"UN" เผยโลกกำลังเจอ "หายนะ" เข้ายุคร้อนสุด - ก๊าซเรือนกระจกพุ่ง - น้ำแข็งละลาย
"องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก" หรือ WMO เตือนว่าขณะนี้ โลกได้ส่ง "สัญญาณเตือนอันตราย" แก่มวลมนุษยชาติ เกี่ยวกับ "ภาวะโลกร้อน" ที่ใกล้ถึงขีดจำกัดเต็มที พร้อมย้ำเตือนว่าความพยายามของประเทศต่างๆ ที่พยายามจะลดการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” ยังไม่เพียงพอ
“องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก” หรือ WMO หน่วยงานภายใต้สังกัดของสหประชาชาติ ออกรายงานสภาพภูมิอากาศโลกประจำปี 2023 พบว่า ในขณะนี้ โลกได้ส่ง “สัญญาณเตือนอันตราย” แก่มวลมนุษยชาติ เกี่ยวกับ “ภาวะโลกร้อน” ที่ใกล้ถึงขีดจำกัดเต็มที พร้อมย้ำเตือนว่าความพยายามของประเทศต่างๆ ที่พยายามจะลดการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” ยังไม่เพียงพอ
“อากาศร้อน” ที่สุดในประวัติศาสตร์ :
WMO ระบุว่าปี 2566 เป็น “ปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์” แต่มีความเป็นไปได้สูงที่ปี 2567 จะขึ้นแท่นปีที่ร้อนที่สุดแทน พร้อมย้ำว่าที่ผ่านมาเราไม่เคยมีความพยายามที่จะรักษาอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมตามข้อตกลงปารีสปี 2015 ได้เลย
ตามรายงานของ Copernicus Climate Change Service (C3S) หน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป พบว่า ช่วงระยะเวลา 12 เดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 1.56 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยอันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า
“โลกกำลังส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ รายงานสภาพภูมิอากาศโลกแสดงให้เห็นว่า โลกของเราใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดแล้ว มลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังก่อให้เกิดความวุ่นวายทางสภาพอากาศ”
โอมาร์ บาดดอร์ หัวหน้าฝ่ายติดตามสภาพภูมิอากาศของ WMO กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่หลังจากเกิด “ปรากฏการณ์เอลนีโญ” จะทำให้อากาศอุ่นขึ้น ซึ่งส่งผลต่อรูปแบบสภาพอากาศทั่วโลก
“มีความเป็นไปได้สูงที่ปี 2567 จะมีอุณหภูมิสูงขึ้น จนทำลายสถิติปี 2566 ซึ่งเดือนมกราคม ปี 2567 กลายเป็นเดือนมกราคม ที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่เรายังไม่สามารถฟันธงได้ ยังคงต้องรอดูกันต่อไป” บาดดอร์ กล่าว
“สภาพอากาศสุดขั้ว” ทุบสถิติ :
รายงานล่าสุดของ WMO แสดงให้เห็นว่าโลกกำลังเข้าสู่ “หายนะ” ส่งสัญญาณผ่านปรากฏการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นก๊าซเรือนกระจก อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเล ระดับน้ำทะเล และธารน้ำแข็งละลาย โดยมีรายละเอียดดังนี้
1)“ระดับน้ำทะเล” เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ :
ในปี 2023 ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกแตะระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่มีการใช้ดาวเทียมสำรวจในปี 2536 ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 3.34 มิลลิเมตรต่อปี โดยช่วงปี 2536-2545 ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 2.13 มิลลิเมตรต่อปี แต่ตั้งแต่ปี 2557 จนถึง 2023 ระดับน้ำทะเลกลับเพิ่มสูงขึ้นเป็น 4.77 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากมหาสมุทรร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำขยายตัว และการละลายของธารน้ำแข็ง และแผ่นน้ำแข็งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
2)“อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเล” สูงขึ้นทุบสถิติ :
ปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงกลางปี 2566 ส่งผลให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลขึ้นสูงสุดในรอบ 65 ปี และกว่า 90% ของมหาสมุทรทั่วโลกเผชิญกับคลื่นความร้อนอย่างน้อยหนึ่งครั้งในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม ที่มีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 3 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลก (SST) อยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 และยังไม่มีทีท่าจะลดลง ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญของ WMO คาดว่าภาวะโลกร้อนจะดำเนินต่อไปในปี 2567 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถย้อนกลับมาได้อีกแล้ว แม้ว่าจะใช้เวลาหลายร้อยหรือหลายพันปีก็ตาม
3)ธารน้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็ว :
แผ่นน้ำแข็งทั่วโลกละลายอย่างรวดเร็ว โลกสูญเสียธารน้ำแข็งมากที่สุดนับตั้งแต่ยุค 1950 ที่เริ่มมีการจดบันทึก ตอนนี้น้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกที่มีความเข้มข้นของน้ำแข็งอย่างน้อย 15% อยู่ในระดับต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยพื้นที่น้ำแข็งหายไปกว่า 1 ล้านตารางกิโลเมตร เมื่อเทียบกับปี 2565
ขณะที่ ธารน้ำแข็งในเทือกเขาแอลป์ของยุโรปก็ละลายอย่างรุนแรงเช่นกัน รายงานเผยว่า สวิตเซอร์แลนด์สูญเสียธารน้ำแข็งไปแล้ว 10% ในระยะเวลาเพียง 2 ปี
4)ความเข้มข้นของ “ก๊าซเรือนกระจก” สูงสุดในประวัติศาสตร์
อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดจาก “ก๊าซเรือนกระจก” ในชั้นบรรยากาศที่มีความเข้มข้นสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งข้อมูลของ WMO ระบุว่า ก๊าซเรือนกระจกทั้ง 3 ชนิดคือ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2566
ข้อมูลเรียลไทม์ที่ WMO นำมาเปิดเผยในรายงาน พบว่า ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ สูงกว่าในยุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 50% โดยก๊าซเหล่านี้กักความร้อนไว้ในชั้นบรรยากาศ
5)ทั่วโลกพบ “สภาพอากาศสุดขั้ว”
เซเลสต์ เซาโล เลขาธิการของ WMO เรียก “วิกฤติสภาพภูมิอากาศ” ที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญที่มนุษยชาติกำลังเผชิญ เพราะมันได้รวมเข้ากับวิกฤติความไม่เท่าเทียม ทำให้ประชาชนหลายส่วนในโลกกำลังเผชิญหน้ากับ “ความไม่มั่นคงทางอาหาร” และมีการอพยพย้ายถิ่นฐานที่เพิ่มมากขึ้น
ปี 2566 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้เกิด “สภาพอากาศสุดขั้ว” ทั่วโลก ในเดือนกรกฎาคม “คลื่นความร้อน” ได้ถล่มทางตอนใต้ของยุโรป โดยอุณหภูมิในอิตาลีพุ่งสูงถึง 48.2 องศาเซลเซียส
จากนั้นเดือนกันยายน เกิดพายุไซโคลนดาเนียลในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมในกรีซ บัลแกเรีย ตุรกี และลิเบีย โดยลิเบียได้รับผลกระทบหนักจนมีผู้เสียชีวิตหลายพันคน
ในขณะเดียวกันยังเกิดภัยแล้ง ไฟป่า และพายุหมุนเขตร้อนรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนกระทบต่อชีวิต และการดำรงชีวิตในทุกทวีป
หยุดยั้งไม่ให้อุณหภูมิเกิน 1.5 องศาเซลเซียส :
อย่างไรก็ตาม WMO กล่าวว่า ยังพอมีความหวังที่ทั่วโลกจะช่วยกันยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ด้วยการเพิ่มการลงทุนเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยมูลค่า 9 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2573 และเพิ่มเป็น 10 ล้านล้านดอลลาร์ จนถึงปี 2593 ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่าการลงทุนในปัจจุบันมากกว่า 6 เท่า
แม้จำนวนเงินนี้จะสูงมาก แต่ถ้าหากไม่มีการลงทุนปล่อยให้สภาพอากาศย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ จะสร้างมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงปี 2568-2643 อย่างน้อย 1,266 ล้านล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ WMO ยังแนะนำให้ทั่วโลกหันมาใช้พลังงานสะอาดแทนการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลให้มากขึ้น โดยในปี 2566 มีการผลิตพลังงานหมุนเวียนจากลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำเพิ่มขึ้นเกือบ 50% จากปี 2565 เป็นทั้งหมด 510 กิกะวัตต์ ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดที่พบในสองทศวรรษที่ผ่านมา
“เป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ยังคงอยู่ สิ่งที่เราต้องทำอย่างเร่งด่วนคือ ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด พร้อมการเร่งพัฒนา และหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีต้นทุนต่ำที่เรามีอยู่ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนในภาคส่วนการผลิตไฟฟ้า” มัลเทอ ไมน์สเฮาเซน ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ในออสเตรเลีย ระบุ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 27 มีนาคม 2567