SACIT ผลักดัน "Crafts Bangkok 2024" งานศิลปหัตถกรรมไทย ต่อยอดสู่เวทีโลก
สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย เตรียมจัด'ko "Crafts Bangkok 2024" ต่อยอดอัตลักษณ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยสู่เวทีโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ตั้งเป้าเงินสะพัดกว่า 150 ล้านบาท
นางพรรณวิลาส แพพ่วง รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย หรือ SACIT กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายมุ่งเน้นส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้แก่ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ของสินค้างานศิลปหัตถกรรมไทย ให้ทันสมัยและมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย(องค์การมหาชน) หรือ SACIT จึงจัดงาน Crafts Bangkok ขึ้นมาต่อเนื่องกว่า 6 ปีแล้ว
สำหรับปี 2567 จะจัดงาน "Crafts Bangkok 2024" ระหว่างวันที่ 24-28 ส.ค.นี้ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ภายใต้แนวคิด "Sustainable Arts and Crafts" เน้นการเชื่อมโยงธรรมชาติและนวัตกรรม เพื่อสร้างความยั่งยืนในวงการศิลปะและงานหัตถกรรม ซึ่งรวมผู้ประกอบการณ์กว่า 400 คูหา
"เราจัดงาน Crafts Bangkok มาตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา และได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 614.62 ล้านบาท และในปี 2567 คาดว่าจะสามารถสร้างเม็ดเงินสะพัดได้ไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาท โดยปีนี้เป็นงานคราฟต์ที่จะไปต่อยอดอัตลักษณ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยสู่เวทีโลก ให้ศิลปหัตถกรรมไทยให้ทันสมัยและมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น"
ทั้งนี้ สินค้าแฮนด์เมดหรืองานคราฟต์ดีไซน์สวย งานศิลปหัตถกรรมทุกประเภทที่มีความสร้างสรรค์ มีเอกลักษณ์โดดเด่นน่าสนใจ พร้อมทั้งมีความใส่ใจในการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและรักษ์โลก จะถูกรวบรวมมาจัดแสดงและจำหน่าย เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนสู่เศรษฐกิจฐานราก เป็นการสนับสนุนงานแฮนด์เมดของชุมชน สืบสานและต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมชั้นสูงไม่ให้หายไปตามกาลเวลา
นางพรรณวิลาส กล่าวว่า งาน "Crafts Bangkok 2024" เป็นงานแสดงสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยและงานคราฟต์ที่ยิ่งใหญ่แห่งปี มีส่วนสำคัญในการช่วยส่งเสริมสนับสนุนสร้างความเข้มแข็งให้แก่งานหัตถกรรมไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางงานศิลปหัตถกรรมในระดับภูมิภาคอาเซียน และเพื่อขยายตลาดงานศิลปหัตถกรรมให้แพร่หลายและตรงกับรสนิยมของผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาคของโลก ทั้งยังสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
ส่วนนี้จะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นำไปสู่การขยายตลาดส่งออกงานหัตถกรรมไทย สอดรับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมที่มีรูปแบบที่ร่วมสมัย เป็นการแสดงพลังแห่งความมุ่งมั่นของการพัฒนาต่อยอด จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้แก่วงการศิลปหัตถกรรมไทย โดยคาดว่าเมื่อสิ้นสุดการจัดงานตลอด 5 วัน จะมีเม็ดเงินสะพัดกว่า 150 ล้านบาท
การจัดงานในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้มีเม็ดเงินหมุนเวียน สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการที่มาจำหน่ายสินค้าในงานแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ด้านงานศิลปหัตถกรรม แก่ผู้ที่มีความสนใจด้านงานอาร์ต งานหัตถศิลป์ ได้แลกเปลี่ยนทัศนะ เรียนรู้เทคนิค วิธีการทำงาน จาก ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรมสมาชิกของ สศท. รวมถึงศิลปินจากต่างประเทศที่นำผลงานมาจัดแสดงถึง 6 ประเทศ ได้แก่
1.Indigenous Crafts Promotion Division Department of Media, Creative Industry and Intellectual Property, Ministry of Industry, Commerce and Employment, Bhutan
2. Hacienda Crafts Envirosocial Design Company, Philippines.
3. World Crafts Council-Asia Pacific: Craft Master (Gold Embroidery) (งานปักทอง)
4. Association of Exporters and Producers of Indonesian Handicraft (ASEPHI) JAKARTA, Indonesia)
5. Bella Interiors Co.,Ltd. Myanmar
6."Paris - Villefranche du Perigord (Ateliers d'Art de France: Revelation China)"
นอกจากนี้ยังมีผลงานจากศิลปินชาวไทยที่มีชื่อเสียงในระดับสากลอีกหลายท่าน อาทิ สถาปนิกและนักออกแบบเจ้าของรางวัล Designer of the Year 2019 สาขา Product Design ผู้ทำงานให้แบรนด์ดังระดับโลกมากมายอย่าง Serax จากเบลเยียม HARTÔ จากฝรั่งเศส และ PLATO ของไทย, ผู้สร้างสรรค์แบรนด์อัญมณี และเครื่องประดับ สุดยอดนักออกแบบแฟชั่นไทยที่ผลักดันสู่ AEC Fashion Hub เจ้าของแบรนด์เครื่องประดับแฟชั่น Trimode, ศิลปินและช่างภาพแฟชั่นฝีมือดีระดับแถวหน้าของเมืองไทยที่ทำงานให้กับนิตยสารแฟชั่นระดับโลกอย่างลอฟฟิเซียล ประเทศฝรั่งเศส ผู้มีประสบการณ์กว่า 15 ปี ในเรื่องของการสร้างสรรค์ไอเดียผ่านนิทรรศการภาพถ่าย เป็นต้น
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 15 สิงหาคม 2567