เศรษฐกิจไทย "อาการหนัก"
ท่ามกลางโครงสร้างเศรษฐกิจของเราที่ยังเป็นปัญหา อีโคซิสเตมที่ไร้แรงดึงดูด สู้ประเทศอื่นไม่ได้ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน การค้าโลกและปริมาณการส่งออกชะลอตัวลงเรื่อยๆ
ไม่นับเรื่องยอดการผลิตรถยนต์ ภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งเป็นที่เชิดหน้าชูตาประเทศไทยมายาวนานกำลังอาการร่อแร่ หลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นขุมทรัพย์ของไทย ทั้งภาคส่งออก ค้าปลีก ภาคการผลิต กำลังอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่
อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปี 2567 สถานการณ์หนัก ยอดขายถดถอยต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566 ล่าสุดยอดขายสะสมช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. 2567 มีทั้งสิ้น 260,365 คัน ลดลง 23.8% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว
กลุ่มรถยนต์นั่งมียอดขาย 101,589 คัน ลดลง 17.9% รถปิกอัพซึ่งเป็นโปรดักต์ แชมเปียน และเป็นสินค้าหลักของไทยมายาวนาน มีการถดถอยค่อนข้างรุนแรงลดลง 40.8% ด้วยยอดขาย 75,510 คัน
ขณะที่ยอดขายรายเดือน ของเดือน พ.ค. พบมีตัวเลขในระดับต่ำที่ไม่ค่อยได้พบเห็นในตลาดรถยนต์ไทย ทุกยี่ห้อมียอดขายรวมกัน 49,871 คัน ลดลง 23.4% จากเดือน พ.ค.2566 โดยตลาดรถยนต์นั่งมียอดขาย 18,686 คัน ลดลง 28.1% จากเดือนเดียวกันปีที่แล้ว ส่วนรถปิกอัพ 1 ตัน มียอดขาย14,832 คัน ลดลง 33.9%
สาเหตุหลักๆ เพราะสภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ฟื้นตัวช้า และการปฏิเสธสินเชื่อสถาบันการเงินยังคงตัวในระดับสูง จากปัญหาหนี้เสียหรือเอ็นพีแอล และหนี้ครัวเรือนที่สูงในรอบ 2 ปี กระทบถึงผู้บริโภคที่ยังมีกำลังซื้อ
ผลกระทบที่คุกรุ่นอยู่อุตสาหกรรมรถยนต์ ลามไปส่วนอื่นอย่างต่อเนื่อง เมื่อหนี้เสียสูง รถที่ถูกยึดก็เพิ่มขึ้น ปริมาณรถเข้าสู่ตลาดมือสองเพิ่ม ราคาจำหน่ายก็ลดตามลงไป ผู้ประกอบการเต็นท์รถมือสองก็กำลังจะตาย เรียกว่าสะเทือนไปทั้งวงการ
ไม่เพียงแค่อุตสาหกรรมรถยนต์ แต่กลุ่มค้าปลีก กลุ่มภาคการผลิต ส่งออกรอบครึ่งปีที่ผ่านมา ก็อาการหนักไม่แพ้กัน จนหลายสำนักเศรษฐกิจทั้งในประเทศไทย และระดับโลก ต่างปรับคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจลดลง
วิกฤติวันนี้ที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญและน่าเป็นห่วงมากๆ เลย คือ วิกฤติของคนชั้นกลางถึงล่าง ที่กำลังซื้อหดหาย หนี้สินพะรุงพะรังนับเป็นครึ่งประเทศที่กำลังเผชิญความยากลำบาก
ล่าสุด ‘ชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร’ ร่อนหนังสือถึงนายกฯ ‘เศรษฐา’ ขอให้ออกมาตรการต่อลมหายใจ ก่อนธุรกิจร้านอาหารจะได้รับความเสียหาย ปิดกิจการไปมากกว่านี้ หลังกำลังซื้อคนไทยไม่มีเหลือ สภาพเศรษฐกิจซบเซา ต้นทุนค่าวัตถุดิบและพลังงานที่พุ่งกระฉูด
ครึ่งปีแรกผ่านไป ครึ่งปีหลังกำลังเริ่มต้น เศรษฐกิจไทยจะหนักหนาสาหัสมากกว่านี้อีกหลายเท่านัก หากภาครัฐ ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลเศรษฐา ยังจับทิศแก้ปัญหาไม่ถูก
ท่ามกลางโครงสร้างเศรษฐกิจของเราที่ยังเป็นปัญหา อีโคซิสเตมที่ไร้แรงดึงดูด สู้ประเทศอื่นไม่ได้ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน การค้าโลกและปริมาณการส่งออกชะลอตัวลงเรื่อยๆ สงครามระหว่างสหรัฐและจีนก็ไว้วางใจไม่ได้ ...ภาพเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจึงยังร่อแร่ สาหัส และน่าห่วงเป็นอย่างยิ่ง
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 2 กรกฏาคม 2567