รู้กฎกติกา ESG โลก ปรับตัวไว ไม่ตกขบวน
ESG ซึ่งย่อมาจาก Environmental (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (การกำกับดูแล) เป็นคำสั้น ๆ แต่มีความหมายยิ่งใหญ่สำหรับภาคธุรกิจ เนื่องจาก ESG เป็นกรอบแนวคิดในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ที่กำลังจะเป็น “ภาคบังคับ” มากขึ้นเรื่อย ๆ
“Who Cares Wins” (ผู้ที่ห่วงใยหรือใส่ใจจะเป็นผู้ชนะ) หัวข้อรายงานหลักการลงทุนที่มีความรับผิดชอบของสหประชาชาติปี 2004 (United Nation’s Principles for Responsible Investment : PRI) ซึ่งกล่าวถึงแนวคิด ESG เป็นครั้งแรก เป็นคำที่อธิบายความสำคัญของ ESG ต่อธุรกิจได้เป็นอย่างดี
ความสำคัญด้านหนึ่งของ ESG ที่มีต่อภาคธุรกิจ คือ ESG ถูกใช้เป็นหนึ่งในเกณฑ์การพิจารณาสนับสนุนเงินทุนแก่บริษัท หากบริษัทไหนไม่ดำเนินธุรกิจตามแนวคิด ESG จะจัดหาเงินทุนได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ
ตามข้อมูลจากธนาคารโลก (World Bank) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 ทั่วโลกมีการออกตราสารหนี้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคม ความยั่งยืน และเชื่อมโยงกับความยั่งยืน (GSSS Bond) เป็นมูลค่าสูงถึง 636,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 60% ของตราสารหนี้ออกใหม่ทั้งหมดในช่วงดังกล่าว และส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2024 มูลค่าสะสมของ GSSS Bond ที่ไหลเวียนในตลาดทั่วโลกมีมากถึง 5.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ด้วยความที่ทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันถึงความสำคัญของ ESG ก็ทำให้ ESG ที่เริ่มต้นจากการเป็นแนวทาง “ภาคสมัครใจ” กำลังจะกลายเป็น “ภาคบังคับ” ที่มีความเข้มงวดมากขึ้นเรื่อย ๆ และหากบริษัทไหนเลี่ยงก็จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี
ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีการออกกฎระเบียบด้าน ESG บังคับใช้แล้วเป็นจำนวนมาก ซึ่งกฎระเบียบต่าง ๆ นั้นมีความหลากหลาย และไม่ได้บังคับใช้เพียงภายในประเทศนั้น ๆ แต่ยังบังคับใช้กับคู่ค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั่วโลกด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคธุรกิจต้องรู้กฎกติกา ESG ที่สำคัญ ๆ ทั่วโลก เพื่อปรับการดำเนินธุรกิจให้ทัน
สหภาพยุโรป (EU) :
สหภาพยุโรป หรือ “อียู” เป็นผู้นำในด้านการออกกฎระเบียบสำหรับการกำกับดูแลในด้านต่าง ๆ และเป็นต้นแบบให้ทั่วโลกนำไปปรับใช้ สำหรับ ESG ก็เช่นกัน เรียกได้ว่าอียูเป็นผู้กำหนดทิศทางการกำกับดูแลด้าน ESG ก็ว่าได้ อียูมีหลายกฎระเบียบที่อยู่ภายใต้แผนการปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) และแผนปฏิบัติการการเงินที่ยั่งยืน (SFAP) ยกตัวอย่างกฎระเบียบที่สำคัญ ดังนี้
1)ระเบียบว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลการลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Finance Disclosures Regulation : SFDR) กำหนดให้ผู้จัดการกองทุนต้องเปิดเผยข้อมูล ESG เพื่อความโปร่งใสและให้นักลงทุนมีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจในการลงทุน
2)คำสั่งว่าด้วยการตรวจสอบตลอดห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ (Corporate Sustainability Due Diligence Directive: CSDDD) กำหนดให้ธุรกิจทั่วโลกที่ทำธุรกิจกับบริษัทในอียูต้องตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานและสอบทานธุรกิจของตน เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม
3)ระเบียบว่าด้วยการรายงานข้อมูลที่ไม่ใช่ทางการเงิน (Non-Financial Reporting Directive : NFRD) กำหนดให้บริษัทขนาดใหญ่เปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
4)ระเบียบว่าด้วยการรายงานความยั่งยืนขององค์กร (Corporate Sustainability Reporting Directive : CSRD) กำหนดให้องค์กรขนาดใหญ่เผยแพร่รายงานการดำเนินงานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อช่วยให้นักลงทุน ผู้บริโภค ผู้วางเงื่อนไข และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ได้ประเมินผลประกอบการที่ไม่เกี่ยวกับการเงิน พร้อมกับส่งเสริมแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น
5)กลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2023 เป็นมาตรการภายใต้แผนการปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) ในระยะแรก CBAM กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้า 7 ประเภทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงจะต้องซื้อใบรับรองการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือ CBAM Certificates ตามปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่แท้จริงจากกระบวนการผลิตของสินค้านั้น ๆ
6)กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation Regulation: EUDR) จะมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2024 นี้ บังคับใช้กับทั้งผู้ประกอบการและผู้ค้าที่จะจำหน่ายสินค้าในตลาดอียู โดยกำหนดให้สินค้าต้องผ่านเงื่อนไข 3 ข้อ คือ (1) ต้องไม่มาจากการบุกรุกพื้นที่ป่า (2) ต้องมีกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต และ (3) ต้องมีการตรวจสอบและประเมินสินค้า (Due Diligence)
สหรัฐอเมริกา :
1)กฎการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ (Climate-Related Disclosure Rule) ของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) หรือ ก.ล.ต.สหรัฐ กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องเปิดเผยความเสี่ยงเกี่ยวกับสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจ กลยุทธ์ ผลการดำเนินงาน หรือสถานะทางการเงินของบริษัท รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงและที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนั้นต้องรายงานค่าใช้จ่ายสำหรับการบรรเทาผลกระทบหรือการปรับตัว รวมถึงการกำกับดูแลและการดูแลกลยุทธ์ด้านสภาพภูมิอากาศของบริษัทด้วย
2)กฎหมายการปรับราคาคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Clean Competition Act หรือ US-CBAM) เป็นมาตรการเก็บภาษีคาร์บอนคล้ายกับของสหภาพยุโรป ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2025 กับอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้มข้น ก่อนขยายไปอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในปี 2027
สหราชอาณาจักร :
สหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกในโลกที่กำหนดเป้าหมายด้านสภาพอากาศที่มีผลผูกพันทางกฎหมายในระยะยาวด้วยการผ่านกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Act) ในปี 2008 นอกจากนั้นสหราชอาณาจักรมีกฎกติกากำกับดูแลด้าน ESG ที่สำคัญ ดังนี้
1)การรายงานเกี่ยวกับพลังงานและการปล่อยคาร์บอน (Streamlined Energy and Carbon Reporting : SECR) ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2019 กำหนดให้ทั้งบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และห้างหุ้นส่วนจำกัดในสหราชอาณาจักรรวมเกือบ 12,000 แห่ง ต้องรายงานการใช้พลังงาน ประสิทธิภาพ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นประจำทุกปี
2)มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน (Sustainability Disclosure Standards : SDS) ซึ่งอิงตามมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (IFRS) ของคณะกรรมการมาตรฐานความยั่งยืนสากล (ISSB)
จีน :
จีนเป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนรายใหญ่ที่สุดในโลก และขณะนี้กำลังเป็นผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุดในโลกเช่นกัน จีนมีกฎกติกา ESG ที่มุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อม ดังนี้
1)แนวปฏิบัติเสริมสร้างการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการพัฒนาอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปล่อยคาร์บอนต่ำ กำหนดและบังคับใช้มาตรฐานการคำนวณคาร์บอนแบบรวมศูนย์สำหรับสถาบันการเงิน และส่งเสริมสถาบันและองค์กรการเงินเผยแพร่ข้อมูลสิ่งแวดล้อม
2)มาตรการเปิดเผยข้อมูลสิ่งแวดล้อม กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนและผู้ออกตราสารหนี้ในประเทศจีนต้องเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเป็นประจำทุกปี โดยกำหนดข้อมูลที่ต้องเปิดเผยหลายด้าน เช่น การจัดการสิ่งแวดล้อม การก่อมลพิษ การปล่อยก๊าซคาร์บอน การวางแผนสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อม
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 21 สิงหาคม 2567