มูดี้ส์เตือนวิกฤตน้ำ เป็นปัจจัยเสี่ยงศก.อินเดีย จ่อกระทบความน่าเชื่อถือ
มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ระบุว่า ปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงในประเทศอินเดีย อาจจะส่งผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ พร้อมเตือนว่า วิกฤตการณ์น้ำอาจจะนำไปสู่เหตุการณ์จลาจล หากภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงัก
มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ระบุในรายงานล่าสุดเมื่อวันอังคาร (25 มิ.ย.) ว่า การผลักดันอินเดียให้เป็นประเทอุตสาหกรรมและการขยายตัวของสังคมเมืองที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการขยายศตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมากนั้น ได้ส่งผลให้อินเดียเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ สภาพอากาศแบบสุดขั้ว ซึ่งรวมถึงคลื่นความร้อนและความแห้งแล้งยังส่งผลให้สถานการณ์เลวร้ายลง และทำให้อินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกอยู่ในจุดที่เป็นอันตราย โดยมูดี้ส์เตือนว่า ปัญหาขาดแคลนน้ำอาจจะส่งผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของอินเดีย
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า มูดี้ส์ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของอินเดียอยู่ที่ Baa3 และให้แนวโน้มมีเสถียรภาพ
ทั้งนี้ อินเดียจำเป็นต้องพึ่งพาฝนในฤดูมรสุมเพื่อเป็นแหล่งน้ำ แต่ขณะนี้อินเดียกำลังเผชิญกับการขาดน้ำอย่างรุนแรงและสภาพอากาศที่เลวร้าย
กรุงเดลี ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลกกว่า 200 ล้านคนนั้น กำลังเผชิญกับวิกฤตน้ำอย่างรุนแรง
"มีประชาชน 2.8 ล้านคนในกรุงเดลีที่ดิ้นรนเพียงเพื่อจะได้ดื่มน้ำสักหยด" โดยนางอาตีชี รัฐมนตรีกระทรวงน้ำของกรุงเดลีกล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (24 มิ.ย.) เพียงหนึ่งวันก่อนที่เธอจะตัดสินใจยุติการประท้วงเพื่อเรียกร้องการแก้ไขวิกฤตน้ำ เนื่องจากสุขภาพของเธอย่ำแย่ลง
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นางอาตีชีประกาศว่า เธอจะเข้าร่วมการประท้วงเพื่อต่อต้านความหิวโหย จนกว่ารัฐหรยาณาทางตอนเหนือของอินเดียจะปล่อยน้ำจากแม่น้ำยมุนาให้กับกรุงเดลีมากขึ้น โดยเธอกล่าวว่ารัฐหรยาณาปล่อยน้ำออกมาให้เพียง 110 ล้านแกลลอน/วันเท่านั้น
มูดี้ส์ระบุว่า ปัญหาขาดแคลนน้ำอาจจะส่งผลให้การผลิตสินค้าด้านการเกษตรและการดำเนินงานในภาคอุตสาหกรรมตกอยู่ในภาวะชะงักงัน อีกทั้งจะส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในราคาอาหาร และทำให้รายได้ของภาคธุรกิจและคนงานปรับตัวลดลง โดยเฉพาะเกษตรกร และในขณะเดียวกันก็อาจจะนำไปสู่เหตุการณ์ความไม่สงบทางสังคม
"สถานการณ์เหล่านี้อาจจะบั่นทอนการเติบโตของอินเดียและส่งผลกระทบต่อความสามารถของอินเดียในการรับมือกับภาวะวิกฤต เมื่อพิจารณาจากการที่แรงงานกว่า 40% ของตลาดแรงงานในอินเดียอยู่ในภาคการเกษตร" มูดี้ส์ระบุในรายงาน
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 27 มิถุนายน 2567