โรงงานไทยวิกฤต ปิดกิจการเดือนละ 111 แห่ง ส่วนใหญ่เป็น SMEs สวนทางบ.ต่างชาติเปิดพรึบ
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.ได้กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ณ เดือนสิงหาคม 2567 ขยายตัวที่ 2.2-2.7 และส่งออกขยายตัว 0.8 -1.5% ส่วนเงินเฟ้อ 0.5-1.0% ซึ่งคงประมาณการจากเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา
นายผยงกล่าวว่า ในที่ประชุม กกร.ได้แสดงความห่วงใยถึงสถานการณ์ภาคการผลิตที่หดตัว ถึงแม้ว่า 6 เดือนแรกของปี 2567 จะมีจำนวนการเปิดโรงงานขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีโรงงานเปิดกิจการกว่า 1,009 แห่ง เพิ่มขึ้น 122.67% เทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
แต่ในขณะเดียวกัน จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่ามีโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นในครึ่งปีแรกแล้วกว่า 667 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 86.31% เทียบกับปีที่ผ่านมา หรือเฉลี่ย 111 แห่ง/เดือน และหากพิจารณามูลค่าโรงงานต่อโรงที่ปิดตัว พบว่ามีเงินทุนลดลงเหลือเฉลี่ย 27.12 ล้านบาทต่อโรงงาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี ที่มีการปิดโรงงานในอัตราส่วนที่เร่งขึ้น ดังนั้น กกร.จึงอยู่ระหว่างเตรียมข้อเสนอเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม อาทิ การส่งเสริมสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ (Made in Thailand)
นอกจากนี้ ที่ประชุม กกร.เห็นว่าการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงที่เหลือของปีเป็นความจำเป็นเร่งด่วนโดยเฉพาะการกระตุ้นกิจกรรมก่อสร้างภาครัฐให้กลับคืนมา ซึ่งจะช่วยหนุนภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องรวมทั้งการจ้างงานให้ฟื้นตัวดีขึ้นโดยเร็ว เติมสภาพคล่องในระบบเพื่อสนับสนุนกำลังซื้อที่อ่อนแอ
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 8 สิงหาคม 2567