EV จีนลุยตลาดอาเซียน ไม่สนกำแพงภาษี EU-ไชน่า โฟกัส
EV จีนลุยตลาดอาเซียน ไม่สนกำแพงภาษี EU
ในวันที่ 4 ก.ค. สหภาพยุโรปหรืออียูใกล้มีกำหนดจะตั้งกำแพงภาษีรถอีวีนำเข้าจากจีน ทำให้ในวันเดียวกันนี้ บีวายดี (BYD) หันมาเปิดโรงงานมูลค่ากว่า 486 ล้านดอลลาร์ ( ประมาณ 17,800 ล้านบาท) ที่ประเทศไทย มีอัตราการผลิตเต็มกำลังที่ 150,000 ต่อปี พร้อมทั้งมอบส่วนลดถล่มทลายแก่ผู้ซื้อรถรุ่น BYD ATTO 3 สูงสุดถึง 340,000 บาท
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้น แม้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว และยอดปฏิเสธสินเชื่อรถที่พุ่งสูงขึ้น แต่โรงงานบีวายดีแห่งแรกในภูมิเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีกำลังการผลิต 150,000 คันต่อปีนี้ จะไม่เพียงขายในตลาดไทย แต่รวมถึงส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านและยุโรปอีกด้วย
เมื่อภาษีการค้าจากอียูมีผลบังคับใช้จะส่งผลให้รถยนต์จากจีนขายออกได้ยากขึ้น นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าผู้ผลิตรถอีวีจีนจะแทรกเข้ามาที่อาเซียน เพราะว่าประเทศไทยเก็บภาษีศุลกากรในอัตราต่ำในสินค้ารถอีวีที่ประกอบเสร็จสิ้นแล้ว ในกรณีที่บริษัทสัญญาว่าจะเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นบริษัทจีน
ขนส่งพิเศษ Amazon หั่นราคาสู้ Temu และ Shein :
ตามการรายงานของ ไฟแนนเชียล ไทม์ส (Financial times) อเมซอน (Amazon) ตอบโต้การแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นจากคู่แข่งอย่างทีมู่ และชีอิน โดยการลอกเลียนกลยุทธ์การขายจากสองคู่แข่ง ตั้งเป้าใช้เครื่องบินขนสินค้า ส่งตรงสินค้าจากโกดังที่จีนถึงมือนักช็อปชาวอเมริกัน หวังเริ่มส่งได้ทันภายในฤดูใบไม้ผลินี้ (ช่วง ก.พ.-เม.ย.)
ข้อดีของโมเดลนี้ จะทำให้พัสดุสามารถเลี่ยงภาษีนำเข้าผ่านกฎการส่งสินค้ามูลค่าต่ำ ส่งผลให้ผู้บริโภคอเมริกันได้รับพัสดุจากต่างประเทศ ที่มูลค่าต่ำกว่า 800 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 24,000 บาท โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า
ที่ผ่านมา ทีมู่ (Temu) และ ชีอิน (Shein) อาศัยช่องว่างทางกฎหมาย ส่งออกสินค้าราคาต่ำถึงหน้าบ้านลูกค้าชาวอเมริกัน ซึ่งสร้างความเดือดดาลแก่ สส.สหรัฐ เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม อเมซอนคงไม่คิดว่าช่องโหว่นั้นจะถูกปิดในเร็ว ๆ นี้แน่
จีนออกกฎ แร่แรร์เอิร์ทเป็นของรัฐ :
ความเคลื่อนไหวล่าสุดในกรุงปักกิ่งกับความพยายามที่สร้างอุปทานทรัพยากรแรร์เอิร์ท (rare earth) ให้เป็นไม้เด็ดของจีน จึงออกข้อบังคับที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ทรัพยากรแรร์เอิร์ททั้งหมดจะเป็นของรัฐ ทำให้ตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต ตั้งแต่การขุดเหมือง ถลุง และการแยก กระบวนการจัดจำหน่ายและส่งออก จะถูกควบคุมอย่างเข้มงวด
อย่างไรก็ตาม การขุดเหมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากภาคเอกชนก็ยังคงมีอยู่ กฎใหม่นี้เป็นความพยายามของจีนที่จะล้อมรั้วรักษาวัตถุดิบที่มีความสำคัญทางอุตสาหกรรม เป็นการโต้กลับสหรัฐที่พยายามไม่ให้จีนมีความก้าวหน้าในการผลิตชิป
แร่แรร์เอิร์ทมีความสำคัญยิ่งต่อการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์อีวี เลเซอร์และขีปนาวุธ ซึ่งจีนครอบครองการผลิตมากถึง 70% ในปีที่ผ่านมา แม้สหรัฐจะพยายามเสาะหาเหมืองแร่แรร์เอิร์ทแห่งใหม่ กระนั้นก็ยังต้องพึ่งพาจีนในขั้นตอนการถลุงแร่และกระบวนการอื่น ๆ อยู่ดี
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 4 กรกฏาคม 2567