บริกส์คืออะไร? ทำไมรัฐบาลไทย จึงสมัครเป็นสมาชิกบริกส์ในปีนี้
บริษัทวาณิชธนกิจโกลด์แมน แซคส์ เป็นบริษัทชั้นนำของโลกโดยเป็นธนาคารเพื่อการลงทุน (Investment Bank) ทำหน้าที่ระดมทุน ซื้อขายหลักทรัพย์ ให้คำปรึกษาด้านการเงิน เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ รวมถึงการบริการทางการเงินในด้านต่างๆ เช่น การบริหารครอบงำ/ควบรวมกิจการของบริษัท การออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ เช่น กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Funds) กองทุนเพื่อการลงทุนหรือบรรษัทเพื่อการลงทุนของหลายๆ รัฐบาลในโลกนี้ล้วนใช้บริการจากโกลด์แมน แซคส์ ในการเป็นผู้บริหารเงินของกองทุนให้ทั้งนั้น บริษัทวาณิชธนกิจโกลด์แมน แซคส์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2412 โดย นายมาร์คัส โกลด์แมน นักธุรกิจการเงินเชื้อสายยิว ผู้อพยพจากเยอรมนีมาตั้งรกรากที่นิวยอร์กร่วมกับนายแซมมูเอล แซคส์ (Samuel Sachs) วาณิชธนากรชาวอเมริกันเชื้อสายยิวลูกเขยของนายโกลด์แมนนั่นเอง
เมื่อ พ.ศ.2544 แผนกวิจัยการลงทุนของโกลด์แมน แซคส์ ได้ทำรายงานเรื่องการสร้างเศรษฐกิจโลกให้ดีขึ้นด้วย “บริก (BRIC)” เป็นการรวมชื่อย่อของประเทศ 4 ประเทศ คือบราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) และจีน (China) ว่าเป็น Emerging Markets คือ กลุ่มประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ของประเทศที่กำลังพัฒนา (Developing Country)
โดยประเทศกำลังพัฒนาจะมีเศรษฐกิจภายในประเทศจะขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงเป็นผลอันเนื่องมาจากการสนับสนุนของรัฐบาลในเชิงนโยบายต่างๆ มีกระบวนการเปลี่ยนจากสถานะจากประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและมีการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นโอกาสในการลงทุนต่างๆ ได้มากมายโดยผ่านบริษัทวาณิชธนกิจโกลด์แมน แซคส์ นั่นเอง
ปรากฏว่าใน พ.ศ.2549 ประเทศทั้ง 4 ที่ว่านี้ คือบราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และจีน ได้เข้าร่วมประชุมกันที่เมืองเยคาเตรินบุร์ก ประเทศรัสเซีย เพื่อก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศขึ้นชื่อ “บริก (BRIC)” ตามงานวิจัยของบริษัทโกลด์แมน แซคส์ ซึ่งในเวลาต่อมาประเทศแอฟริกาใต้เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกด้วยใน พ.ศ.2553 จึงทำให้เกิดชื่อองค์การระหว่างประเทศใหม่ว่า “บริกส์ (BRICS)” และต้นปีนี้เอง (พ.ศ.2567) กลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) ได้ขยายตัวรับสมาชิกใหม่เพิ่มอีก 5 ประเทศ คือ อียิปต์, เอธิโอเปีย, อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ทำให้กลุ่มประเทศบริกส์ดูน่าเกรงขามและยิ่งใหญ่ขึ้นมาอย่างมาก เพราะมีสมาชิกที่เป็นชาติมหาอำนาจอย่าง จีนและรัสเซีย รวมทั้งอีกหลายประเทศที่ทรงอิทธิพลในแต่ละทวีป เช่น แอฟริกาใต้และบราซิล
ในเมื่อกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งนี้มีจำนวนสมาชิกมากขึ้น จะทำให้ครอบคลุมประชากรราว 3.5 พันล้านคน หรือราว 45% ของประชากรโลก และหากพิจารณาในแง่มูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่มบริกส์ มีมูลค่ากว่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 28% ของมูลค่ารวมของเศรษฐกิจโลก ยิ่งไปกว่านั้นประเทศสมาชิกกลุ่มบริกส์ยังเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบราว 44% ของโลกอีกด้วย
จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลไทยจะส่งสารแสดงเจตจำนงเพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศบริกส์ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ เนื่องจากรัฐบาลไทยในเวลานี้เชื่อว่าการเป็นสมาชิกบริกส์จะทำให้มีทางเลือกทางเศรษฐกิจหลากหลายขึ้น สามารถกระจายความสัมพันธ์ทางการเงิน และห่วงโซ่ซัพพลาย และอาจได้รับการสนับสนุนทางการเงินในกรณีที่เกิดวิกฤตขึ้นอีกด้วย อาจเป็นเพราะรัฐบาลไทยเชื่อว่าอนาคตทางเศรษฐกิจของไทยเชื่อมโยงอยู่กับจีนเป็นสำคัญเนื่องจากจีนเป็นชาติผู้ก่อตั้ง กลุ่มบริกส์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทย เป็นทั้งคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุด คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 135,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจีนก็เป็นหลักสำหรับการท่องเที่ยวไทย
ความจริงแล้วกลุ่มประเทศบริกส์เป็นเพียงการรวมกลุ่มกันแบบหลวมๆ เพื่อพยายามที่จะผลักดันการสถาปนาเงินตราของโลกสกุลใหม่ขึ้นแทนการที่ต้องใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐและเงินยูโรของสหภาพยุโรป ซึ่งก็ยังไม่เคยทำอะไรในด้านนี้ได้สำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันเลย แม้ว่าจีนจะพยายามผลักดันเอาเงินหยวนมาเป็นเงินตราของกลุ่มประเทศบริกส์เป็นอย่างมากก็ตาม และปัจจุบันประเทศในกลุ่มบริกส์มีเพียงประเทศอินเดียประเทศเดียวที่มีเศรษฐกิจโดยรวมเป็นบวกประเทศกลุ่มบริกส์นอกนั้นล้วนแล้วแต่อยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั้งสิ้น โดยเฉพาะรัสเซียที่ทำสงครามกับยูเครนมากว่า 2 ปีแล้ว ถูกฝ่ายประเทศตะวันตกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย บุคคลหรือบริษัทที่มาจากรัสเซียจนทำให้เศรษฐกิจรัสเซียย่ำแย่ นอกจากนี้ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของจีนพากันล้มละลายและหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นของจีนจำนวนไม่น้อยก็อยู่ในสถานะที่ใกล้จะล้มละลายเช่นกัน
ดังนั้น แท้ที่จริงแล้วการที่รัฐบาลไทยจะส่งสารแสดงเจตจำนงเพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศบริกส์ ดูออกจะเป็นการเร่งรีบไม่ได้พิจารณาผลของการนี้อย่างถ่องแท้ น่าจะเป็นเพราะรัฐบาลไทยต้องการที่จะโชว์ผลงานของรัฐบาลให้กับประชาชนชาวไทยมากกว่าเป็นนโยบายต่างประเทศที่เหมาะสม เนื่องจากรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่สามารถดำเนินนโยบายที่ได้ให้คำมั่นสัญญาต่อประชาชนก่อนการเข้ารับตำแหน่งได้เลย
ไม่ว่าจะเป็นการสมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือโออีซีดี, การได้วีซ่าฟรีสำหรับคนไทยในการเข้าประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป, ไม่มีความก้าวหน้าในการตกลงทางการค้ากับสหภาพยุโรป และนโยบายเรือธงของรัฐบาลคือ “ดิจิทัลวอลเล็ต” และโครงการแลนด์บริจด์ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสำเร็จนั่นเอง
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 31 กรกฏาคม 2567