เป็นห่วงหนี้ครัวเรือน
กระแสข่าวเศรษฐกิจในช่วงนี้คือ การที่เศรษฐกิจดูจะฝืดเคืองในวงกว้าง ประชาชนไม่มีกำลังซื้อและพบว่า ปริมาณหนี้เสียตอนปลายเดือนพฤษภาคม 2024 ขยับตัวเพิ่มขึ้น 11.3% เทียบเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าคิด เป็นมูลค่า 1.14 ล้านล้านบาท มากกว่าจุดสูงสุดของหนี้เสียช่วงโควิดระบาดที่ 1.1 ล้านล้านบาท
ทั้งๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวและดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% เหมาะสมในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจดังกล่าว
ในความเห็นของผมนั้น ดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% สูงเกินไป เพราะเงินเฟ้อแทบจะไม่มีเลย ดังนั้น ดอกเบี้ยนโยบายจริง จึงสูงกว่าปกติเท่าตัว และอยู่ที่ระดับสูงเกินกว่าที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งผมเคยกล่าวว่า ดอกเบี้ยนโยบายที่สูงเกินไปตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว จะผลกระทบต่อเศรษฐกิจประมาณกลางปีนี้ เพราะนโยบายการเงินจะใช้เวลา 6-9 เดือน จึงจะเริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจ
มาวันนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยดูจะย่ำแย่ลง ไม่ได้ดีขึ้น เช่น เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผมดูคลิปของ “กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์ “คุณประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” นายกสมาคมอาคารชุดไทยที่สรุปว่า วิกฤติอสังหาฯ ฐานราก (คนรายได้น้อย) ครั้งนี้ สาหัสกว่า “ต้มยำกุ้ง” ยอดขายบ้านลดลงอย่างมาก เพราะเงินออมหมด ยอดหนี้สูง ดอกเบี้ยผ่อนบ้านเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว จาก 3% มาเป็น 6% ในขณะที่ยอดการปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 70% สำหรับบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท
ผลที่ตามมาคือ ยอดขายบ้านในไตรมาสแรกของปีนี้เทียบกับปีก่อนหน้า : บ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท -49% / บ้านราคา 3-5 ล้านบาท -47% / บ้านราคา 5-7 ล้านบาท -14% / บ้านราคา 7-10 ล้านบาท -19% / บ้านราคา 10 - 20 ล้านบาท -2% / บ้านราคา 20-50 ล้านบาท -1% ส่วนบ้านราคา 50 ล้านบาทและมากกว่า +29%
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หากยอดขายลดลงมากเช่นนี้ ก็มีความเสี่ยงว่าราคาบ้านส่วนใหญ่ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นแต่อาจลดลงได้ ทำให้ประชาชนที่มีบ้านอยู่อาศัยและกำลังผ่อนบ้านอยู่รู้สึกตัวว่า “ยากจนลง” หรือเป็น negative wealth effect เหมือนกับการลดลงของราคารถยนต์ ดังที่ผมได้เขียนอธิบายไปแล้วก่อนหน้านี้ และเป็นการสะท้อนว่าราคาสินค้าโดยรวม รวมทั้งสินค้าขนาดใหญ่ เช่น บ้านและรถยนต์ น่าจะไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต
ดังที่ ธปท.และหลายฝ่ายคาดการณ์สำหรับครึ่งหลังของปีนี้ และแปลว่า เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริง จะต่ำกว่าเป้าเงินเฟ้ออย่างมาก หรืออีกนัยหนึ่งคือ ดอกเบี้ยนโยบายจริง (ดอกเบี้ยลบเงินเฟ้อ) จะยังสูงต่อเนื่องไปอีก ปัจจุบัน ทุกคนดูจะเพ่งเล็งไปที่หนี้สินเพียงด้านเดียว และต้องการทุ่มเทความพยายามในทาง “แก้หนี้ครัวเรือน” ซึ่งน่าจะหมายถึง การเจรจาให้ลดภาระการผ่อนหนี้โดยเจ้าหนี้ แต่หากด้านซ้ายของงบดุลของประชาชน คือทรัพย์สิน ก็ย่ำแย่ลงและราคาถดถอย การแก้หนี้จะทำได้ยากมาก เพราะเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว
นอกจากนั้น หากดูบัญชีกำไร-ขาดทุนของประชาชน ก็จะสะท้อนว่า รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย (ขาดทุน) เห็นได้ว่า หนี้เสีย (NPL) คือมีเงินรายได้ไม่เพียงพอที่จะจ่ายดอกเบี้ย สำหรับมูลหนี้มากถึง 1.14 ล้านล้านบาท หรือ 8.38% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมด (13.6 ล้านล้านบาท)
ที่น่าเป็นห่วงคือ ยังมีหนี้ใกล้จะเสียอีก 680,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงมากคือ 18.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า นอกจากนั้นยังมีหนี้สินที่อยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างอีก 1.06 ล้านล้านบาท หากรวมสินเชื่อที่ไม่ปกติดังกล่าวทั้งหมด จะมียอดรวมสูงถึง 2.88 ล้านล้านบาท หรือ 21.18% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมด (เป็นตัวเลขที่น่ากลัวมาก!)
วิกฤติต้มยำกุ้งนั้น เป็นวิกฤติ “คนรวย” เพราะว่ากลุ่มที่ถูกกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มคนที่ไปกู้เงินดอลลาร์ ณ เวลานั้นประมาณ 75,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมูลหนี้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลงไปจาก 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ไปเป็นเกือบ 60 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ในขณะที่รายได้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นในบางส่วน (เช่น การส่งออก) แต่ไม่เพียงพอ ที่สำคัญคือประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถกู้เงินดอลลาร์ได้ จึงไม่ได้เข้าสู่ภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว
หนี้ครัวเรือนปัจจุบันอยู่ที่ 90% ของจีดีพี โดย ธปท. ระบุว่า ตามมาตรฐานสากลไม่ควรเกิน 80% ของจีดีพี ปกติเราจะต้องคิดว่า ทำอย่างไรให้จีดีพีโตเร็วกว่าหนี้สินดังกล่าว สัดส่วนหนี้สินต่อจีดีพีจะได้ลดลง
มาถึงตรงนี้ ผมขอให้ท่านผู้อ่านลอง “เปิดใจ” คิดนอกกรอบดังนี้ครับ สมมุติว่า พรุ่งนี้เช้ามีมหัศจรรย์เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย คือราคาสินค้าสินทรัพย์และบริการทุกประเภท ตลอดจนเงินเดือนของทุกคนและดอกเบี้ยทุกประเภทเพิ่มขึ้นอย่างถ้วนหน้าเท่ากัน 10% ส่วนเดียวที่ไม่เพิ่มขึ้นคือมูลหนี้ 13.6 ล้านล้านบาทที่กล่าวถึงข้างต้น
เราจะพบว่า หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะลดลงเหลือ 80% โดยทันที
ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย ในเชิงของบัญชีกำไร-ขาดทุนนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย ที่เปลี่ยนแปลงไปคือ งบดุลเพราะราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้น แต่หนี้สินเท่าเดิมทำให้ส่วนทุนเพิ่มขึ้นความหมายคือ ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ควรจะดำเนินนโยบายการเงินที่มีสภาพคล่องสูงพอควร (easier monetary policy) ให้เงินเฟ้อเท่ากับ 2% ต่อปี แต่ในขณะเดียวกันควรออกมาตรการ เช่น การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) ซึ่งเป็นนโยบายการกำกับดูแลที่เรียกว่า macro-prudential เพื่อควบคุมไม่ให้หนี้ครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มขึ้น
กล่าวคือ นโยบาย easier monetary policy บวกกับ tighter macro-prudential policy จะเหมาะสมกว่าสำหรับอดีต มาวันนี้ นโยบายคือ tight monetary policy บวกกับ tighter macro-prudential policy จึงทำให้อึดอัดกันโดยถ้วนหน้า
สะท้อนให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสมในระยะยาวมีความสำคัญ ในช่วง 2013-2019 (ก่อนโควิดจะระบาด) เงินเฟ้อของไทยเฉลี่ยเพียง 0.8% ต่อปี ในช่วงเดียวกัน หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 72% ของจีดีพี มาเป็น 80% ของจีดีพี ผมจึงย้ำว่า หากกำหนดเป้าเงินเฟ้อเอาไว้ที่ 2% ต่อปี ก็ควรทำให้ได้ตามนั้น เพราะการทำให้เงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าเป็นเวลานานนั้น มีต้นทุนที่สูงในเชิงของการทำให้เศรษฐกิจในประเทศขยายตัวได้ไม่เต็มที่ครับ
ผู้เขียน ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 22 กรกฏาคม 2567