ลาแล้วจีน! เศรษฐีนับหมื่นแห่ "ย้ายประเทศ" หนีปัญหาในบ้าน ซบดินแดนใหม่ใน "สหรัฐ"
ผลสำรวจพบเศรษฐีจีน 13,800 คน ขนทรัพย์สินแห่ย้ายประเทศในปีที่แล้ว พบเข้า "สหรัฐ-แคนาดา-สิงคโปร์" มากสุด คาดสิ้นปีนี้ทุบสถิติใหม่ 15,200 คน หลังสัมพันธ์ "จีน-สหรัฐ" ตึงเครียด ซ้ำเติมเศรษฐกิจเปราะบาง
สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียเผยรายงานล่าสุดจากบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน Henley & Partners ระบุว่า เศรษฐีจีนระดับ HNWI (High-Net-Worth Individuals) หรือผู้ที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 1 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป ได้อพยพออกนอกประเทศมากที่สุดเมื่อปีที่แล้ว และคาดว่าจะทำสถิติการอพยพสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งที่ 15,200 คนภายในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนอีกครั้ง
เมื่อปีที่แล้วมีเศรษฐีจีนจำนวน 13,800 คน เดินทางออกนอกประเทศ ส่วนใหญ่ไปยังสหรัฐ แคนาดา และสิงคโปร์ แต่รายงานนี้ไม่ได้ระบุจำนวนผู้ย้ายถิ่นฐานไปยังสหรัฐที่แน่ชัด รวมถึงเหตุผลของการย้ายถิ่นฐานด้วย
ซ้ำเติมเศรษฐกิจ 'จีน’ เปราะบาง :
รายงานระบุว่าความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจจีนและความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้เศรษฐีจีนจำนวนมากตัดสินใจออกจากประเทศ และอพยพเข้าสู่ "สหรัฐ” ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของจีน ได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับเศรษฐีเหล่านี้
Henley & Partners เผยว่ายากที่จะทราบมูลค่าของทรัพย์สินทั้งหมดที่เศรษฐีเหล่านำออกไป แต่จากประสบการณ์ของบริษัท New World Wealth ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยข้อมูลเศรษฐีระดับโลกที่ร่วมกันจัดทำรายงานนี้ระบุว่า เศรษฐีระดับ HNWI ที่มักจะย้ายถิ่นฐานส่วนใหญ่จะมีสินทรัพย์อยู่ระหว่าง 30 ล้านดอลลาร์ ถึง 1 พันล้านดอลลาร์
การที่เศรษฐีจีนจำนวนมากย้ายออกนอกประเทศอาจถือเป็นการ "ซ้ำเติม” เศรษฐกิจจีนที่เปราะบางอยู่แล้วจากปัญหาวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อ และผลกระทบต่อบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่หลายแห่ง ซึ่งส่งผลต่อความมั่งคั่งของประเทศอย่างหนัก รวมถึงก่อภาระหนี้สินให้กับรัฐบาลท้องถิ่นด้วย
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เคยระบุเมื่อต้นปี 2567 ว่า จีนเผชิญกับ "ความไม่แน่นอนสูง" เนื่องจากความวุ่นวายในตลาดอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งฟิทช์ เรทติ้งส์ ก็ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรจีนเป็นแนวโน้มเชิงลบในเดือนเมษายน ซึ่งก่อนหน้านี้ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ก็ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือในลักษณะเดียวกันเมื่อเดือนธันวาคม 2566
ก่อนหน้านี้ “สิงคโปร์” เคยเป็นประเทศที่ดึงดูดเศรษฐีจีนจำนวนมาก ด้วยความใกล้เคียงกับจีน ทั้งความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม และการใช้ภาษาจีนกลาง แต่ตอนนี้รัฐบาลสิงคโปร์ได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินทุนจากจีน ล่าสุดสิงคโปร์เพิ่งปฏิเสธการอนุญาตให้ชาวจีนสองคนตั้ง "สำนักงานครอบครัว” หรือ Family Office ที่ดูแลเรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สิน ภายหลังจากเกิดคดีฟอกเงินครั้งใหญ่ขึ้นในสิงคโปร์
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดใจที่สุดสำหรับเศรษฐีทั่วโลก เนื่องจากการไม่มีภาษีเงินได้ส่วนบุคคลและมีนโยบาย “วีซ่าทองคำ”สำหรับนักลงทุน อีกทั้งรายงานยังสังเกตเห็นว่ามีชาวจีนกลุ่มใหญ่ทั้งในกลุ่มคนรวยไปจนถึงชนชั้นกลางที่ต้องการย้ายประเทศไปญี่ปุ่น
แอนดรูว์ อามิลส์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ New World Wealth กล่าวว่า วิถีชีวิตในญี่ปุ่นน่าดึงดูดใจมาก มีสวนสาธารณะที่สวยงามและสนามกอล์ฟ นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังติดอันดับประเทศที่ปลอดภัยที่สุดในโลกอีกด้วยตามดัชนีสันติภาพโลก
‘เศรษฐี’ดัชนีชี้วัดความผันผวนของเศรษฐกิจโลก :
โดมินิค โวเล็ค จาก Henley & Partners กล่าวว่า คาดว่าจะมีเศรษฐีจำนวน 128,000 คน ย้ายถิ่นฐานไปทั่วโลกในปี 2567 ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดของการย้ายถิ่นฐานของความมั่งคั่ง
"สหราชอาณาจักร” มีคนรวยย้ายออกจากประเทศมากเป็นอันดับ 2 รองจากจีนอยู่ที่ 9,500 คน และ “ฮ่องกง”ก็มีเศรษฐีระดับ HNWI ย้ายออกจากประเทศ ราว 500 คนเมื่อปีที่แล้ว ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับเสรีภาพ และคาดการณ์ว่าเกาหลีใต้จะมีการย้ายถิ่นฐานสุทธิออก 1,200 คน ขณะที่ไต้หวัน คาดว่าจะมีการย้ายออก 400 คน
โวเลค ระบุว่า เหล่าคนมีเงินกำลังอพยพออกจากประเทศบ้านเกิดมากเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และความวุ่นวายทางสังคม
“การอพยพครั้งยิ่งใหญ่นี้ เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของภูมิทัศน์โลก เศรษฐกิจ และอำนาจ ส่งผลกระทบต่อประเทศที่บุคคลเหล่านี้ย้ายออกมา รวมไปถึงประเทศที่กลายเป็นบ้านหลังใหม่”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 19 มิถุนายน 2567