วิกฤตทุนจีนถล่มไทย "SME กระอัก" จี้รัฐเร่งคุมกำเนิด
SME กระอัก สินค้าจีนท่วมตลาดไทยกระทบหนัก ชี้ราคาถูก ละเมิดลิขสิทธิ์ วอนภาครัฐช่วยด่วน เพิ่มมาตรการป้องกันการผูกขาดตลาด ส่งเสริมทุนไทยพัฒนานวัตกรรม สร้างแบรนด์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เผย TEMU มาอ่วมแน่โดยเฉพาะช้อปออนไลน์
การเข้ามาของสินค้าจีนต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จากจุดเริ่มต้นของสินค้าเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ วันนี้ขยายวงกว้างไปยังสินค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงพลาสติก ฯลฯ
ด้วยจุดเด่นด้านราคา จึงได้รับความสนใจ ยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา จึงกลายเป็นตัวเลือกที่คนไทยนิยม พร้อมกับการทะลักเข้ามาตามดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ได้รับผลกระทบหนักที่สุดหนีไม่พ้น “SME”
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการรายย่อย SME กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างหนักจากการแข่งขันทางธุรกิจกับทุนจีนที่เข้ามาในประเทศอย่างต่อเนื่อง
“วันนี้ภัยจากทุนจีนกับปัญหาการแข่งขันทางการค้าและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กระจายเป็นวงกว้างไปหลายธุรกิจ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยรายย่อยอยู่ยาก อาทิ กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสัญชาติจีน ในย่านห้วยขวาง เยาวราช สำเพ็ง นครราชสีมาโมเดล สินค้าราคาถูก ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ทะลักมาจากจีนและกลืนผู้ประกอบ SME ดั้งเดิมที่ต้านทานปรับตัวไม่ไหว”
หากย้อนกลับไปในอดีต ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะพบว่าประเทศไทยขาดดุลการค้ากับจีนมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 14 ปี ตั้งแต่ปี 2553 ถึงปี 2566 โดยมียอดขาดดุลสะสมสูงถึง 1.27 ล้านล้านบาท สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าสินค้าจากจีนเข้ามาในตลาดไทยในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่สินค้าไทยกลับมีส่วนแบ่งในตลาดจีนที่ค่อนข้างน้อย
ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นคือ ผู้ประกอบการ SME ไทยเสียเปรียบ สัดส่วนการส่งออกของผู้ประกอบการ SME ไทยไปยังจีนมีเพียง 20% เท่านั้น ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่ (LEs) มีสัดส่วนถึง 80% ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายย่อยขาดโอกาสในการขยายตลาดและสร้างรายได้
เช่นเดียวกับการนำเข้าจากจีน ซึ่งสัดส่วนการนำเข้าของผู้ประกอบการ SME ไทยจากจีนอยู่ที่ 27% ขณะที่ บริษัทขนาดใหญ่ นำเข้าถึง 73% สะท้อนให้เห็นว่าสินค้าจากจีนมีการแพร่หลายในตลาดไทยเป็นอย่างมาก
ขณะที่ GDP ของ SME ไทยต่ำกว่าจีน สัดส่วน GDP ของ SME ไทยอยู่ที่ 35% ขณะที่จีนมีสัดส่วน GDP ของ SME สูงถึง 60% แสดงให้เห็นว่าภาค SME ของไทยยังมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับจีน และยังขาดการพัฒนาอย่างเต็มที่ และประเทศจีนยังเป็นประเทศคู่ค้ารายสำคัญสินค้าเกษตรโดยมีสัดส่วนการส่งออกจากไทยไปจีน 28% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด มูลค่าราว 5 แสนล้านบาท รองมา คือ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศสหรัฐอเมริกาตามลำดับ ในสัดส่วนประเทศละ 10%
“เราต้องตรวจสอบอย่างจริงจังว่าการเข้ามาของธุรกิจดังกล่าวที่ผ่านมา ขั้นตอนอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ การดำเนินธุรกิจอยู่ในระบบภาษีที่ถูกต้องหรือไม่ ปัญหาหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยรับผลกระทบจำนวนมาก คือ การละเมิดลิขสิทธิ์ปลอมแปลงสินค้าไทยจำหน่ายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์และร้านค้าต่างๆสร้างความเสียหายให้แก่ผู้ประกอบการไทย และสินค้านั้นมีคุณภาพต่ำ ไม่ได้มาตรฐานและไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค”
ที่ผ่านมาเราต้องพบกับทัวร์ศูนย์เหรียญ ราคาถูก คุณภาพต่ำ บังคับซื้อ กระจายรายได้ผู้ประกอบการจีนแบบรับช่วงจ่าย แย่งงานมัคคุเทศก์ไทย กระทบผู้ประกบการทั้งร้านค้า ร้านอาหาร ภัตตาคาร ไนท์คลับ (กิจกรรมผิดกฎหมาย) ร้านนวด สปาไทย รถเช่า ที่พักโรงแรม เป็นต้น ต้องมุ่งเน้นการส่งเสริมร่วมมือกับทางการจีนเพื่อสร้างการท่องเที่ยวคุณภาพเชิงสร้างสรรค์ที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มร่วมกันอย่างยั่งยืนตามหมุดหมายที่ 2 ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13
“การเข้ามาของทุนจีนในประเทศไทยส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยรายย่อยอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์ สินค้าจีนราคาถูกและละเมิดลิขสิทธิ์เข้ามาแย่งชิงตลาด ทำให้ผู้ประกอบการไทยรายย่อยสู้ราคาไม่ไหว นอกจากนี้ ทุนจีนยังเข้ามากว้านซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นและผู้ประกอบการไทยเข้าถึงยากขึ้น รัฐบาลควรมีมาตรการป้องกันการผูกขาดตลาด และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนานวัตกรรมและสร้างแบรนด์สินค้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน”
นายแสงชัย กล่าวอีกว่า การแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงจากการเข้ามาของทุนจีนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ของไทยอย่างหนัก โดยเฉพาะในภาคการผลิตและการค้า ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจไทย สินค้าจากจีนที่มีราคาถูกกว่าและหลากหลายกว่า
ทำให้ผู้ประกอบการ SME ไทยหลายรายสู้ราคาไม่ไหว โดยเฉพาะในภาคการผลิต เช่น อาหาร สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์จากโลหะ ซึ่งมีผู้ประกอบการ SME จำนวนมากต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนการผลิตสูง และขาดแคลนเงินทุนในการพัฒนาธุรกิจ
นอกจากนี้ การเติบโตของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากจีน เช่น TEMU ยังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME ไทยที่ทำธุรกิจออนไลน์ โดยเฉพาะผู้ขายรายย่อยที่ไม่มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งและขาดกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสม อย่างไรก็ดีสิ่งสำคัญตอนนี้คือ วอนภาครัฐเร่งหาทางออก เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ซึ่งภาครัฐต้องออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ไทย อาทิ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล กระตุ้นให้ผู้ประกอบการ SME นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน
การสร้างแบรนด์และช่องทางการตลาด :
สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SME สร้างแบรนด์สินค้าและพัฒนาช่องทางการตลาดออนไลน์ เพื่อขยายฐานลูกค้าและเพิ่มยอดขาย ,การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME ไทยเข้าถึงตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ผ่านการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) และการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์, การปราบปรามการกระทำผิดกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ประกอบการที่กระทำผิดกฎหมาย เช่น การหลีกเลี่ยงภาษี และการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย
นอกจากมาตรการจากภาครัฐแล้ว ผู้ประกอบการ SME เองก็ต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอดและเติบโตได้ในสภาวะการแข่งขันที่รุนแรง โดยการพัฒนาสินค้าและบริการให้มีความแตกต่างและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
อย่างไรก็ดีนโยบายของจีนมุ่งเน้นทำอย่างมีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็น “China Common Prosperity” “Belt and Road Initiative” (BRI) และ “Made in China 2025” ที่เข้ามาอย่างรวดเร็วแต่จะต้องสร้างโอกาสให้กับประเทศต่างๆได้รับประโยชน์ร่วมกันด้วย
“ประเทศไทยจะยิ้มยินดีต้อนรับการค้าเสรีนิยมที่ส่งเสริมสนับสนุนให้ประเทศไทยเจริญเติบโตไปด้วยกัน และเท่าเทียมกันทางการค้า แต่การเข้ามาต้องเป็นมิตรและไม่ทำลายระบบนิเวศทางเศรษฐกิจไทย ที่สำคัญประเทศจีนต้องเปิดเสรีทางการค้าเช่นเดียวกันด้วย” นายแสงชัย กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 16 สิงหาคม 2567