พันธบัตรอินเดียเข้า 2 ดัชนีโลก ตัว "เปลี่ยนเกม" ดูดเงินไหล
ยังคงมีข่าวคราวที่เป็นปัจจัยบวกอย่างต่อเนื่องสำหรับ “อินเดีย” ประเทศซึ่งในขณะนี้มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกแซงจีนไปแล้ว พ่วงด้วยสถานะของหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตมากที่สุดในโลก ล่าสุดนี้ประเด็นสำคัญที่กำลังถูกกล่าวถึงก็คือการที่ “พันธบัตรรัฐบาลอินเดีย” ถูกนำเข้าไปรวมในดัชนีพันธบัตรระดับโลกถึง 2 ดัชนี อาจเป็นตัวเปลี่ยนเกมในการขับเคลื่อนตลาดพันธบัตรอินเดีย
ดัชนีแรก คือ ดัชนีพันธบัตรรัฐบาลสำหรับตลาดเกิดใหม่ (GBI-EM) ของเจพีมอร์แกน ซึ่งจะเริ่มมีผลในเดือนมิถุนายน 2024 นับเป็นครั้งแรกที่พันธบัตรรัฐบาลอินเดียถูกนำเข้าไปอยู่ในดัชนีพันธบัตรระดับโลก ต่อมาต้นเดือนมีนาคมปีนี้ (2024) บลูมเบิร์ก อินเด็กซ์ เซอร์วิสเซส ก็ได้ประกาศว่าจะเพิ่มพันธบัตรรัฐบาลอินเดียเข้าไปอยู่ในดัชนี Emerging Market Local Currency Government Index ซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2025
บรรดานักวิเคราะห์เชื่อว่า การได้เข้าไปอยู่ในดัชนีระดับโลกดังกล่าว อาจทำให้อินเดียสามารถดึงดูดเงินจากต่างชาติได้หลายพันล้านดอลลาร์ อันจะช่วยสนับสนุนค่าเงินรูปี
“ดีปัก อกราวัล” หัวหน้าการลงทุนของกองทุนรวม Kotak ชี้ว่า น่าจะสามารถดึงดูดการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างชาติได้ประมาณ 2.5-3 หมื่นล้านดอลลาร์ ในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้า โดยรวมแล้วถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่มาถูกทิศ ส่วนโกลด์แมน แซคส์ คาดว่าจะมีเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตรอินเดียมากถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์
ทางด้าน Invest India ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมการลงทุนแห่งชาติ ได้กล่าวชมเชยเจพีมอร์แกนว่า เป็นหลักไมล์สำคัญที่จะช่วยให้อินเดียบรรลุเป้าหมายในการทำให้ขนาดของเศรษฐกิจมีมูลค่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 และช่วยให้อินเดียสามารถระดมทุนได้มากขึ้นและสร้างฐานนักลงทุนพันธบัตรและหลักทรัพย์ต่าง ๆ ของรัฐบาล ผลที่ตามมาก็คือทำให้รัฐบาลสามารถมีแหล่งทุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น จ้างงานมากขึ้น
ทั้งนี้ ตลาดพันธบัตรอินเดียนับถึงเดือนตุลาคม 2023 มีมูลค่าประมาณ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่ผู้ซื้อเป็นนักลงทุนประเภทสถาบันภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่าการถูกนำเข้าไปอยู่ในดัชนีพันธบัตรระดับโลก จะทำให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนในอินเดียได้ง่ายขึ้นหรือไม่ เพราะอินเดียยังมีมาตรการกีดกันการค้าอยู่หลายชั้น หนึ่งในนั้นคือการจำกัดการนำเข้าสินค้าบางอย่าง ซึ่งประเด็นนี้ เคนเน็ธ อคินเทอ หัวหน้าการลงทุนตราสารหนี้รัฐบาลของบริษัท Abrdn เห็นว่า การได้เข้าไปอยู่ในดัชนีดังกล่าวโดยตัวมันเองไม่ได้ทำให้การลงทุนในอินเดียง่ายขึ้น แต่จะกระตุ้นให้นักลงทุนอยากเข้าไปลงทุนเป็นวงกว้างมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การที่พันธบัตรรัฐบาลอินเดียได้เข้าไปอยู่ในดัชนีโลก ต้องนับว่าเกิดจากการปฏิรูปของรัฐบาลอินเดียเช่นกัน อย่างเช่นประกาศเรื่องการเปิดให้ต่างชาติสามารถเข้าถึงตลาดพันธบัตรของรัฐบาลได้อย่างเต็มที่ ที่เรียกว่า FAR ปูทางให้นักลงทุนซื้อพันธบัตรบางประเภทของรัฐบาลได้แบบไม่จำกัดเพดาน นับว่าช่วยให้ต่างชาติลงทุนได้ง่ายขึ้นได้เช่นกัน
ก่อนหน้านี้ ในเดือนกันยายน ปี 2023 ฟิตช์ เรทติ้ง บริษัทจัดอันความน่าเชื่อถือเคยประเมินว่า หลังจากพันธบัตรอินเดียเข้าไปอยู่ในดัชนีของเจพีมอร์แกน น่าจะทำให้มีเงินไหลเข้าราว 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2024 ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2025 และอาจมากกว่านี้หากมีบริษัทระดับโลกอื่น ๆ ดึงเอาพันธบัตรรัฐบาลอินเดียเข้าไปอยู่ในดัชนี ซึ่งจะช่วยพัฒนาตลาดทุนของอินเดีย
แรงผลักดันที่เกิดจากมุมมองทางบวกต่ออินเดีย ส่งผลให้ตลาดหุ้นอินเดียปรับขึ้นติดต่อกัน 8 ปี และเฉพาะปีนี้ทำสถิติสูงสุดใหม่ไปแล้วหลายครั้ง ขณะที่กองทุนรวมอินเดียมีเงินไหลเข้ารายเดือนอย่างต่อเนื่องจนไปทำสถิติสูงสุดในรอบ 23 เดือน ที่ 3.2 พันล้านดอลลาร์ ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ทางด้านสถาบันวิจัย Hurun ได้เปิดเผยผลการจัดอันดับคนรวยของเมืองต่าง ๆ ประจำปี 2024 พบว่า มุมไบของอินเดีย มีจำนวนมหาเศรษฐีมากกว่าปักกิ่งของจีนเป็นครั้งแรก ด้วยจำนวน 92 คน ขณะที่ปักกิ่งมี 91 คน ทำให้มุมไบมีเศรษฐีมากที่สุดในเอเชีย แต่หากเทียบระดับโลก อยู่อันดับ 3 รองจากนิวยอร์ก (119 คน) และลอนดอน (97 คน)
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 31 มีนาคม 2567