ธุรกิจจีนไม่สิ้นหวังสังคมสูงวัย สบช่องทำเงินสันทนาการผู้เฒ่า
สังคมจีนที่ประชากรสูงวัยอย่างรวดเร็วกำลังเป็นแรงหนุนให้เกิดตลาดที่เติบโตเร็ว และสร้างความหวังอย่างมากแก่บริษัทจัดสรรกิจกรรม และห้องเรียนสันทนาการเพื่อชนชั้นกลางสูงอายุ ตั้งแต่โยคะไปจนถึงการตีกลองแอฟริกา และการถ่ายภาพด้วยสมาร์ตโฟน
สังคมจีนที่ประชากรสูงวัยอย่างรวดเร็วกำลังเป็นแรงหนุนให้เกิดตลาดที่เติบโตเร็ว และสร้างความหวังอย่างมากแก่บริษัทจัดสรรกิจกรรม และห้องเรียนสันทนาการเพื่อชนชั้นกลางสูงอายุ ตั้งแต่โยคะไปจนถึงการตีกลองแอฟริกา และการถ่ายภาพด้วยสมาร์ตโฟน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า โอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ตรงข้ามกันอย่างมากกับธุรกิจกวดวิชาเอกชน หลังจากถูกรัฐบาลปราบปรามในปี 2564 เพื่อลดต้นทุนการศึกษาหวังเพิ่มอัตราการเกิดที่ตกต่ำเป็นประวัติการณ์
“อุตสาหกรรมการศึกษากำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเงิน” ฉี เป่ยหลิน ผู้อำนวยการ มามาซันเซ็ตสาขาปักกิ่ง กล่าว มามาซันเซ็ต ทำธุรกิจการเรียนรู้ของผู้ใหญ่เปิดตัวในเดือนเม.ย.2566 ขยายกิจการไปถึงห้าสาขาในกรุงปักกิ่ง
บริษัทที่ปรึกษาฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวน คาดว่า ตลาดการเรียนรู้ของผู้ใหญ่จีนนั้นจะเติบโตในอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) 34% ภายในปี 2570 ไปอยู่ที่ 1.209 แสนล้านดอลลาร์ จาก 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2565
เกมแห่งตัวเลข :
ตลอดทศวรรษหน้าชาวจีนราว 300 ล้านคน จะเข้าสู่วัยเกษียณ เกือบเท่ากับประชากรสหรัฐทั้งประเทศ
ยูโรมอนิเตอร์ประเมินว่า ประชากรอายุไม่น้อยกว่า 65 ปีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทุกๆ สองคนจะอยู่ในจีนหนึ่งคน
แม้วิกฤติประชากรจีนกำลังบั่นทอนฐานการผลิตอุตสาหกรรมของประเทศ งบประมาณของรัฐ และความพยายามแก้ปัญหาความยากจนแต่นักลงทุนจำนวนหนึ่งกลับมองประชากรสูงวัยที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เป็นเดิมพันมั่นคง
มามาซันเซ็ต บริการห้องเรียน 20 หลักสูตรให้กับชาวจีนวัย 50 พลัสหลายหมื่นคน ขณะนี้กำลังหารือกับนักลงทุนในประเทศขยายแฟรนไชส์ไปอีก 200 สาขาทั่วประเทศในสามปีข้างหน้า และต้องการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง
ด้านควอนตาซิง (Quantasing) ผู้ให้บริการเรียนรู้สูงวัยออนไลน์ในจีนซึ่งจดทะเบียนในตลาดแนสแด็กมีแผนจ้างครูสอนไทชิ และยาแผนโบราณเพิ่ม เพื่อเสริมคลาสที่มีอยู่แล้วตั้งแต่ฝึกฝนความจำไปจนถึงการตัดต่อวิดีโอ ทั้งยังมีแผนใช้ประโยชน์จากฐานลูกค้าขายผลิตภัณฑ์ อาทิ แท่งรมยาแผนโบราณ หรือสุราจีนไป่จิว
รายได้ของควอนตาซิงในไตรมาสสี่ของปี 2566 เติบโต 24.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี มาอยู่ที่ 9.805 แสนล้านหยวน ขณะที่ยอดผู้รับบริการโดยรวมพุ่งขึ้น 44.6% เมื่อเทียบเป็นรายปีมาอยู่ที่ 112.4 ล้านหยวนเมื่อสิ้นปี 2566
“มันเป็นอุตสาหกรรมสดใสจริงๆ” แมตต์ เผิง ซีอีโอควอนตาซิงกล่าว
รัฐบาลจีนก็กำลังเข้ามามีส่วนร่วมเช่นกัน เดือนม.ค.ประกาศมาตรการจูงใจด้านภาษี และให้การสนับสนุนทางการเงินแก่สินค้า และบริการสำหรับผู้สูงวัย
นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียงให้คำมั่นในเดือนมี.ค. เพิ่มความพยายามพัฒนา “เศรษฐกิจสีเงิน” แต่ไม่ได้ให้รายละเอียด
รัฐบาลมณฑลเหอเป่ย์จัดหาที่ดิน และที่ว่างให้กับมามาซันเซ็ตสาขาคังโจแล้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการขจัดความยากจน
ฐานใหญ่ รายได้ต่ำ :
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งเตือนว่า การทุ่มลงทุนในอุตสาหกรรมที่พุ่งเป้าผู้ใหญ่อาจเป็นการใจเร็วด่วนได้ ถ้าจีนยังไม่อาจก้าวกระโดดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง อย่างที่สังคมสูงวัยอื่นๆ หนีไปได้แล้ว
นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ในสังคมที่รายได้หลังเกษียณน้อย และไร้ความมั่นคงด้านความจำเป็นพื้นฐาน เช่น การดูแลสุขภาพ คนชราหลายคนต้องพึ่งพาการเงินจากลูกหลาน สภาพแบบนี้ย่อมจำกัดโอกาสการเติบโตของธุรกิจ
ราเชล เหอ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยของยูโรมอนิเตอร์ กล่าวว่า ประชากรสูงอาวุโสในจีนเป็นฐานผู้บริโภคที่มีโอกาสทำเงิน แต่คำถามคือ จะมีความสำคัญเท่ากับตลาดในญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ได้หรือไม่ในระยะสั้น เนื่องจาก “ความเหลื่อมล้ำทางรายได้เชิงลึก” และคนแก่จีนมักมีทัศนคติอนุรักษนิยมมากกว่า ไม่ค่อยใช้จ่ายเงินกับตนเองมากนัก
บำนาญรายเดือนในเขตเมืองเฉลี่ยที่ราว 3,000 หยวนในมณฑลพัฒนาน้อยถึงราว 6,000 หยวนในกรุงปักกิ่ง โนมูระประเมินว่า ชาวจีน 160 ล้านคน รับเงินบำนาญในเขตชนบทเพียงราวเดือนละ 100 หยวนเท่านั้น
ขณะที่ค่าเรียนที่มามาซันเซ็ต คลาสหนึ่งราว 50-60 หยวน แพ็กเกจ 36 คลาสราคา 1,980 หยวน ที่ควอนตาซิง แพ็กเกจ 1-3 เดือน ราคาอยู่ระหว่าง 1,980-3,699 หยวน
ซุย ชุนหยุน พนักงานบัญชีเกษียณวัย 60 ปี เข้าคลาสเต้นรำเพื่อคงความฟิตไว้ดูแลหลานห้าคน และชะลอเวลาเข้าบ้านพักคนชรา
“ฉันอยากจะเคลื่อนไหวได้ แม้แต่คนแก่เกิน 70 ก็ยังเต้นได้ เราอยากขยับตัวเพื่อใช้ชีวิต” ซุยกล่าวกับรอยเตอร์ถึงเป้าหมายการเข้าคลาสสันทนาการในวัยชรา
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 21 มีนาคม 2567