ข่าวดีอาเซียน รายงานเผยอีก 10 ปี GDP และ FDI โตเร็วกว่าจีน
นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เศรษฐกิจจีนโตเร็วกว่าเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) มาอย่างต่อเนื่อง แต่ตามตัวเลขประมาณการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เศรษฐกิจจีนกับอาเซียนจะโตในอัตรา 4.6% เท่ากันในปี 2024 นี้ แล้วนับตั้งแต่ปี 2025 เศรษฐกิจอาเซียนจะโตเร็วกว่าเศรษฐกิจจีน
นอกจากประมาณการของ IMF แล้ว เมื่อเร็ว ๆ นี้มีรายงานฉบับใหม่ที่คาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ทั้งเศรษฐกิจและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของ 6 ประเทศเศรษฐกิจหลักของอาเซียน (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม) จะเติบโตเร็วกว่าของจีน เนื่องจากได้รับประโยชน์จากการที่ประชากรเพิ่มจำนวนขึ้น และการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกที่นักลงทุนสร้างห่วงโซ่อุปทานตามกลยุทธ์ “China plus One” เร็วขึ้น
รายงานที่ว่านี้ คือ รายงานคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2024-2034 (Navigating High Winds : Southeast Asia Outlook 2024-2034) ที่จัดทำโดย อังสนาเคาน์ซิล (Angsana Council) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานเพื่อเพิ่มการเติบโตของเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจและการบริหารจัดการ เบน แอนด์ โค (Bain & Co.) จากสหรัฐ และธนาคารดีบีเอส (DBS) ของสิงคโปร์ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา
รายงานนี้ระบุว่า จีดีพีเฉลี่ยของ 6 ประเทศเศรษฐกิจหลักของอาเซียนในช่วงปี 2024 ถึง 2034 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5.1% ซึ่งมากกว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะโตระหว่าง 3.5% ถึง 4.5%
เมื่อแยกรายประเทศ คาดว่าจีดีพีของเวียดนามจะโตเร็วที่สุดในอัตราเฉลี่ย 6.6% ตามด้วยฟิลิปปินส์ 6.1% ขณะที่สิงคโปร์จะโตช้าสุดที่อัตรา 2.5%
ในแง่มูลค่าจีดีพี รายงานดังกล่าวคาดการณ์ว่า จีดีพีที่แท้จริง (Real GDP) ของจีน ในปี 2034 จะอยู่ที่ 154 ล้านล้านหยวน (21 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือคิดเป็นประมาณ 5 เท่าของ 6 ประเทศอาเซียนรวมกัน ขณะที่ฐานข้อมูลของ IMF ประมาณการว่า จีดีพีที่แท้จริงของจีน ในปี 2029 จะคิดเป็น 4.3 เท่าของจีดีพี 10 ประเทศอาเซียนรวมกัน
ส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) นั้น เมื่อปี 2023 มูลค่า FDI รวมของ 6 ประเทศอาเซียนมากกว่าจีนเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ โดยมีมูลค่า FDI รวมกัน 206,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มูลค่า FDI ของจีนอยู่ที่ 42,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในรายงานไม่ได้คาดการณ์ตัวเลขที่แน่นอนของมูลค่า FDI ในช่วง 10 ปีข้างหน้า แต่คาดการณ์ว่า อาเซียนจะสามารถรักษาโมเมนตัมการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของกระแสเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเอาไว้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่า อาเซียนได้ดึงดูด FDI เข้าไปยังภาคอุตสาหกรรมสำคัญที่เกิดขึ้นใหม่ อย่างการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) การผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และการให้บริการศูนย์ข้อมูล (Data Center)
นอกจากนั้น รายงานระบุว่า ไม่ใช่แค่ทุนจากตะวันตกที่จะเคลื่อนย้ายออกจากจีน แต่ทุนจีนเองก็จะเคลื่อนย้ายออกจากประเทศของตนเองเช่นกัน ทำให้มีแนวโน้มว่าจีนจะเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน
คาดการณ์โดยรวมเป็น “ข่าวดี” สำหรับอาเซียน แต่รายงานก็มีคำเตือนด้วยว่า บางปัจจัยที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่พึ่งพามาตลอด อย่างเช่น ต้นทุนแรงงานที่ต่ำ และการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี จะไม่ขับเคลื่อน FDI คุณภาพสูง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 4 สิงหาคม 2567