City of the Future เมืองที่คิดและสร้างเผื่อพลเมืองในอนาคต
พาไปดู 3 เมืองที่เตรียมพร้อมรับมือสู่การเป็นเมืองแห่งอนาคต 2026 ใน "ฟิลาเดลเฟีย-อัลมาตี-ยอร์กยากาตา" ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์พัฒนาเมืองที่คิดและสร้างเผื่อพลเมืองในอนาคต
ปี 2026 เมืองต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังวางแผนเพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญตามแนวทาง STEPIC ทั้งทางด้านสังคม (Society) เทคโนโลยี (Technology) สิ่งแวดล้อม (Environment) การเมือง (Politics) อุตสาหกรรม (Industry) และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เมืองเหล่านี้ไม่ได้คำนึงถึงเพียงการอยู่อาศัย แต่ยังเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนเมือง ในหลากหลายด้านด้วยความมุ่งมั่นและนวัตกรรม
“ฟิลาเดลเฟีย” (Philadelphia) สหรัฐอเมริกา ได้รับฉายา “เมืองหลวงแห่งจิตรกรรมฝาผนังของโลก” ซึ่งนอกเหนือจากศิลปะสาธารณะแล้ว ความมีชีวิตชีวาของเมืองสะท้อนให้เห็นได้จากโครงการพัฒนาชุมชนต่าง ๆ เช่น “Our Market” ที่บอกเล่าเรื่องราวของพ่อค้าแม่ค้าในตลาดผู้อพยพ และนโยบายส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้พิการ
ฟิลาเดลเฟียยังโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยสวนสาธารณะขนาดใหญ่ สวนป๊อปอัป และเส้นทางจักรยาน เมืองนี้ยังเป็นผู้นำด้านระบบขนส่งสาธารณะ สำหรับการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งรถยนต์ นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการใช้ชีวิตแบบไร้ขยะผ่านแบรนด์ท้องถิ่นอย่าง The Rounds และ Grant Blvd
ฟิลาเดลเฟียโดดเด่นด้วยสถานที่พักผ่อนที่หลากหลายและเปิดกว้างสำหรับคนทุกวัย ตั้งแต่กลางวันถึงกลางคืน Puttshack นำเสนอประสบการณ์มินิกอล์ฟแนวใหม่ที่ผสานเทคโนโลยีกับความสนุกสนาน เหมาะสำหรับครอบครัวและเพื่อนฝูง ในขณะที่ Barcade ดึงดูดทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่ด้วยเกมอาร์เคดคลาสสิก ส่วนพื้นที่สร้างสรรค์ที่ออกแบบเพื่อชุมชน LGBTQIA+ เช่น The Painted Mug Cafe ก็เป็นมากกว่าคาเฟ่ทั่วไป โดยนำเสนอประสบการณ์ที่หลากหลายทั้งพื้นที่แสดงผลงาน สถานที่ให้เช่าสำหรับจัดงาน และการพัฒนาวิชาชีพ
นอกจากนี้ยังมีความพยายามนำธรรมชาติเข้าสู่เมือง เช่น Sunset Social เป็นจุดหมายที่น่าตื่นเต้นในย่าน University City ตั้งอยู่บนดาดฟ้าอันเขียวขจีของอาคาร Cira Green สถานที่แห่งนี้นำเสนอประสบการณ์การทานอาหารกลางแจ้งที่ไม่เหมือนใคร พร้อมชมวิวทิวทัศน์อันงดงามของเมือง สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสร้างพื้นที่สาธารณะที่เป็นมิตรกับคนทุกวัยและเป็นมิตรต่อสัตว์เลี้ยง
"อัลมาตี" (Almaty) เมืองที่ใหญ่ที่สุดในคาซัคสถาน เป็นสัญลักษณ์ของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม การฟื้นฟูวัฒนธรรมของเมืองนี้มีรากฐานจากยุคหลังสหภาพโซเวียต เชื่อมโยงกับมรดกทางวัฒนธรรมดั้งเดิมแบบคาซัคและรับเอาอิทธิพลสมัยใหม่เข้ามาด้วย รัฐบาลได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่น การลดหย่อนภาษีและการจัดตั้งศูนย์กลางด้านความคิดสร้างสรรค์ ดึงดูดคนรุ่น Gen Y และ Gen Z กลับมา เน้นแนวคิดการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการพึ่งพาตนเอง
วงการที่เติบโตเร็วที่สุดของเมือง ได้แก่ แฟชั่นและการออกแบบ
โดยมีเทศกาลสำคัญ เช่น Visa Fashion Week และ Fashion Revolution ที่เน้นความยั่งยืน นักออกแบบกำลังคิดใหม่เกี่ยวกับการผสมผสานเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมดั้งเดิมกับองค์ประกอบที่ทันสมัย นอกจากนี้ในวงการอาหารของเมืองก็กำลังเฟื่องฟู โดยร้านอาหารอย่าง Sandyq และ Auyl นำอาหารคาซัคดั้งเดิมแบบชนเผ่าเร่ร่อนมาปรับใหม่ให้ดูทันสมัยขึ้น
"ยอกยาการ์ตา" (Yogyakarta) หรือ "Jogja" เป็นหนึ่งในศูนย์กลางวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดของอินโดนีเซีย โดดเด่นด้วยการผสมผสานระหว่างศิลปะชั้นสูงแบบชวาดั้งเดิมและวัฒนธรรมร่วมสมัยได้อย่างลงตัว เมืองนี้มีฉากดนตรีและศิลปะที่มีชีวิตชีวา โดยกลุ่มศิลปิน ค่ายเพลง และพื้นที่สร้างสรรค์ที่ดึงดูดคนหลากหลายวัย ทั้ง Gen X และ Millennials
นอกจากนี้ ยังมีการจัดงานศิลปะระดับนานาชาติอย่าง ARTJOG และมีแกลเลอรีที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เช่น Srisasanti Gallery วัฒนธรรมย่อยและกลุ่มเฉพาะในเมืองกำลังเติบโต โดยมีหัวหอกเป็นแบรนด์ท้องถิ่นอย่าง Frogstone และ Power of Vision ที่สนับสนุนศิลปินและนักออกแบบอิสระ
กระแส Nostalgia กำลังได้รับความนิยมในยอกยาการ์ตา สะท้อนผ่านความชื่นชอบสินค้าอะนาล็อกและวินเทจ รวมถึงร้านค้าเสื้อผ้ามือสองที่แสดงถึงรสนิยมท้องถิ่น พื้นที่ผสมผสานอย่าง SUBstore10A เป็นตัวอย่างที่ดีของการรวมหลายกิจกรรมเข้าด้วยกัน ทั้งหมดนี้สร้างบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาและหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งคาดว่าจะเติบโตมากขึ้นไปกว่านี้อีก เมื่อการเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงกับจาการ์ตาแล้วเสร็จในปี 2026
การพัฒนาสภาพแวดล้อมในเมืองเพื่อรับมือกับความซับซ้อนของโลกยุคใหม่เป็นสิ่งสำคัญ บทความนี้ได้แสดงให้เห็นถึงวิธีการที่หลากหลายที่เมืองต่าง ๆ กำลังเตรียมตัวสำหรับอนาคต ทั้งการผสมผสานระหว่างมรดกทางวัฒนธรรมท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ และความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเมืองในลักษณะนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย แต่ยังเป็นการวางรากฐานสำหรับการเติบโตและความเจริญรุ่งเรืองในระยะยาวของชุมชนเมืองทั่วโลก
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 24 กรกฏาคม 2567