บริษัทญี่ปุ่นล้มละลายเกือบ 5,000 แห่ง ใน 6 เดือน สูงสุดรอบ 10 ปี
บริษัทญี่ปุ่นล้มละลายเกือบ 5,000 แห่ง ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2024 เป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี
สำนักข่าวซินหัว (Xinhua) ของจีนรายงานว่า รายงานผลการสำรวจจากโตเกียว โชโก รีเสิร์ช จำกัด (Tokyo Shoko Research) บริษัทวิจัยสินเชื่อของญี่ปุ่นที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2024 ระบุว่า จำนวนบริษัททั่วประเทศญี่ปุ่นที่ประกาศล้มละลายเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 โดยเป็นระดับสูงสุดในรอบทศวรรษ นับตั้งแต่ปี 2014
รายงานดังกล่าวระบุว่า ช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2024 จำนวนธุรกิจล้มละลายที่มีหนี้สินไม่น้อยกว่า 10 ล้านเยน (ประมาณ 2.26 ล้านบาท) รวมอยู่ที่ 4,931 บริษัท เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY)
จำนวนบริษัทล้มละลายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้เป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงและการขาดแคลนแรงงาน
โดยบริษัทที่ล้มละลายจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ เช่น ต้นทุนการจัดซื้อสูงขึ้น มีจำนวนอยู่ที่ 374 บริษัท เพิ่มขึ้น 23.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ตอกย้ำถึงผลกระทบที่รุนแรงขึ้นจากปัญหาเงินเยนอ่อนค่าที่ส่งผลต่อต้นทุนของบริษัทที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบหรือส่วนประกอบจากต่างประเทศ
รายงานเผยอีกว่า จำนวนบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเหล่านี้อาจเพิ่มขึ้นอีก และจำนวนบริษัทที่ล้มละลายอาจทะลุ 10,000 บริษัทเมื่อถึงสิ้นปี 2024
ผลสำรวจพบว่า แม้กลุ่มบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีชื่อจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะมีความก้าวหน้า แต่ธุรกิจขนาดเล็กกลับได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดย 88.4% ของธุรกิจที่ล้มละลายเป็นบริษัทขนาดเล็กที่มีพนักงานน้อยกว่า 10 คน
เมื่อแบ่งตามอุตสาหกรรม พบว่า 8 ใน 10 อุตสาหกรรมมีจำนวนบริษัทล้มละลายเพิ่มขึ้น ซึ่งภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างและการขนส่งได้รับผลกระทบเป็นพิเศษ โดยบริษัทในภาคการก่อสร้างล้มละลายเพิ่มขึ้น 20.6% อยู่ที่ 947 บริษัท ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบและต้นทุนวัสดุที่เพิ่มสูงขึ้น
การขาดแคลนแรงงานเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การล้มละลาย โดยมีบริษัทที่ล้มละลายจากปัญหานี้เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าที่ 145 บริษัทในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งนับเป็นจำนวนสูงสุดในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่ปี 2013
นอกจากนั้น การสำรวจยังพบว่า ในเดือนมิถุนายนเพียงเดือนเดียวมีบริษัทล้มละลาย 820 บริษัท เพิ่มขึ้น 6.5% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ซึ่งนับเป็นเดือนที่ 27 ติดต่อกันที่ตัวเลขจำนวนการล้มละลายปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่ยังคงดำเนินอยู่ต่อเนื่อง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 7 กรกฏาคม 2567