เปิดคำให้การ แอสตร้าเซนเนก้า รับวัคซีนส่งผลข้างเคียง ปูทางจ่ายชดเชยหลายล้านปอนด์
เผยแอสตร้าเซนเนก้ายื่นศาล ยอมรับครั้งแรก วัคซีนโควิดส่งผลข้างเคียง
เทเลกราฟ สื่ออังกฤษรายงานว่า แอสตร้าเซนเนก้าได้ยอมรับเป็นครั้งแรกในเอกสารที่บริษัทได้ยื่นต่อศาล ที่ระบุว่าวัคซีนโควิดอาจส่งผลทำให้เกิดผลกระทบข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ยาก
บริษัทยายักษ์ใหญ่ ถูกยื่นฟ้องโดยมีการกล่าวอ้างว่า วัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า ซึ่งพัฒนาขึ้นร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บสาหัสหลายสิบกรณี
ทนายความของแอสตร้าเซเนก้าแย้งว่า ผลข้างเคียงของวัคซีน ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรง เกิดขึ้นกับครอบครัวจำนวนไม่มากนัก
อย่างไรก็ดี นี่เป็นครั้งแรกที่แอสตร้าเซเนก้ายอมรับว่า วัคซีนโควิดของบริษัทสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้ยาก ซึ่งอาจปูทางไปสู่การจ่ายเงินชดเชยทางกฎหมายหลายล้านปอนด์
กรณีแรกที่มีการยื่นฟ้องเมื่อปีที่ผ่านมาโดยเจมี สก็อต คุณพ่อลูกสอง หลังจากได้รับวัคซีนโควิดทำให้เขามีอาการบาดเจ็บทางสมอง เพราะเกิดลิ่มเลือดและมีเลือดออกในสมอง
แอสตร้าเซเนก้าได้ยอมรับในเอกสารทางกฎหมายที่ยื่นต่อศาลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า วัคซีนโควิดของบริษัทสามารถทำให้เกิด Thrombosis with Thrombocytopenia Syndrome หรือ TTS ซึ่งทำให้คนเกิดลิ่มเลือดและมีเกล็ดเลือดต่ำ
อย่างไรก็ดี แอสตร้าเซเนก้ายืนยันว่า แม้วัคซีนของบริษัทอาจทำให้เกิด TTS ได้ในบางกรณีซึ่งไม่บ่อยนัก แต่ไม่ทราบว่าอะไรเป็นสาเหตุ และ TTS ยังสามารถเกิดขึ้นได้ แม้จะไม่มีวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า โดยสาเหตุของการเกิดอาการดังกล่าว ต้องมีการพิจารณาหลักฐานจากผู้เชี่ยวชาญ
ทนายความของแอสตร้าเซเนก้าแย้งข้อกล่าวหาที่ว่า วัคซีนของบริษัทนั้นมีข้อบกพร่อง และการพูดถึงประสิทธิภาพของวัคซีนก็เกินจริงอย่างมาก ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่บริษัทปฏิเสธอย่างหนักแน่น
นักวิทยาศาสตร์ระบุมีความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนโควิดกับโรคใหม่ที่เรียกว่า ภาวะเกล็ดเลือดต่ำและภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (VITT) ที่เกิดจากวัคซีน ซึ่งพบตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 เพียงไม่นานหลังจากเริ่มเปิดตัววัคซีนโควิด-19
ทนายความของผู้โจทก์โต้แย้งว่า VITT เป็นส่วนหนึ่งของ TTS แม้ว่าแอสตร้าเซเนก้าจะบอกว่าไม่รู้จักคำดังกล่าวก็ตาม
แอสตร้าเซเนก้าออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก หรือมีรายงานปัญหาสุขภาพ ความปลอดภัยของผู้ป่วยถือเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญสูงสุด ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลก็มีมาตรฐานที่ชัดเจนและเข้มงวด เพื่อให้แน่ใจว่าการใช้ยาทั้งหมดมีความปลอดภัย ซึ่งรวมถึงวัคซีนด้วยเช่นกัน
แอสตร้าเซเนก้าระบุด้วยว่า จากหลักฐานในการทดลองทางคลินิกและข้อมูลในโลกแห่งความเป็นจริง วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า-อ็อกซ์ฟอร์ด แสดงให้เห็นอย่างต่อเนื่องว่ามีประวัติด้านความปลอดภัยที่ยอมรับได้ และหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกระบุอย่างสม่ำเสมอว่าประโยชน์ของการฉีดวัคซีนมีมากกว่าความเสี่ยงจากผลกระทบข้างเคียงที่หายากอย่างยิ่ง
ผลการศึกษาอิสระ แสดงให้เห็นว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนคามีประสิทธิภาพอย่างเหลือเชื่อ ในการรับมือกับโรคระบาด และช่วยชีวิตผู้คนไปได้กว่า 6 แสนคนทั่วโลกในปีแรกของการเปิดตัว
ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า วัคซีนนี้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับบุคคลอายุ 18 ปีขึ้นไป และผลข้างเคียงที่กระตุ้นให้เกิดการดำเนินคดีทางกฎหมายนั้นหาได้ยากมาก
วัคซีนดังกล่าวซึ่งได้รับการยกย่องเมื่อมีการเปิดตัววัคซีนว่าเป็น “ชัยชนะของวิทยาศาสตร์อังกฤษ” โดยบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้น ไม่ได้ถูกใช้ในสหราชอาณาจักรอีกต่อไป
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 1 พฤษภาคม 2567