่อลดการบิดเบือนของข้อมูลที่เกิดจากวันหยุดเทศกาลตรุษจีน ซึ่งในบางปีอยู่ในเดือนมกราคม แต่บางปีอยู่ในเดือนกุมภาพันธ์ หรือบางปีก็คร่อมอยู่ทั้งสองเดือน
การส่งออกของจีนในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2024 เพิ่มขึ้น 7.1% จากช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2023 (YOY)
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสองเดือนแรกเพิ่มขึ้น 7.0% (YOY) ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะโต 5.0% และสูงกว่าอัตราการเติบโต 6.8% ในเดือนธันวาคม 2023 ทั้งยังเป็นการเติบโตที่รวดเร็วที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี
ยอดค้าปลีกซึ่งเป็นมาตรวัดการบริโภคภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 5.5% (YOY) สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 5.2% แต่อัตราการเติบโตชะลอลงจากเดือนธันวาคมที่โต 7.4%
ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรขยายตัว 4.2% (YOY) สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 3.2% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 0.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นการพลิกฟื้นจากภาพรวมปี 2023 ที่หดตัว 0.4%
ถึงแม้ว่าสถานการณ์ของหลายภาคส่วนดีขึ้น แต่ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ “แย่แล้ว แย่อยู่ แย่ต่อ” ยังคงเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจจีนที่มีแรงดึงรั้งสูง
การลงทุนในภาคอสังหาฯจีนลดลง 9% ขณะที่ยอดขายที่อยู่อาศัยลดลง 33% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ยังคงไฮไลต์ให้เห็นถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอและความย่ำแย่ของภาคอสังหาฯ
อีกด้านที่แย่คือ อัตราการว่างงาน ซึ่งอัตราการว่างงานในเมืองช่วงสองเดือนแรกปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 5.3% จากที่ 5.1% ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สะท้อนถึงตลาดแรงงานที่ซบเซา ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ
ในปีที่ผ่านมา มีบางเดือนที่ตัวเลขเศรษฐกิจจีนดีขึ้น แต่ก็กลับแย่ลงอีก การที่ตัวเลขดีขึ้นในครั้งนี้จึงไม่อาจจะวางใจได้ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังจะฟื้นตัวดีขึ้นจริง
สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเองก็เตือนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรว่า “เศรษฐกิจฟื้นตัวและดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ โดยมีนโยบายต่าง ๆ ที่มีผลบังคับใช้ แต่เรายังต้องดูด้วยว่าสภาพแวดล้อมภายนอกมีความซับซ้อน น่ากลัว และไม่แน่นอนมากขึ้นเรื่อย ๆ และปัญหาอุปสงค์ภายในประเทศที่ไม่มากพอก็ยังคงอยู่”
หลุยส์ ลู่ นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ “อ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์” วิเคราะห์ว่า ผู้บริโภคได้รับกำลังใจชั่วคราวจากการใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการเฉลิมฉลองในช่วงต้นปี แต่หากไม่มีมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่ชัดเจนในปีนี้ คงเป็นเรื่องยากที่จีนจะรักษาระดับการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่แข็งแกร่งไว้ได้ตลอดปี
ขณะที่ ซีชุน หวง นักเศรษฐศาสตร์จีนจากบริษัทวิจัย “แคปิตอล อีโคโนมิกส์” กล่าวว่า คาดว่าโมเมนตัมทางเศรษฐกิจของจีนจะดีในระยะสั้น เนื่องจากแรงกระตุ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การฟื้นตัวนี้อาจเกิดขึ้นได้ไม่นาน เนื่องจากความท้าทายเชิงโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจ
นักเศรษฐศาสตร์ของ “โกลด์แมน แซกส์” กล่าวว่า โมเมนตัมการเติบโตตามลำดับของจีนยังแข็งแกร่งในไตรมาสแรกนี้ แม้ว่ามีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดในแต่ละภาคส่วน อย่างไรก็ตาม เพื่อที่จะรักษาเป้าหมายการเติบโตอันทะเยอทะยานไว้ที่ “ประมาณ 5%” จีนจำเป็นจะต้องมีการผ่อนคลายเชิงนโยบายเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอุปสงค์ เช่น การใช้นโยบายการคลังกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยและกระตุ้นการบริโภค
ด้าน ชาง ซู่ และ อีริก จู นักเศรษฐศาสตร์จาก บลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ กล่าวว่า ข้อมูลเหล่านี้ยังคงเป็นภาพที่ไม่ค่อยชัดเจน การเติบโตของการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับเล็กน้อย ส่วนการบริโภคแม้จะเติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้า แต่ก็ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า และยังต่ำกว่าความคาดหวัง ที่สำคัญที่สุดคือการฟื้นตัวมีความเปราะบางและต้องการการสนับสนุนด้านนโยบายเพิ่มเติม
แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์แทบทุกคนจะมองตรงกันว่า จีนจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเพิ่มเติม แต่การฟื้นตัวในสองเดือนแรกนี้คงจะทำให้ผู้กำหนดนโยบายของจีนมองว่าไม่จำเป็นที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากที่ได้วางแผนไว้
ซึ่งถ้ารัฐบาลจีนไม่มีการกระตุ้นที่ใหญ่มากพอ เศรษฐกิจจีนก็ยังมีแนวโน้มที่จะมูฟออนเป็นวงกลม คือทำท่าเหมือนจะดีขึ้นแล้วก็แย่ลงอีก
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 20 มีนาคม 2567