รู้จัก "สถานะ NME" เมื่อสหรัฐแจ้งเลื่อน "อัพเกรดเวียดนาม"
เมื่อ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐแจ้งเลื่อนการตัดสินใจเกี่ยวกับว่าจะยกระดับสถานะเวียดนามขึ้นเป็นเศรษฐกิจแบบตลาดหรือไม่ จากสถานะเศรษฐกิจที่ไม่ใช้กลไกตลาด (non-market economy หรือ NME) ไปอีกราวหนึ่งสัปดาห์ กำหนดเดตไลน์ใหม่ในวันที่ 2 สิงหาคมนี้ อ้างภาวะชะงักงันด้านไอที จากปัญหาซอฟต์แวร์คราวน์สไตรก์ ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์พังทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่งานของกระทรวงพาณิชย์ก็ยังได้รับผลกระทบ จากเดิมมีกำหนดให้คำตอบเวียดนาม ซึ่งรอมานาน ภายในวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
รอยเตอร์รายงานว่า บริษัทผู้ผลิตเหล็ก GULF Coast ชาวประมงกุ้งแถบอ่าวทางใต้ของสหรัฐ และเกษตรกรเลี้ยงผึ้งคัดค้านการยกระดับสถานะเวียดนาม แต่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ค้าปลีกและกลุ่มธุรกิจอื่นๆ
การอัพเกรดเวียดนามจะส่งผลให้ลดโทษทางภาษีที่สหรัฐใช้ในมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดต่อสินค้านำเข้าจากเวียดนาม
ชนะจีน VS ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ :
นักวิเคราะห์ระบุว่า การแจ้งข่าวลบตรงกับวันพิธีศพของนายเหวียน ฝู จ่อง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ผู้มีอำนาจสูงสุด อาจทำลายความสัมพันธ์เวียดนามและสหรัฐ ซึ่งฝ่ายสหรัฐทำงานอย่างหนักเพื่อส่งเสริมในยามที่ต้องแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์กับจีนเพิ่มมากขี้น
กำหนดเส้นตาย 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยกระทรวงพาณิชย์กลายเป็นความอึดอัดใจที่ยากจะจัดการได้ เนื่องจากพิธีศพขึ้นพร้อมกันในวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งนายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศสหรัฐเข้าร่วมพิธีศพ ในช่วงเริ่มทริปเยือนเอเชียด้วย ทั้งนี้ ในระหว่างเป็นหัวหน้าพรรค นายจ่องใช้นโยบายต่างประเทศแบบปฏิบัติได้ ซึ่งรวมถึงการทะนุถนอมความสัมพันธ์กับสหรัฐ
นายอเล็กซานเดอร์ วูหวิง นักวิเคราะห์จากสถาบันเอเชีย-แปซิฟิกด้านความมั่นคงศึกษา กล่าวว่า เป็นการตัดสินใจที่เจ็บปวดสำหรับรัฐบาลไบเดน เนื่องจากในอีกฟากหนึ่งต้องแข่งขันกันระหว่างการจีบเวียดนามกับการทำให้แรงงานในประเทศรวมถึงกลุ่มล็อบบี้อุตสาหกรรมพอใจหรือ สงบลงได้ เมื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 5 พ.ย. ใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว
“การเสียชีวิตของนายจ่องอาจเพิ่มความกดดันมากขึ้นแก่สหรัฐที่จะจีบเวียดนามในบริบทการแข่งขันระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งวันแรกๆที่เวียดนามมีผู้นำคนใหม่นั้นสำคัญในการกำหนดทิศทางอนาคตของเวียดนาม” นายวูหวิงกล่าว ซึ่งการตัดสินใจจะขึ้นกับการให้น้ำหนักระหว่างความกังวลต่อการเลือกตั้งกับความกังวลในการแข่งขันกับจีน อย่างไหนที่มากกว่ากัน และทำเนียบขาวต้องการที่จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของกระทรวงพาณิชย์ หรือเพื่อที่จะส่งเสริมให้กระทรวงพาณิชย์ตัดสินใจอย่างไม่อคติ หรือไม่ด้วย
สถานะ NME ขวางคลอง :
จากการค้นคว้าเอกสาร Congresstional Research พบว่า ไม่นานหลังจากสหรัฐฟื้นความสัมพันธ์ทางการค้ากับเวียดนามจนเป็นปกติ (normal trade relations หรือ NTR) ในปี 2001 สหรัฐกำหนดให้เวียดนามเป็น เศรษฐกิจที่ไม่ใช้กลไกตลาด “nonmarket economy” (NME) ตามกฎหมายการค้าเพื่อจุดประสงค์ในการตอบโต้การทุ่มตลาดและตอบโต้ทางอากร (AD/CVD) เวียดนามส่งหนังสือให้ยกเลิกสถานะดังกล่าวอย่างเป็นทางการก่อนวันเยือนเวียดนามของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อเดือนกันยายน ปี 2023
ผลจากการเยือนได้มีแถลงการณ์ร่วมยกระดับความสัมพันธ์ขึ้นเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมระหว่างนายไบเดนและนายจ่อง ไบเดนกล่าวว่า สหรัฐอเมริกาจะทบทวนคำขอให้ยกเลิกสถานะเศรษฐกิจไม่ใช้กลไกตลาดอย่างรวดเร็วเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายสหรัฐ และเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ปี 2023 กระทรวงพาณิชย์ เริ่มทบทวนสถานะ NME นับตั้งแต่นั้น สมาชิกคองเกรสบางคนแสดงความกังวลว่าเวียดนามสามารถทำตามเงื่อนไขของการเป็นเศรษฐกิจตลาดได้หรือไม่
กระทรวงพาณิชย์มีอำนาจตามกฎหมายในการกำหนดประเทศที่มีสถานะ NME เพื่อจุดประสงค์ของกฎหมายตอบโต้การทุ่มตลาดและมาตรการตอบโต้การอุดหนุน ซึ่งประเทศ NME คือ ประเทศที่ไม่ดำเนินการตามกฎตลาดด้านต้นทุนหรือโครงสร้างทางราคา ดังนั้นการขายสินค้าในประเทศดังกล่าวไม่ได้สะท้อนราคาสินค้าที่ยุติธรรม
พิจารณา 5 ปัจจัยเป็น NME ได้แก่ ค่าเงินสามารถถูกเปลี่ยนแปลงได้ ,อัตราค่าจ้างเกิดจากการต่อรองระหว่างแรงงานและผู้ปกครองโดยเสรี, อนุญาตให้มีการร่วมทุนหรือการลงทุนจากต่างชาติ , รัฐบาลเป็นเจ้าของหรือควบคุมวิธีการผลิต ทั้งยังควบคุมการจัดสรรทรัพยากรและการตัดสินใจด้านราคาและผลิตภัณฑ์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอาจพิจารณาปัจจัยอื่นๆที่เห็นว่าเหมาะสมร่วมด้วย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จัดให้เวียดนามอยู่ในบัญชี NME ในปี 2002 ระหว่างการสอบสวนการตอบโต้ทุมตลาดในการส่งออกปลาบาซาหรือปลาเผาะ
กระทรวงพาณิชย์แจ้งให้ทราบถึงผลตัดสินใจภายในวันที่ 26 กรกฎาคม 2024 คิดเป็นเวลา 270 วันนับตั้งแต่เริ่มกระบวนการทบทวน แต่ต้องขอเลื่อนออกไปก่อนตามข้างต้น
กว่า 10 ปีที่ผ่านมา เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและหนึ่งในคู่ค้า 10 อันดับของสหรัฐ เวียดนามเป็นแหล่งนำเข้ารายใหญ่ทั้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ เซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วน เสื้อผ้าและรองเท้า สหรัฐนำเข้าเครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้าจากเวียดนามมากเป็นอันดับ 2 รองจากจีน
สำหรับเหตุผลคัดค้านการอัพเกรดเวียดนาม ซึ่งเป็นหนึ่งใน 12 เขตเศรษฐกิจที่สหรัฐกำหนดว่าไม่ใช้กลไกตลาด รวมถึงจีน รัสเซีย เกาหลีเหนือและอาเซอร์ไบจาน แย้งว่า เวียดนามไม่ได้มีการดำเนินการนโยบายที่เป็นรูปธรรมอย่างเอาจริงเอาจัง และได้ดำเนินการเหมือนเศรษฐกิจที่รัฐวางแผนจากส่วนกลางโดยพรรคคอมมิวนิสต์
ตามการรายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ในปี 2022 ระบุว่า จำนวนของธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของในเวียดนามลดลงอย่างมาก แต่ยังคงมีสัดส่วน 30% ของจีดีพี รัฐบาลยังเฝ้าติดตามนโยบายค่าเงินของเวียดนามอย่างแข็งขัน ซึ่งสหรัฐสอบสวนประเด็นนี้ก่อนที่สองประเทศบรรลุข้อตกลงทวิภาคีในเดือนกรกฎาคม ปี 2021 ทางการเวียดนามจำกัดค่าความผันผวนรายวันของค่าเงินด่องเวียดนามเมื่อเทียบดอลล่าร์สหรัฐเป็น 5% ปรับจาก 3 % ในปี 2022
หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม :
ฝ่ายเวียดนามแย้งมานานแล้วว่า ควรยกเลิกสถานะเศรษฐกิจที่ไม่ใช้กลไกตลาดของเวียดนาม เนื่องจากได้ปฏิรูปเศรษฐกิจไปแล้ว และการได้รับสถานะดังกล่าวนั้นเลวร้าย สำหรับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น ซึ่งสหรัฐเองก็มองว่าความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับเวียดนามช่วยถ่วงดุลจีน
รอยเตอร์รายงานว่า ในการเยือนเวียดนามของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐและเวียดนามยกระดับความสัมพันธ์ขึ้นเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมและนางเจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐยกระดับให้เวียดนามเข้ามาอยู่ในกลุ่มเพื่อน friend-shoring เพื่อโยกย้ายห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐให้ออกห่างจากจีน โดยจัดหาห่วงโซ่อุปทานปลายทางจากเวียดนามทดแทน
สหรัฐให้คำมั่นที่จะสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนาม รวมถึงมอบเงินทุนจากรัฐบาลสหรัฐมูลค่า 2 ล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือราว 71 ล้านบาท และโครงสร้างดิจิทัล ยิ่งไปกว่านั้น ข้อตกลงภายใต้การเจรจากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ IPEF จะทำให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและเวียดนามลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 27 กรกฏาคม 2567