รายย่อยจะไม่รอดแล้ว โดนทุนจีนไล่บี้ ร้องผ่านสมาพันธ์เอสเอ็มอี วอนรัฐบาลแก้ไขด่วน
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาพันธ์ได้รับเรื่องปัญหาทุนจีนเข้ามารุกตลาดในประเทศไทย และสร้างความเดือดร้อนต่อธุรกิจเอสเอ็มอี จากสมาชิกและผู้ประกอบการต่างๆ จำนวนมากและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และขอให้สมาพันธ์เป็นตัวกลางในการประสานงานกับนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้เร่งป้องกันและแก้ไขโดยด่วน
ทั้งนี้ ธุรกิจที่ร้องขอและกำลังถูกทุนจีนเข้ามารุกธุรกิจในไทยคือ ธุรกิจนำเที่ยวในลักษณะจีนศูนย์เหรียญ ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยี่ห้อคนไทยถูกปลอมสินค้าและละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ลักษณะทำของเลียนแบบที่ทำให้เข้าใจว่าผลิตโดยบริษัทคนไทย แต่มีการผลิตและนำเข้าจากจีนและจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่เจอลูกค้าที่ซื้อไปร้องเรียนมากับบริษัทผู้ผลิต (ยาสีฟันยี่ห้อคนไทย) จึงรู้ว่าถูกปลอมสินค้าและไม่ได้ขายผ่านแพลตฟอร์มนั้น หรืองานรับเหมาต่อเติมและก่อสร้างบ้าน อีกธุรกิจที่นายทุนจากจีนมาตั้งบริษัท โดยนำเข้าและใช้สินค้าผลิตจากจีนเป็นหลัก
ร้านอาหารทั่วไปเจอในลักษณะจับจองพื้นที่ตามตลาดนัดและแผงขายของทั่วไปแต่เป็นสินค้าจากจีน รวมถึงภาคเกษตร นอกจากเล้ง (ตัวแทนซื้อและกระจายสินค้าเกษตร) ที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยนานแล้ว กำลังขยายไปถึงคอนแทรกฟาร์มมิ่ง (ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า) เข้าไปตีเหมาราคาและจ้างปลูกผลไม้และสินค้าเกษตร ที่กังวลคือจ้าง “นอมินี” ซื้อที่ดิน เพื่อเพาะปลูกแทนการทำสัญญาซื้อกับผู้ปลูกคนไทยโดยตรง ขณะนี้กำลังเจอปัญหาหอมแดง กระเทียมไทย ที่แหล่งผลิตในภาคเหนือมีผลผลิตล้นตลาด จากผลผลิตปีนี้สูงและบางส่วนเจอลักลอบจากชายแดน จนกระทบต่อราคาตกต่ำ
“ตอนนี้หลายธุรกิจ ไม่แค่แพลตฟอร์มออนไลน์เทมู (Temu) ที่รูปแบบทำธุรกิจเหมาทั้งระบบ กำลังเป็นปัญหาของธุรกิจไทยกำลังถูกฆ่าตัดตอน รัฐจะอ้างว่าเป็นเสรีการค้า ซึ่งก็เป็นคนละเรื่อง เปิดเสรีการค้าก็ต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และอุตสาหกรรม หรือธุรกิจในประเทศต้องประสบความเดือดร้อน รัฐบาลปล่อยปัญหาไปเรื่อยๆ ธุรกิจไทยคงปิดไปเรื่อยๆ เอสเอ็มอีไทยก็ยังเจอปัญหาเดิม คือเข้าไม่ถึงแหล่งทุน
แม้รัฐออกซอฟต์โลนแสนล้านบาท หรืออนุมัติ 5 หมื่นล้านให้ บสย.ค้ำสินเชื่อเอสเอ็มอี ก็ติดเกณฑ์เดิมๆ คือนิยามขนาดเอสเอ็มอีแต่ละธนาคารไม่เหมือนกัน และยังเลือกปล่อยกู้ให้ลูกค้าเดิมที่แข็งแรงอยู่แล้ว ไม่ได้มีการขยายถึงเอสเอ็มอีใหม่ที่แข็งแรง ตั้งใจทำธุรกิจ แค่ติดเรื่องขาดสภาพคล่อง จากวิกฤตสะสมตั้งแต่โควิด-19 ก็มีการร้องมาถึงสมาพันธ์ที่แบงก์จะโทรไปถามลูกค้าที่แข็งแรงอยู่ว่าจะให้กู้เพิ่มผ่านมาตรการรัฐที่ออกมา แต่รายที่ยื่นกู้แบบขาดสภาพคล่องจริงๆ กลับไม่ได้รับการพิจารณา” นายแสงชัยกล่าว
นายแสงชัยกล่าวด้วยว่า จากผลกระทบต่อเอสเอ็มอีที่รุนแรงและกระจายวงกว้างมากขึ้น ในสัปดาห์หน้าสมาพันธ์จะมีการประชุมด่วนระหว่างสมาพันธ์ กับสมาคมพันธมิตรต่างๆ อาทิ สมาคมอีคอมเมิร์ซไทยและสมาคมที่เกี่ยวข้อง สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมค้าปลีก-ค้าส่งไทย เป็นต้น เพื่อรวบรวมปัญหาและหารือถึงข้อเสนอและแนวทางที่ผู้ประกอบการขอให้รัฐบาลแก้ไขและป้องกันการรุกของทุนต่างชาติ ไม่เฉพาะจากจีนเท่านั้น เพราะกำลังเป็นเรื่องใหญ่ที่สร้างความเดือดร้อนกับธุรกิจไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอีไทย
“กำลังเชิญประชุมกับทุกสมาคมนอกจากที่เป็นพันธมิตรเดิม เพราะรู้ว่าเดือดร้อนกันหมด เราต้องการระดมความเห็น และสร้างพลังในการช่วยกันขับเคลื่อน ร้องขอให้รัฐบาลออกมาดูแล ซึ่งก่อนหน้านี้สมาพันธ์และพันธมิตรก็ร้องขอรัฐบาลในหลายเรื่อง ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขได้เร็วและตรงปก โดยเฉพาะแก้เรื่องการเข้าถึงแหล่งทุน ต้นทุนสูง อุปสรรคจากกฎหมาย ซึ่งหลังหารือกันแล้วจะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปในสัปดาห์หน้าถัดจากนั้น
ยิ่งในฤดูกาลขายที่จะเกิดขึ้นปลายปี เราก็อยากให้สินค้าที่ขายได้เป็นสินค้าผลิตและจำหน่ายของคนไทย ไม่ใช่เจอสินค้าถูกจากนอกประเทศมาแย่งตลาด ที่ตอนนี้สินค้าเศรษฐกิจนอกระบบกำลังเข้ามากลืนธุรกิจและตลาดคนไทย” นายแสงชัยกล่าว
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 8 สิงหาคม 2567