จับตา TradeTech ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าทั่วโลก
สนค. เผย TradeTech เป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และจะช่วยผลักดันการค้าในยุคดิจิทัล ทุกภาคส่วนควรร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ปรับปรุงกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ และสร้างการเชื่อมต่อระหว่างแพลตฟอร์ม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจการค้าทั่วโลก
วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล มีความสำคัญต่อกระบวนการทางการค้า และเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าโลกในปัจจุบัน โดยเทคโนโลยีเหล่านี้ถูกเรียกว่า TradeTech หรือ Technologies for trade หมายถึง เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยให้กระบวนการทางการค้ามีประสิทธิภาพ ครอบคลุม เท่าเทียม และยั่งยืนมากขึ้น
อาทิ การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Inteilligence : AI) ในการออกแบบโลจิสติกส์ในท่าเรือ ให้มีต้นทุนและระยะเวลาน้อยที่สุด และลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้ Internet of Thing สำหรับจัดการคลังสินค้า และแจ้งเตือนการบำรุงรักษาเครื่องจักร และการประยุกต์ใช้ Blockchain สำหรับการรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary certificates) เพื่อลดระยะเวลาดำเนินการ และป้องกันการปลอมแปลงเอกสาร เป็นต้น
ข้อมูล ระบุว่า TradeTech ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งในการอำนวยความสะดวกทางการค้า การสร้างความโปร่งใส ตลอดจนการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับห่วงโซ่อุปทาน อาทิ การจัดทำใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading : B/L) ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มกำไร โดยบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจ McKinsey & Company ประเมินว่า หากมีการนำอิเล็กทรอนิกส์ B/L มาใช้ จะช่วยให้ต้นทุนของภาคเอกชนลดลงถึง 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
พร้อมทั้งทำให้การจัดการเอกสารมีความรวดเร็วขึ้นและเกิดข้อผิดพลาดน้อยลง ซึ่งทำให้ภาคเอกชนทั่วโลกมีกำไรเพิ่มขึ้นถึง 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำรวจความเห็นเอกชน :
นอกจากนี้ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) ได้สำรวจความคิดเห็นภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจการค้าระหว่างประเทศกว่า 335 องค์กร ในหลายธุรกิจ พบว่า
(1) TradeTech ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกทางการค้าและปรับปรุงห่วงโซ่อุปทาน จึงทำให้ต้นทุนการค้าลดลงและทำให้การค้าสะดวกรวดเร็วเพิ่มขึ้น
(2) ก่อให้เกิดสินค้าและบริการดิจิทัลใหม่ ๆ
(3) สร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายเล็กมากขึ้น
(4) ทำให้การเชื่อมต่อด้านโลจิสติกส์มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมด้วย อย่างไรก็ดี การนำ TradeTech มาใช้ยังคงเผชิญกับความท้าทายอยู่มาก โดยเฉพาะต้นทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีและการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล กฎระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศที่เข้มงวดและกีดกันการเชื่อมต่อของเทคโนโลยี และการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ
WEF ทำข้อเสนอภาครัฐ :
หลายภาคส่วนทั่วโลกจึงร่วมกันแก้ไขปัญหาและจัดการอุปสรรคที่กีดกันการพัฒนา TradeTech โดยองค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ร่วมกับ WEF จัดทำข้อเสนอแนะสำหรับหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนาระบบนิเวศทางการค้า เพื่อรองรับการเติบโตของ TradeTech ได้แก่
(1) ควรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างประเทศ เพื่อให้การส่งต่อและเข้าถึงข้อมูลมีความต่อเนื่อง เชื่อถือได้ ราคาไม่แพง และรวดเร็ว ควบคู่กับการกำหนดกฎเกณฑ์สากลสำหรับปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล
(2) ควรจัดทำมาตรการกำกับธุรกรรมและเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) และการแปลงสินทรัพย์ให้อยู่ในรูปดิจิทัล (Tokenization) ซึ่งช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาการดำเนินการทางการค้าได้
(3) ควรพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital Identities) ของบุคคล นิติบุคคล และสินค้า ให้สามารถส่งต่อข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการค้าได้ทันที รวมถึงกำหนดประเภทข้อมูลที่ต้องปรับปรุงสถานะให้เป็นปัจจุบัน
(4) ควรเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มและระบบที่เกี่ยวข้องกับการค้า ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ
(5) ควรปรับปรุงความตกลงและกฎระเบียบทางการค้า ที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสของภาครัฐ
นอกจากนี้ WEF และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ริเริ่มโครงการ TradeTech initiative ซึ่งประกอบด้วย การประชุม TradeTech Forum การจัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับสถานการณ์และแนวโน้มของ TradeTech การก่อตั้ง Regulatory Sandbox เพื่อให้บริษัทและ Start-ups ทดลองนวัตกรรม TradeTech และการก่อตั้งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจสำหรับ Start-ups ที่พัฒนา TradeTech
ไทยตั้ง Thailand Digital Valley :
สำหรับประเทศไทย มีการดำเนินการพัฒนาระบบนิเวศทางการค้าให้สามารถรองรับ TradeTech ในหลายด้าน อาทิ การปรับปรุงกฎหมายและจัดทำมาตรการกำกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ การก่อตั้ง Thailand Digital Valley เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับทุกภาคส่วน และเป็นศูนย์บ่มเพาะ Startups และการพัฒนา Port Community System สำหรับการติดตามสถานะและบริหารจัดการท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น
นายพูนพงษ์กล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ TradeTech จะมีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก ภาครัฐจำเป็นต้องร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศทางการค้า และปรับปรุงกฎระเบียบทางการค้า ให้เอื้อต่อการประยุกต์ใช้ TradeTech และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
ในขณะที่ภาคเอกชนควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับ TradeTech ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา และพัฒนาทักษะแรงงาน ให้สามารถรองรับกระบวนการทางการค้าในอนาคต เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 1 กรกฏามคม 2567