อนาคตของ "น้ำมันดิบ" กับเทรนด์พลังงานของโลก
ในรายงานการคาดการณ์แนวโน้มระยะยาวด้านพลังงานของโลก 2024 ที่จัดทำโดยสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) เผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พยากรณ์เอาไว้น่าสนใจมากว่า ความต้องการใช้น้ำมันของทั้งโลกจะถึงจุดสูงสุดในอีกเพียงแค่ 6 ปีข้างหน้า คือในราวปี 2030 นี้เท่านั้นเอง
หลังจากถึงจุดพีกดังกล่าวแล้ว ความต้องการน้ำมันก็จะอยู่ในสภาพทรงตัวอยู่ระยะหนึ่ง แล้วจะลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากนั้น โดยทางไออีเอให้เหตุผลเอาไว้ว่า การใช้รถยนต์อีวีเพิ่มมากขึ้น และการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอื่น ๆ รวมถึงการกำหนดนโยบายพลังงานที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมของประเทศต่าง ๆ คือสาเหตุสำคัญของปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้
แต่ในเดือนเดียวกันนั้นเอง รายงานของไออีเออีกเช่นกันที่แสดงให้เห็นว่าความต้องการน้ำมันของโลกยังคงขยายตัว แถมยังระบุชัดเจนว่าในส่วนที่ลดลงก็ลดลงเล็กน้อยเท่านั้น
ฟังดูเหมือนว่ารายงานของไออีเอมีความย้อนแย้งอยู่ในตัวเอง นักวิเคราะห์บางคนถึงกับชี้ว่า การพยากรณ์ระยะยาวของไออีเออาจไม่เกิดขึ้นจริงอย่างที่ทำนายเอาไว้ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม การขัดแย้งกันอยู่ในทีของรายงานทั้งสองชิ้น ไม่ได้หมายความว่ารายงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งไม่ใช่เรื่องจริง และยังคงมีโอกาสเสมอที่รายงานของไออีเอทั้งสองฉบับจะเกิดขึ้นจริงได้ แม้ว่าสถานการณ์จริงในเวลานี้ไม่ได้ชี้แนวโน้มไปเช่นนั้นก็ตามที
สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปีนี้ก็คือ การใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีไม่ได้ขยายตัวเร็วและแรงอย่างที่คิดกัน ซ้ำยังชะลอตัวลงด้วยซ้ำไป ตัวเลขยอดขายรถอีวีในไตรมาสสองของปีต่ำกว่าที่คาดหมายกันไว้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของเทสลา ในขณะที่รายงานผลการสำรวจความคิดเห็นหลายต่อหลายชิ้นสะท้อนชัดว่า ความกระหายอยากใช้รถอีวีของคนทั่วไปจางหายไปอย่างชัดเจน
ตัวอย่างเช่นผลการสำรวจล่าสุดของแมคคินซีย์ ที่ได้ผลลัพธ์ว่าเกือบครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันเกิดเปลี่ยนความคิด เต็มใจที่จะหันกลับมาใช้รถน้ำมัน สอดคล้องกับแนวโน้มในอีก 15 ประเทศอื่น ๆ ที่แมคคินซีย์พบว่า ราว 29% ของประชากรในประเทศนั้น ๆ ไม่ต้องการรถอีวี
ด้วยเหตุนี้ ผลกระทบของการใช้รถอีวีที่เกิดขึ้นกับความต้องการน้ำมันจึงไม่มากนัก ข้อมูลของไออีเอแสดงให้เห็นว่า การขยายตัวของยอดขายอีวีในภาคพื้นยุโรปและอเมริกาเหนือทำให้ความต้องการน้ำมันลดลง 1% ในยุโรป กับ 0.8% ในอเมริกาเหนือ แต่ตัวเลขเดียวกันในเอเชียกลับสูงถึง 5% เหตุผลก็คือ เพราะรวมเอาประเทศจีนที่มีการใช้รถอีวีกันกว้างขวางที่สุดรวมอยู่ด้วย
ข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นว่า ความต้องการน้ำมันในจีนมีแนวโน้มลดลงมาตั้งแต่ต้นปีนี้ ถึงขนาดที่ ซิโนเปค (Sinopec) ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานและบริษัทกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลกของจีนเผยแพร่รายงานคาดการณ์ว่า ความต้องการน้ำมันในจีนจะถึงจุดพีกในอีก 3 ปีข้างหน้า และเมื่อถึงปี 2045 แหล่งพลังงานของจีนจะเป็นพลังงานที่ไม่ใช่น้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติเสียเป็นส่วนใหญ่
ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมนี้นี่เอง ทางการจีนกลับประกาศจัดตั้งหน่วยงานใหม่ของรัฐ ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำมันและก๊าซภายในประเทศขึ้น
นักวิเคราะห์เชื่อว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่ได้เป็นความพยายามต่อต้านแนวโน้มความต้องการน้ำมันสูงสุดที่จะเกิดขึ้น เป็นเพียงแต่การพยายามหาแหล่งน้ำมันและก๊าซ เพื่อรักษาระดับการทรงตัวของความต้องการน้ำมันหลังจุดสูงสุดให้ยืดยาวไปมากขึ้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขความต้องการน้ำมันในยุโรปและอเมริกาเหนือที่ลดลงเพียงเล็กน้อย ทั้ง ๆ ที่จำนวนรถอีวีในแต่ละภาคพื้นก็มีไม่น้อย แสดงให้เห็นว่าอีวีไม่ได้มีผลกระทบต่อการบริโภคน้ำมันอย่างจริงจัง เห็นได้ชัดจากกรณีของนอร์เวย์ ประเทศที่มีรถอีวีใช้คิดเป็นสัดส่วนต่อประชากรสูงที่สุดในยุโรป ความต้องการน้ำมันของนอร์เวย์ก็ไม่ได้ลดลงตามจำนวนรถอีวีบนถนนที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
เป็นไปได้ว่าในยุโรปและอเมริกาเหนือ ความต้องการน้ำมันอาจถึงจุดสูงสุดช้ากว่า หรือไม่ก็ระยะของการทรงตัวของความต้องการน้ำมันหลังถึงจุดสูงสุด อาจเนิ่นนานกว่าที่คาดกันไว้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงว่า ไม่ว่าจะยินดีหรือไม่ น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ หรืออาจรวมไปถึงถ่านหิน อาจยังคงอยู่คู่กับมนุษย์ต่อไปอีกนานไม่น้อยเลยทีเดียว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 11 กรกฏาคม 2567