ส.อ.ท. เปิดกล่องของขวัญให้ SMEs เตรียมขออีก 1,000 ล้านเติมกองทุนนวัตกรรม
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดกิจกรรมเปิดกล่องของขวัญเพื่อ SME ปี 2567 ดึง รัฐ-เอกชนระดมช่วย SMEs ตั้งเป้า Tranform รายเล็กจาก 12,000 ราย ให้ได้ 30% สู่ Smart SMEs เตรียมขอวงเงินเพิ่ม “กองทุนนวัตกรรม” อีก 1,000 ล้านบาท
วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ส.อ.ท. มีสมาชิกประมาณ 16,000 บริษัท ซึ่ง 80% เป็น SMEs หรือประมาณ 12,000 ราย โดยในปี 2567-2568 ตั้งเป้าที่จะ Tranform SMEs ให้เป็น Smart SMEs ให้ได้ 10-20% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมในการเปลี่ยนตนเองแล้ว คือ กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยถูกแรงกดดันจาก อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หรือรถไฟฟ้า (EV) ส่วนอุตสาหกรรมที่น่ากังวลและยังต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนตัวเอง คือธุรกิจที่ยังอยู่ในรูปแบบกงสี
ทั้งนี้ การจะเป็น Smart SMEs จะต้องใช้กลยุทธ์ 4 ด้าน คือ 1.Go Digital 2.Go Innovation 3.Go Global 4.Go Green และจะใช้เครื่องมือจากกองทุนนวัตกรรม เข้ามาเป็นตัวช่วยซึ่งขณะนี้มีวงเงินอยู่ 2,000 ล้านบาท หลังจากดำเนินการมา 1 ปี วงเงินถูกใช้ไปส่วนหนึ่งและยังเป็นที่ต้องการกับ SMEs จึงเตรียมขอขยายวงเงินกับทางภาครัฐเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท โดย ส.อ.ท. จะสมทบอีก 1,000 ล้านบาท จะส่งผลให้กองทุนมีเงินเติมเข้ามาอีก 2,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ การจัดกิจกรรม “เปิดกล่องของขวัญเพื่อ SME” ขึ้น ได้รวบรวมหน่วยงานที่สำคัญเข้ามาส่งเสริมช่วย SMEs ทุกด้าน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ช่วยวางเป้าหมายชี้แนะการปรับตัว, บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่จะเป็นผู้เข้ามาช่วยค้ำประกัน, ธนาคารกสิกรไทย ให้ความรู้ผ่านการอบรม, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) เข้ามาช่วยประเมินความเสี่ยง, กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ช่วยชี้เป้าหมายตลาดเพื่อการส่งออก, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ช่วยหาตลาด, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ช่วยเรื่องของเงินทุนเพื่อนวัตกรรม
นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) กล่าวว่า กิจกรรม “เปิดกล่องของขวัญเพื่อ SME” ในปีที่ผ่านมาสัญจรไปแล้ว 20 จังหวัด ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี และในปี 2567 นี้จะสัญจรไปอีก 20 จังหวัด โดยเน้นจังหวัดที่ยังขาดโอกาสในการรับบริการต่าง ๆ อาทิ จันทบุรี ตราด อำนาจเจริญ สกลนคร สุรินทร์ บุรีรัมย์ แพร่ น่าน พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ เป็นต้น ตั้งเป้าว่าจะให้บริการ SMEs ถึง 1,000 บริษัท
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 9 กรกฏาคม 2567