บริษัทญี่ปุ่นมอง "จีน" น่าลงทุนน้อยลง แต่ถอนตัวยังไม่ง่าย
ผลสำรวจของเทโคกุ ดาต้าแบงก์ เผยว่าบริษัทญี่ปุ่นมีแนวโน้มทำธุรกิจในจีนน้อยลง ทั้งจากค่าแรงที่สูงขึ้น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน และพฤติกรรมของทางการที่คาดเดาได้ยากขึ้น กระนั้นการถอนตัวออกจากจีนกลับมีการควบคุมที่เข้มงวด
วันที่ 6 สิงหาคม 2024 นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานผลสำรวจของบริษัทวิจัยเทโคกุ ดาต้าแบงก์ (Teikoku Databank) พบว่าบริษัทญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะดำเนินกิจการในจีนน้อยลง เนื่องด้วยความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทาน กฎหมายต่อต้านการจารกรรม และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น
จากรายงานล่าสุดของเทโคกุ ดาต้าแบงก์ บริษัทวิจัยซึ่งตั้งอยู่ในกรุงโตเกียว พบว่า ณ เดือนมิถุนายน 2024 มีบริษัทญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจในจีนทั้งหมด 13,034 แห่ง น้อยกว่าจำนวนสูงสุดที่เคยได้สำรวจไว้ในปี 2012 อยู่ 9.4%
จำนวนบริษัทมีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2016 แต่ในการสำรวจปีนี้ พบว่ามีจำนวนบริษัทเพิ่มขึ้น 328 แห่ง เมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งล่าสุดในปี 2022
แม้จะมีการเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ผู้เขียนรายงานของเทโคกุระบุว่า ธุรกิจญี่ปุ่นกำลังลดความสนใจที่จะตั้งกิจการในจีน
ไดสุเกะ อิจิมะ (Daisuke Iijima) นักวิจัยจากเทโคกุ ดาต้าแบงก์กล่าวว่า “มีแนวโน้มว่าความต้องการของบริษัทต่าง ๆ ที่จะดำเนินธุรกิจในจีนจะลดลงมากกว่าที่ข้อมูลแสดง”
อิจิมะกล่าวเสริมว่า ต้นทุนแรงงานที่ต่ำ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยดึงดูดบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากให้ไปลงทุนที่จีน ได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่ความตึงเครียดของจีนกับสหรัฐได้เพิ่มความเสี่ยงให้กับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจอีกด้วย
“บริษัทจำนวนมากมองว่ามีความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการ หากวางสถานะจีนเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทาน และต่างพากันผนวกรวมบริษัทย่อยในท้องถิ่น (จีน) หรือย้ายไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน”
ตามรายงานของเทโคกุ ระบุว่า บริษัทญี่ปุ่นในจีนส่วนใหญ่ ซึ่งมากถึง 39% อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต และบริษัทเหล่านั้นต่างเกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นสินค้าที่สหรัฐกีดกันหากผลิตในจีน
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุด้วยว่าบริษัทญี่ปุ่นมองว่าจีนมีพฤติกรรมที่คาดเดายากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากในปี 2023 ทางการจีนจับกุมพนักงานชาวญี่ปุ่นของแอสเทลลัส ฟาร์มา (Astellas Pharma) ด้วยข้อหาจารกรรม ซึ่งทำให้บริษัทต่างชาติจำนวนมากกังวลเกี่ยวกับระบบกฎหมายที่ไม่โปร่งใสของจีน
อิจิมะกล่าวว่าผลสำรวจไม่สามารถสะท้อนทัศนคติที่เสื่อมถอยลงให้เห็นได้อย่างเต็มที่ เพราะจีนมีกระบวนการปิดสำนักงานหรือโรงงานของบริษัทต่างชาติที่เข้มงวด ทำให้บริษัทเหล่านั้น ถอนกิจการออกจากประเทศได้ยากลำบาก
สอดคล้องกับรายงานของธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) ที่ได้ทำการสำรวจบริษัทญี่ปุ่นมากกว่า 500 แห่ง ว่าประเทศใดเหมาะแก่การทำธุรกิจไปอีกสามปีข้างหน้า พบว่า จีนตกมาอยู่อันดับ 3 ซึ่งเป็นอันดับที่ต่ำสุดในรอบสิบปี และเวียดนามขึ้นมาอยู่อันดับ 2 เป็นครั้งแรกตั้งแต่เริ่มการสำรวจในปี 1989
อย่างไรก็ตาม จีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลกและยังคงเป็นตลาดที่น่าดึงดูดสำหรับหลาย ๆ ธุรกิจ
ความรักที่ประเทศนี้มีต่ออาหารญี่ปุ่นกำลังสร้างกำลังใจให้แก่เจ้าของร้านอาหาร รวมถึง โทริดอลล์ โฮลดิ้งส์ (Toridoll Holdings) เจ้าของแบรนด์ร้านอาหารเนื้อย่าง นิคุ โนะ ยามะ กิว (Niku no Yama Gyu) ซึ่งกำลังเปิดสาขาแรกในจีน ที่นครเซี่ยงไฮ้ในช่วงฤดูร้อนนี้
อุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงอายุก็เป็นโอกาสที่น่าจับตา เนื่องจากจีนมีประชากรผู้สูงอายุมากขึ้น เมื่อเดือนมีนาคม บริษัทให้เช่าและขายอุปกรณ์ดูแลพยาบาลในญี่ปุ่น ยามาชิตะ (Yamashita) ได้จัดตั้งบริษัทในเซี่ยงไฮ้เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจในเซี่ยงไฮ้
อาราตะ นากาอิ (Arata Nagai) ผู้นำยามาชิตะในจีนกล่าวว่า “สถานการณ์ทางการเมืองของจีนมีความซับซ้อนและมีความเสี่ยง แต่เราก็เห็นโอกาสในประชากรผู้สูงอายุ 200 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรญี่ปุ่นทั้งประเทศ”
อิจิมะ จากเทโคกุ ดาต้าแบงก์ มองว่า การอพยพออกจากจีนครั้งใหญ่ของธุรกิจญี่ปุ่นไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ “บริษัทญี่ปุ่นกำลังหาวิธีสร้างระยะห่างจากประเทศจีนโดยไม่ยั่วยุรัฐบาลท้องถิ่น แต่ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่การมีอยู่ของพวกเขาจะลดลงอย่างมาก”
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 6 สิงหาคม 2567