"ช่างยนต์ต่างชาติ"อาชีพทำเงินตลาดแรงงานญี่ปุ่น
ปรากฎการณ์ด้านแรงงานที่เกิดกับสถาบันการศึกษา และโรงเรียนด้านวิชาชีพอย่าง โตโยต้า เทคนิคัล คอลเลจ ตอกย้ำให้เห็นถึงแรงงานต่างชาติที่มีบทบาทมากขึ้นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของญี่ปุ่น
ตอนนี้อุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นเปิดรับแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะตำแหน่งงานเครื่องยนต์ทั้งหลาย และเพราะญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน จากสภาพสังคมสูงวัย และอัตราการเกิดใหม่ต่ำ ทำให้วิทยาลัยเทคนิคที่มีคอร์สสอนเกี่ยวข้องกับการซ่อม และซ่อมบำรุงรถยนต์ของญี่ปุ่นเน้นเปิดรับนักเรียนจากเอเชียเป็นพิเศษ ตั้งแต่เวียดนามไปจนถึงเนปาล
บรรดาโรงเรียนที่ดำเนินงานโดยค่ายรถยนต์ชั้นนำอย่างโตโยต้า,ฮอนด้า และนิสสัน หรือโรงเรียนที่ดำเนินงานโดยอิสระอ้าแขนรับช่างยนต์ต่างชาติที่มีทักษะด้านคอมพิวเตอร์จำนวนมากในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด เพื่อรองรับความต้องการวิชาชีพนี้ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะคนที่สามารถซ่อมรถยนต์ไฮเทค และมีทักษะความชำนาญเรื่องแบตเตอรี
แต่การหันไปพึ่งนักเรียนจากประเทศต่างๆ เช่น เวียดนามและเนปาลก็สร้างความกังวลแก่ผู้คร่ำหวอดและเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมรถยนต์บางคน ที่กังขาว่า อุตสาหกรรมหลักที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรในยุคที่คนญี่ปุ่นหนุ่มสาวมีความสนใจที่จะรวมงานกับอุตสาหกรรมรถยนต์น้อยลงเรื่อยๆ
แรงงานเวียดนามนิยมทำงานในญี่ปุ่น :
“เป็นเรื่องน่าเศร้าที่โลกของยนตรกรรมในเวลานี้เป็นที่ดึงดูดความสนใจของชาวต่างชาติแทนที่จะเป็นชาวญี่ปุ่น”โยชิฮิโร วากาบายาชิ ผู้อำนวยการโตโยต้า เทคนิคัล คอลเลจ ในกรุงโตเกียวกล่าว
ทั้งนี้ ประมาณ 1ใน 4 ของนักเรียนจำนวน 400 คนที่เริ่มลงเรียนคอร์สวิศวกรฝ่ายงานบริการเครื่องจักรในปีนี้เป็นชาวต่างชาติ เพิ่มขึ้นสองเท่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด
“ภาคการก่อสร้างและงานด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการผลิตกำลังเจอปัญหาขาดแคลนแรงงาน ผมกังวลว่า วัฒนธรรมการผลิตของญี่ปุ่นจะสูญสิ้นไป ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ”วากาบายาชิ กล่าว
ปรากฎการณ์ด้านแรงงานที่เกิดกับสถาบันการศึกษา และโรงเรียนด้านวิชาชีพอย่าง โตโยต้า เทคนิคัล คอลเลจ ตอกย้ำให้เห็นถึงแรงงานต่างชาติที่มีบทบาทมากขึ้นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในยุคที่ประชากรญี่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานญี่ปุ่น ระบุว่า แรงงานต่างชาติในญี่ปุ่นในเดือนต.ค.ที่ผ่านมามีจำนวนมากถึง 2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 12% โดย 27%ของจำนวนนี้ทำงานอยู่ในภาคการผลิต โดยแรงงานเวียดนามมีสัดส่วน 1 ใน 4 ของแรงงานต่างชาติโดยรวม ถือเป็นสัดส่วนมากที่สุด ตามมาด้วยแรงงานจากจีน และฟิลิปปินส์
ตั้งแต่ปี 2562 รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนให้มีการจ้างงานแรงงานต่างชาติในธุรกิจซ่อมรถยนต์ด้วยการให้เข้ามาพำนักในประเทศในฐานะแรงงานมีทักษะความชำนาญพิเศษ ส่งผลให้การจ้างงานแรงงานต่างชาติในธุรกิจซ่อมรถยนต์เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นประมาณ 4,800 คน
อุดช่องโหว่ปัญหาการเกิดต่ำ
“วิทยาลัยเทคนิคสำหรับช่างยนต์เป็นที่ต้องการอย่างมากในกลุ่มนักเรียนต่างชาติ นับตั้งแต่ญี่ปุ่นผ่อนคลายกฏระเบียบการเดินทางเข้าประเทศจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด”โยชิเอะ โมโตฮิโร ประธานนิสสัน ออโตโมบิล เทคนิคัล คอลเลจ กล่าว
กระทรวงขนส่งญี่ปุ่น ระบุว่า ก่อนการระบาดใหญ่ของโรคโควิด การลงทะเบียนของนักเรียนต่างชาติที่โรงเรียนสอนซ่อมรถญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 5 เท่าในช่วงปี 2559 และ 2564 เป็น 5,000 คน
โมโตฮิโร กล่าวว่า ปีนี้มีนักเรียนต่างชาติสมัครเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคที่ดำเนินงานโดยนิสสัน 5 แห่งจำนวน 360 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 สามเท่าตัว โดยส่วนใหญ่ลงเรียนเพื่อทำงานต่อ เพราะจะได้เงินเดือนสูง
“เราไม่มีทางเลือกนอกจากยอมรับนักเรียนต่างชาติเพิ่มขึ้น เราจำเป็นต้องรับสมัครพวกเขาอย่างจริงจังเพราะพวกเขาช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานให้แก่เราได้”โมโตฮิโร กล่าว
องค์การบริการนักเรียนของญี่ปุ่น ระบุว่า นักเรียนเวียดนามครองสัดส่วนมากสุดในบรรดานักเรียนต่างชาติที่สมัครเรียนตามโรงเรียนช่างเครื่องรถยนต์ของญี่ปุ่นในปี 2565 รองลงมาคือ นักเรียนชาวเนปาล
ชาวเอเชียใต้แห่“เรียน-ทำงาน”ในอุตฯรถยนต์ :
อายูมิ นากาจิมะ กรรมการผู้จัดการฮอนดา เทคนิคัล คอลเลจ กล่าวว่า ชาวเอเชียใต้สมัครเรียนตามวิทยาลัยเทคนิคมากขึ้นในช่วง 5 ปี ขณะที่ผู้บริโภคในประเทศเหล่านี้เป็นเจ้าของรถยนต์กันมากขึ้นส่งผลให้ความต้องการอาชีพช่างยนต์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
“ที่ผ่านมา นักเรียนต่างชาติส่วนใหญ่ของเรามาจากเวียดนาม บวกกับนักเรียนจากจีนและชาติอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกนิดหน่อย แต่ตอนนี้ นักเรียนของเราส่วนใหญ่มาจากเอเชียใต้อย่างเนปาล,บังกลาเทศ และศรีลังกา ผู้คนในท้องถิ่นสนใจที่จะทำงานที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์มากขึ้น ตลาดเหล่านี้ต้องการคนที่สามารถซ่อมบำรุงรถได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม” นากาจิมะ กล่าว
ลาฮิรุ มาดูชาน วัย 30 ปีนักเรียนชั้นปีที่สองที่โรงเรียนของนิสสันในโยโกฮามา ทางตอนใต้ของกรุงโตเกียว เดินทางจากศรีลังกามาญี่ปุ่นเมื่อ4ปีที่แล้วด้วยความหวังว่าจะมาทำงานเป็นช่างเครื่อง
“ผมเป็นคนรักรถ และ 80%ของรถที่วิ่งในประเทศผมเป็นรถญี่ปุ่น ตอนนี้ผมชื่นชอบรถนิสสันเป็นพิเศษ บริษัทที่พ่อผมทำงานด้วยก็ใช้รถนิสสัน” มาดูชาน กล่าว
มาดูชาน ตั้งความหวังว่าจะทำงานเป็นช่างเครื่องยนต์ที่บริษัทนิสสันหลังเรียนจบ “ผมชอบทำงานที่ญี่ปุ่น ที่นี่คนต่างชาติสามารถทำงานช่างเครื่องยนต์ได้เหมือนชาวญี่ปุ่น”
คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่มองงานช่าง“อันตราย-สกปรก”
ความกระตือรือร้นของนักเรียนต่างชาติอย่างมาดูชาน สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับความสนใจอันน้อยนิดของคนญี่ปุ่นหนุ่มสาวที่มีต่อธุรกิจซ่อมรถยนต์ เจ้าหน้าที่ในอุตสาหกรรม บอกว่า หนุ่มสาวญี่ปุ่นชอบเรียนในมหาวิทยาลัยมากกว่าเรียนวิทยาลัยวิชาชีพที่พวกเขามองว่าเมื่อจบออกมาแล้ว ต้องมาทำงานที่อันตรายและสกปรก
ขณะที่เจ้าหน้าที่บางคนมองเห็นสัญญาณการชื่นชอบรถยนต์ในฐานะสัญลักษณ์ของความเป็นผู้ใหญ่และในฐานะเครื่องแสดงสถานะทางสังคมในหมู่ชาวญี่ปุ่นที่ลดลง
“หนุ่มสาวญี่ปุ่นที่ต้องการทำงานเป็นช่างเครื่องยนต์ลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากอัตราการเกิดใหม่ลดลงบวกกับตัวแปรอื่นๆ”รายงานจากกระทรวงขนส่งญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว ระบุ
กระทรวงแรงงานของญี่ปุ่น ระบุว่าอัตราการเกิดในญี่ปุ่นลดลงเป็นปีที่ 8 ในปี 2566 เหลือประมาณ 758,000 คน ถือเป็นอัตราเกิดใหม่ที่ต่ำสุด นับตั้งแต่เริ่มมีการจดบันทึกในปี 2442
ธุรกิจซ่อมรถปรับรูปแบบรองรับ“อีวี”
ความต้องการช่างเครื่องยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมีขึ้นในช่วงที่รถยนต์ได้รับการพัฒนาให้สามารถเชื่อมต่อกัน ,ฟังก์ชันต่างๆทำงานเป็นอัตโนมัติมากขึ้นและขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า ทำให้ญี่ปุ่นเตรียมปรับปรุงการสอบวัดผลสำหรับช่างเครื่องยนต์ทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป รวมถึง มีคำถามเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า
“ที่ผ่านมา การซ่อมรถจะเกี่ยวข้องกับการซ่อมชิ้นส่วนรถและเปลี่ยนอะไหล่ แต่ตอนนี้ คุณจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์พิเศษอย่างเช่น คอมพิวเตอร์ หรือ เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆที่ไม่ใช้ไฟฟ้าเพื่อซ่อมรถ” นากาจิมะ กล่าว
ส่วนโมโตฮิโรจากนิสสัน กล่าวว่า “นักเรียนจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับรถยนต์ไฟฟ้า และเตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องการเพิ่มชิปและกล้องในรถยนต์สมัยนี้ ”
อาร์ยัล กูนานิธิ วัย 26 ปี ชาวเนปาลที่เพิ่งจบการศึกษาจากวิทยาลัยของฮอนดา และตอนนี้กำลังทำงานที่ฝ่ายขายของฮอนดา เล่าว่าฝันที่จะกลับไปประเทศบ้านเกิดหลังจากทำงานในญี่ปุ่นครบ 5 ปี และสอนผู้คนในท้องถิ่นเกี่ยวกับการซ่อมรถ
“เนปาลไม่มีระบบตรวจสอบรถ และการซ่อมรถส่วนใหญ่ไม่ค่อยถูกต้องเพราะพวกเขาไม่ได้เรียนจากโรงเรียนที่สอนการซ่อมรถโดยตรง ด้วยเหตุนี้ ในเนปาลจึงเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์บ่อยมาก เพราะปัญหาทางเทคนิค เช่น เบรครถไม่ทำงานเมื่อต้องขับรถขึ้นเขา ผมจึงอยากเข้ามาเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้” กูนานิธิ กล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 8 เมษายน 2567