กฎหมาย 4 ฉบับของสหรัฐสะท้อนภูมิรัฐศาสตร์โลก
เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐผ่านร่างกฎหมาย 4 ฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญที่สะท้อนสภาวะภูมิรัฐศาสตร์ของโลกได้ดี ผมจึงจะขอนำเอาสาระสำคัญของร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับมาสรุป ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้มากกว่า
ร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้ จะได้ถูกลงนามโดยประธานาธิบดีไบเดน ให้บังคับใช้เป็นกฎหมายไปแล้วในวันที่บทความนี้ตีพิมพ์ในวันที่ 29 เม.ย.2024
กฎหมาย 3 ฉบับแรกนั้น สืบเนื่องมาจากร่างกฎหมายฉบับเดียวที่ถูกนำส่งลงมาจากวุฒิสภา ที่ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวไปแล้ว ในเดือน ก.พ.2024 แต่ที่ล่าช้าก็เพราะว่า เมื่อมาถึงสภาผู้แทนราษฎร ก็เกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง โดยพรรครีพับลิกัน (ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดน ที่คุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่เสียงปริ่มเพียงเล็กน้อย คือ 218 ต่อ 213)
เดิมทีร่างกฎหมายฉบับเดียวถูกนำไปผูกกับมาตรการควบคุมชายแดนให้รัดกุมยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความเชื่องช้าและไม่ลงตัว ในที่สุดประธานสภาผู้แทนราษฎรคือนาย Mike Johnson จึงตัดสินใจว่า ต้องแบ่งแยกออกเป็น 3 ฉบับ เพื่อให้มีโอกาสผ่านได้ง่ายกว่า การลงคะแนนเสียงเพื่อผ่านแบบเป็นร่างเดียว โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1)ความช่วยเหลือยูเครนและยุโรป มูลค่า 60,840 ล้านดอลลาร์ แบ่งออกได้คร่าวๆ ดังนี้ 23,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อเติมอาวุธและปัจจัยสนับสนุนทางการทหารให้กับยูเครน, 14,000 ล้านดอลลาร์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านข่าวกรองและความมั่นคงให้กับยูเครน, 11,000 ล้านดอลลาร์สำหรับกองทัพสหรัฐที่ประจำการอยู่ที่ยุโรป และอีก 8,000 ล้านดอลลาร์ คือความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและการบริหารประเทศของยูเครน
ร่างกฎหมายฉบับนี้ มีการถกเถียงกันภายในพรรครีพับลิกันกันมากที่สุด เพราะอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ เข้าข้างรัสเซียและไม่ชอบยูเครน และมีฝ่ายที่ต้องการลดบทบาทของสหรัฐในเวทีโลก (มองว่า “ธุระไม่ใช่” สำหรับสหรัฐในบางเรื่อง) และลดภาระทางงบประมาณเพราะขาดดุลงบประมาณมากเกินไปอยู่แล้ว
ดังนั้น ร่างกฎหมายนี้จึงผ่านด้วยเสียงเห็นชอบต่ำที่สุด คือ 311-112 โดยเสียงไม่เห็นด้วย 112 เสียงนั้น เป็นเสียงของพรรครีพับลิกันทั้งหมด และมีเสียง สส.พรรครีพับลิกันเห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้เพียง 101 เสียง
2)ความช่วยเหลืออิสราเอล 26,000 ล้านดอลลาร์ โดยแบ่งเป็น 5,200 ล้านดอลลาร์สำหรับจรวดประเภทต่างๆ (ซึ่งน่าจะเป็นระบบป้องกันทางอากาศที่เรียกว่า Iron Dome ที่สามารถช่วยป้องกันการโจมตีทางอากาศจากอิหร่าน เมื่อวันที่ 13 เม.ย. โดยสกัดจรวดและโดรน 330 ลูก/ลำ ได้ 98%), 3,500 ล้านดอลลาร์สำหรับอาวุธล้ำหน้ารุ่นใหม่ และอีก 5,400 ล้านดอลลาร์สำหรับการเร่งการผลิตอาวุธและเสบียงต่างๆ
ที่สำคัญคือ มีงบช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งประชาชนในฉนวนกาซา (humanitarian aid) 9,200 ล้านดอลลาร์ กฎหมายฉบับนี้ผ่านด้วย 366 ต่อ 58 เสียงโดย สส.เดโมแครตมากถึง 37 คนลงคะแนนเสียงไม่เห็นด้วย
3)ความช่วยเหลืออินโดแปซิฟิก 8,200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นงบประมาณคานประเทศจีน ประกอบด้วยเงิน 2,000 ล้านดอลลาร์ คือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ไต้หวันซื้ออาวุธจากสหรัฐ อีก 1,900 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนการเติมอาวุธ และสนับสนุนการให้บริการด้านความมั่นคงให้กับไต้หวัน
และที่สำคัญคือ อีก 3,300 ล้านดอลลาร์เพื่อเพิ่มการผลิตและศักยภาพเรือดำน้ำโจมตี (เพื่อใช้หากจีนจะยกคนขึ้นบกเพื่อยึดครองไต้หวันทางการทหาร) ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับเสียงสนับสนุนสูงสุดคือ 385 ต่อ 34 ซึ่งสะท้อนว่า สหรัฐกลัวจีนมากที่สุด
สำหรับร่างกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง คือร่างกฎหมายที่กำหนดให้บริษัทจีน คือ ByteDance ซึ่งเป็นเจ้าของ TikTok ต้องขายกิจการดังกล่าวให้กับนิติบุคคลสหรัฐภายใน 9 เดือน และอาจต่อไปได้อีก 3 เดือน หากอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อ-ขาย หากไม่ยอมขาย Tik Tok ก็จะต้องยุติการให้บริการในสหรัฐ
นอกจากนั้นยังมีการให้อำนาจยึดทรัพย์สินของรัสเซีย ที่ถูกสหรัฐ “แช่แข็ง” เอาไว้ไปให้ยูเครนใช้ในการฟื้นฟูประเทศ และยังเพิ่มอำนาจในการคว่ำบาตรอิหร่าน รัสเซียและจีนอีกด้วย กฎหมายฉบับนี้ผ่านด้วยเสียง 360 ต่อ 58
จะเห็นได้ว่า ภาวะภูมิรัฐศาสตร์ของโลกนั้น ค่อนข้างน่าเป็นห่วงอย่างมาก เห็นได้จากสาระของ 4 ร่างกฎหมายดังกล่าว และในอนาคตก็ยังจะมีปัญหาและความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นมาได้อีกด้วย
ในสหรัฐนั้น ฝ่ายขวาที่สนับสนุนทรัมป์ ไม่พอใจนาย Johnson อย่างมาก และอาจใช้อำนาจพิเศษที่เรียกว่า “motion to vacate” คือสามารถใช้เพียงเสียงเดียว เพื่อเสนอญัตติให้ใช้เสียงข้างมากขับประธานสภาออกจากตำแหน่ง กล่าวคือ ส.ส.รีพับลิกันทั้ง 218 คน น่าจะเกรงใจทรัมป์ที่ไม่ชอบยูเครน เพราะ สส.ทุกคนจะต้องลงแข่งเลือกตั้งทั่วไปตอนปลายปีนี้ และส่วนใหญ่ต้องการแรงสนับสนุนจากทรัมป์
การที่สหรัฐน่าจะพยายามคว่ำบาตรอิหร่านและประเทศรัสเซีย จีน และเกาหลีเหนือ อย่างเข้มข้นมากขึ้นนั้น จะทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีกในอนาคตอันใกล้นี้ และย่อมเป็นความเสี่ยงสำหรับประเทศอื่นๆ ที่ค้าขายในตลาดโลก ที่ส่วนใหญ่ใช้เงิน “ดอลลาร์สหรัฐ” เห็นได้จากการที่เร็วๆ นี้ บริษัทของไทยถูกสหรัฐปรับเงิน 20 ล้านดอลลาร์ เพราะไปทำการค้าขายร่วมกับบริษัทของอิหร่าน
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปัญหาในประเทศเมียนมาที่เป็นปัญหากระทบชายแดนไทยนั้น ไม่ได้อยู่ในสายตาของโลกมากนักในขณะนี้ครับ
ที่กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 29 เมษายน 2567