"จีน" รองแชมป์ยูนิคอร์นมากสุดในโลก สตาร์ทอัพ AI ผุดหลังตลาดหุ้นและ IPO ซบเซา
"จีน" มียูนิคอร์น 369 ตัว มีมูลค่าเฉลี่ย 3.8 พันล้านดอลลาร์ แต่ยังเป็นรองสหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นบริษัท AI และเซมิคอนดักเตอร์มากสุด ตามด้วยเทคโนโลยีการเงิน โดยมีการตั้งบริษัทสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้นหลังตลาดหุ้นและการ IPO ในจีนซบเซา
“จีน” ครองแชมป์เป็นประเทศที่มีบริษัท "ยูนิคอร์น" 369 แห่ง ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ (start-up) ที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ โดยรายงานใหม่เผยว่า มากกว่าหนึ่งในสี่ของบริษัทเหล่านี้ ดำเนินธุรกิจในด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ
บริษัท "ยูนิคอร์น" เหล่านี้ของจีนมีมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.8 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานที่เผยแพร่โดยสถาบันห้าแห่ง ซึ่งรวมถึงบริษัท KPMG, สวนวิทยาศาสตร์จงกวนชุนนครหนานหนิงและสถาบันที่ปรึกษา Great Wall Enterprise Institute รายงานนี้ถูกนำเสนอในงาน Zhongguancun (ZGC) Forum ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา 5 วัน ที่กรุงปักกิ่ง
AI และเซมิคอนดักเตอร์ :
ในรายงานระบุว่า ใน 16 กลุ่มอุตสาหกรรม ยูนิคอร์นด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีมูลค่าสูงที่สุด โดยมีมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6.76 พันล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยบริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน ที่ 6.57 พันล้านดอลลาร์
หากคิดเป็นสัดส่วนของจำนวนยูนิคอร์นทั้งหมด 369 แห่ง โดยอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์และเซมิคอนดักเตอร์ มีสัดส่วนอยู่ที่ 14.1% และ 12.2% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม รายงานนี้ไม่ได้เปรียบเทียบบริษัท “ยูนิคอร์น” ในจีนกับบริษัทในสหรัฐอเมริกา ทำให้จีนยังคงตามหลังสหรัฐอเมริกาในแง่ของจำนวนยูนิคอร์นทั้งหมด
โดยอ้างอิงจากดัชนี Global Unicorn Index 2024 ที่เผยแพร่โดย Hurun Research Institute เมื่อต้นเดือนเมษายน 2567 พบว่าในปีที่ผ่านมามีบริษัท “ยูนิคอร์น” มากกว่า 700 แห่งตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา ขณะที่จีนมีมากกว่า 340 แห่ง จากทั้งหมด 1,453 แห่งทั่วโลก
รายงาน ZGC ยังกล่าวอีกว่า กรุงปักกิ่งเป็นเมืองที่มีการสร้างบริษัท “ยูนิคอร์น” มากที่สุด โดยมีจำนวน 114 แห่ง ตามมาด้วยเซี่ยงไฮ้ 63 แห่ง และเซินเจิ้น ศูนย์กลางเทคโนโลยีทางใต้ของมณฑลกวางตุ้ง 32 แห่ง
ตลาดหุ้น และการ IPO ในจีน'ซบเซา' :
การเติบโตของจำนวนบริษัท “ยูนิคอร์น” ในจีน สะท้อนถึงภาวะซึมเศร้าของการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไป (Initial Public Offerings: IPOs) ในฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น ซึ่งมีบริษัทจำนวนมากขึ้นที่เลื่อนแผนการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์
อย่างเช่น Alibaba Group Holding, บริษัทแม่ของหนังสือพิมพ์ South China Morning Post เมื่อเดือนที่แล้ว ได้ยกเลิกการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไป (IPO) ของ Cainiao Smart Logistics Network หลังจากยกเลิกการแยกธุรกิจระบบคลาวด์คอมพิวเตอร์ออกไป และระงับแผน IPO ของ Freshippo ซึ่งเป็นเครือข่ายซุปเปอร์มาร์เก็ตของบริษัทเมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้ว
ในรายงาน ZGC ยังระบุว่า บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของจีน อาทิ Tencent Holdings ซึ่งเป็นผู้นำด้านวิดีโอเกมและโซเชียลมีเดีย, Alibaba ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซ และ Baidu ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้นหาบนอินเตอร์เน็ตและปัญญาประดิษฐ์ ได้มีการสร้างบริษัท “ยูนิคอร์น” ขึ้นมาแล้ว 25 แห่ง
ยูนิคอร์นจีนเนื้อหอม ต่างชาติแห่ระดมทุน :
รายงานระบุเพิ่มเติมว่า กว่า 70% ของบริษัท “ยูนิคอร์น” จีนทั้ง 369 แห่ง ได้รับเงินลงทุนจากกองทุนต่างประเทศ
แหล่งเงินทุนสนับสนุนหลักของบริษัท “ยูนิคอร์น” จีน มาจากบริษัทด้านการลงทุนในธุรกิจเสี่ยง (venture capital) ที่มีชื่อเสียง โดยรายงานระบุว่า HongShan (เดิมชื่อ Sequoia Capital China) ลงทุนในบริษัท “ยูนิคอร์น” จีนถึง 96 แห่งจาก 369 แห่ง ขณะที่ Citic Capital เข้าร่วมลงทุนใน 74 แห่ง และ Tencent ลงทุนใน 56 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการระดมทุนในอนาคตของบริษัทสตาร์ทอัพจีน
เมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งบริหารที่จำกัดการลงทุนของอเมริกาในเทคโนโลยีที่ละเอียดอ่อนของจีน รวมถึงเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) นอกจากนี้ คณะกรรมการสภาคองเกรสสหรัฐฯ ยังได้ดำเนินการสืบสวนบริษัทด้านการลงทุนในธุรกิจเสี่ยง (venture capital) สี่แห่งของอเมริกา เกี่ยวกับการลงทุนของพวกเขาในสองภาคส่วนนี้ในจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 1 พฤษภาคม 2567