ส่องความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ จีนลดดอกเบี้ยครั้งนี้ เพียงพอหรือยังที่จะฟื้นเศรษฐกิจ?
ธนาคารประชาชนจีน (People’s Bank of China : PBOC) หรือธนาคารกลางของประเทศจีน ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้น และอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสินเชื่อที่อยู่อาศัยลงเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2024 สร้างความประหลาดใจให้ตลาดค่อนข้างมาก เนื่องจากไม่มีใครคาดคิดว่าจีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเวลานี้
อัตราดอกเบี้ยที่ถูกปรับลดลงเป็นอัตราดอกเบี้ยสำคัญ 3 ตัว ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยธุรกรรมการซื้อหลักทรัพย์ชั่วคราว โดยมีสัญญาจะขายคืน (Reverse Repo) ระยะ 7 วัน ปรับลดลงจากอัตรา 1.27% เหลือ 1.17% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (Loan Prime Rate : LPR) ระยะ 1 ปี ปรับลดลงจาก 3.45% เหลือ 3.35% และอัตราดอกเบี้ย LPR ระยะ 5 ปี ปรับลดลงจาก 3.95% เหลือ 3.85%
การปรับลดดอกเบี้ยครั้งสำคัญนี้เกิดขึ้นภายในวันทำการที่ 2 หลังจากที่การประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 (Third Plenum) ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 20 ปิดฉากลงเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม และไม่กี่วันหลังจากที่ทราบตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ของปี 2024 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม
หลายครั้งที่ผ่านมา เมื่อทางการจีนมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีเสียงจากนักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์ และนักลงทุนที่สะท้อนออกมาว่า มาตรการที่ทำนั้นยังไม่เพียงพอที่จะฟื้นเศรษฐกิจได้
แล้วการลดดอกเบี้ยครั้งล่าสุดนี้เพียงพอหรือยัง ? นักเศรษฐศาสตร์-นักวิเคราะห์มองอย่างไรกับความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้ของจีน?
ตามการรายงานของสื่อต่างประเทศหลายสำนัก นักวิเคราะห์หลายคนมองตรงกันว่า การลดดอกเบี้ยครั้งล่าสุดนี้ยังไม่เพียงพอ และคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยอีกในปีนี้ ขณะเดียวกัน ก็มีการเรียกร้องให้มีมาตรการการคลังและการสนับสนุนเชิงนโยบายออกมาในอนาคต เพื่อช่วยให้จีนสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ได้ ท่ามกลางความท้าทายภายนอกที่เพิ่มขึ้น
ตามการรายงานของเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ (South China Morning Post : SCMP) หลุยส์ ลู่ (Louise Loo) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากอ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ (Oxford Economics) กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ เป็นความเคลื่อนไหวที่เดิมทีคาดไว้ว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 4 หลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
“เรายังคงคาดหวังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงเพิ่มเติมอีก 10 เบซิสพอยต์ในไตรมาสที่ 4 ควบคู่ไปกับการลดอัตราส่วนเงินสำรองขั้นต่ำ (RRR) ลงครั้งละ 25 เบซิสพอยต์ในไตรมาส 3 และ 4 เพื่ออำนวยความสะดวกในการหนุนสภาพคล่อง เมื่อคำนึงถึงว่ามีการออกพันธบัตรรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” หลุยส์ ลู่ กล่าว
จาง จื่อเว่ย (Zhang Zhiwei) ประธานและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทจัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ พินพอยต์ แอสเสต แมเนจเมนต์ (Pinpoint Asset Management) เป็นอีกคนที่คาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่านี้ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐเริ่มเข้าสู่วงจรการลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเขามองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ PBOC ครั้งล่าสุดนี้ถือเป็นก้าวหนึ่งในทิศทางที่ถูกต้อง
จูเลียน อีแวนส์ พริตชาร์ด (Julian Evans-Pritchard) หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์จีน ของบริษัทวิจัยทางเศรษฐกิจ แคปิตัล อีโคโนมิกส์ (Capital Econimcs) จากอังกฤษ กล่าวว่า แม้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะให้ความมั่นใจว่าผู้กำหนดนโยบายกำลังตอบสนองต่อการสูญเสียโมเมนตัมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่ภาระหนักจะต้องมาจากฝั่งนโยบายการคลัง ไม่ใช่นโยบายการเงิน ซึ่ง “โชคดีที่ป้ายสัญญาณข้างหน้าก็ให้กำลังใจเช่นกัน”
นอกจากนั้น ตามการรายงานของนิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) จูเลียน อีแวนส์ พริตชาร์ด กล่าวว่า หาก PBOC จริงจังกับการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้มากกว่านี้
“อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการรักษาเสถียรภาพของผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวและควบคุมการอ่อนค่าของสกุลเงิน ทำให้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ดูเหมือนไม่น่าจะเกิดขึ้น เราคาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 10 เบซิสพอยต์ในปีนี้” หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์จีนของบริษัทวิจัยทางเศรษฐกิจ แคปิตัล อีโคโนมิกส์ กล่าว
ตามการรายงานของบลูมเบิร์ก (Bloomberg) เหวยเซิน หลิง (Vey-Sern Ling) กรรมการผู้จัดการของยูเนียน บังแคร์ พรีวี (Union Bancaire Privee) มองว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่รัฐบาลจีนกำลังพยายามสนับสนุนเศรษฐกิจ แม้ว่าผลกระทบพื้นฐานน่าจะมีจำกัดก็ตาม
เซเรนา โจว (Serena Zhou) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านเศรษฐกิจจีนจาก มิซูโฮ ซีเคียวริตีส์ เอเชีย (Mizuho Securities Asia Ltd.) กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินหยวน เนื่องจากเฟดยังไม่ได้เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น มีแนวโน้มว่า PBOC จะต้องออกมาตรการเพื่อหนุนอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน
ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ของ บลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ (Bloomberg Economics) แสดงความเห็นว่า ทั้งแผนปฏิรูปจากการประชุม Third Plenum ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ย 10 เบซิสพอยต์ ต่างก็ไม่ใช่สิ่งที่ตลาดต้องการ ถึงอย่างนั้นก็ตาม การเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง และการที่ทั้งสองอย่างนี้เกิดขึ้นพร้อมกันถือเป็นสัญญาณของความเร่งด่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 24 กรกฏาคม 2567