"จีน" จ่อตั้งกองทุนอุ้มภาค "การเงิน" หวั่นวิกฤติอสังหาฯ ฉุดสถาบันการเงินล้ม
"จีน" ร่างกฎหมายตั้งกองทุนแสนล้าน อุ้มสถาบันการเงินล้มละลาย กังวลวิกฤติอสังหาฯ ลามระบบเศรษฐกิจกระทบภาค "การเงิน" สั่นคลอน คาดอนุมัติภายในสิ้นปีนี้
สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานว่า จีนเตรียมตั้งกองทุนช่วยเหลือ บริษัทการเงินที่กำลังประสบปัญหา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินที่เกิดจากภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ทรุดตัว
กองทุนนี้ต่างจากกองทุนอื่น ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้สถาบันการเงินล้มละลายอย่างรวดเร็ว เพราะหากสถาบันการเงินรายใดล้มละลายจะยิ่งทำให้ตลาดการเงินโดยรวม “สั่นคลอน” และอาจกลายเป็นโดมิโนเอฟเฟกต์ที่ทำให้สถาบันการเงินอื่น ๆ และบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในภาคการเงินล้มละลายตามไปด้วย
รายงานระบุว่า จีนกำลังเตรียมเสนอร่างกฎหมายกำหนดวิธีการจัดเก็บและเบิกจ่ายเงินจากกองทุนความเสี่ยงทางการเงินใหม่ โดยจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการถาวรประจำสภาประชาชนจีน พิจารณาในวันอังคารนี้ (25 มิ.ย.) และคาดว่าร่างกฎหมายนี้จะได้รับการอนุมัติภายในสิ้นปีนี้
สำหรับกองทุนนี้จะระดมเงินทุนจากบริษัทในอุตสาหกรรมการเงินเป็นหลัก รวมถึงธนาคารและบริษัทที่ให้บริการชำระเงิน ซึ่งแหล่งข่าวรายหนึ่งในรัฐบาลระบุว่า คาดว่ากองทุนนี้จะมีเงินทุนในหลักแสนล้านหยวน หรือมากกว่า 5 แสนล้านบาทขึ้นไป
ในกรณีฉุกเฉินธนาคารกลางจีน (PBOC) จะสามารถเพิ่มทุนให้กับกองทุนได้ด้วยการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยจีนมีกองทุนประกันเงินฝากอยู่แล้วเพื่อคุ้มครองเงินฝากของประชาชน ซึ่งมีเงินคงเหลือ 8.1 หมื่นล้านหยวน (4 แสนล้านบาท) ณ สิ้นปีที่แล้ว
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบการอัดฉีดเงินทุนเพื่อบรรเทาความเสี่ยงด้านการเงิน โดยนำเงินที่ได้จากการขายพันธบัตรมาเป็นเงินทุนให้กับธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งเดิมทีตั้งใจจะนำไปใช้สำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานและวัตถุประสงค์อื่น ๆ ตามที่สื่อจีนรายงาน มีการนำเงินไปใช้ในลักษณะนี้ประมาณ 220,000 ล้านหยวน หรือราว 1.1 ล้านล้านบาท ในปี 2566
อย่างไรก็ตาม ภาวะตลาดอสังหาฯที่ทรุดตัวทำให้รายได้ของรัฐบาลท้องถิ่นลดลงตาม หากออกพันธบัตรเพื่อช่วยเหลือธนาคาร ยิ่งจะทำให้สถานการณ์ทางการเงินย่ำแย่ลงไปอีก ดังนั้นการให้สถาบันการเงินร่วมกันสร้างกองทุนใหม่นี้สะท้อนว่ารัฐบาลกลางต้องการเสริมสร้างระบบรองรับความปลอดภัยทางการเงิน ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดภาระทางการคลังของรัฐบาลด้วย
สินเชื่อด้อยคุณภาพธนาคารจีนพุ่ง :
รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กำลังมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านการเงินจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อาจลามสู่อุตสาหกรรมการเงิน เนื่องจากปัญหาความเชื่อมั่นที่ทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่หลายแห่ง เช่น China Evergrande Group และ Country Garden Holdings ที่ผิดนัดชำระหนี้
เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2566 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้จัดการประชุมด้านเศรษฐกิจส่วนกลาง( Central Financial Work Conference) ซึ่งกำหนดทิศทางการกำกับดูแลทางการเงินของประเทศ ซึ่งที่ประชุมได้ประกาศเปิดตัวกฎระเบียบ Macroprudential เพื่อตรวจสอบความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินเพื่อให้มั่นใจว่าระบบการเงินมีเสถียรภาพ ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ารัฐบาลกำลังเฝ้าระวังการจัดหาเงินทุนด้านอสังหาริมทรัพย์
อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ของธนาคารพาณิชย์ในจีนพุ่งสูงขึ้นอย่างน่ากังวลสะท้อนให้เห็นถึงภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัว ข้อมูลจากนายชินอิจิ เซกิ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยญี่ปุ่นชี้ว่า อัตราส่วน NPL ของธนาคารพาณิชย์จีน ณ สิ้นปี 2566 เพิ่มขึ้นประมาณ 3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าอยู่ที่ 7.3%
ตัวเลขนี้สูงกว่าตัวเลขอย่างเป็นทางการที่ทางการจีนรายงานไว้ที่ 1.6% อย่างมีนัยสำคัญ หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงกว่าที่ทางการรายงานไว้มาก เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มประเมินมูลค่าสินทรัพย์ของตนอย่าง “ต่ำเกินจริง”
จากข้อมูลการวิจัยพบว่า อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพที่อาจเกิดขึ้นสำหรับสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์จีนปล่อยให้กับภาคอสังหาริมทรัพย์นั้นสูงถึง 19.4% ซึ่ง เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า นับตั้งแต่ปลายปี 2562 โดยสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วยสินเชื่อที่ปล่อยให้กับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อที่อยู่อาศัยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 20% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมดของธนาคารพาณิชย์จีน
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์จีน โดยในปี 2566 ธนาคารเหล่านี้ได้ตัดจำหน่ายหนี้สูญเป็นเงินรวม 3 ล้านล้านหยวน ซึ่งถือเป็นการตัดจำหน่ายหนี้สูญเกิน 3 ล้านล้านหยวน เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 24 มิถุนายน 2567