จับตา Geopolitics…หลุมพรางที่จะทำให้การค้าโลกสะดุด
ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่เปรียบเสมือนหลุมพรางที่ซ่อนตัวอยู่ โดยปัญหาความขัดแย้งสหรัฐฯ-จีน กับผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่อาจนำไปสู่ซีซั่น 2 ของซีรี่ส์ Trade War และสงครามระหว่างอิสราเอลกับคู่กรณี…ความขัดแย้งที่มีผลต่อเงินเฟ้อโลก
การค้าโลกในปี 2567 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวหลังจากในปีที่ผ่านมาหดตัวลง 3% โดย UN Trade and Development (UNCTAD) ได้ติดตามสถานการณ์และพบว่า การค้าโลกไตรมาส 1 ปี 2567 ขยายตัวราว 1% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และคาดว่าจะขยายตัวต่ออีก 2% ในไตรมาส 2
แสดงให้เห็นถึงทิศทางการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งก็สอดคล้องกับการส่งออกของไทยที่กลับมาขยายตัวได้ 2% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 จากที่หดตัว -4.6% ในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ข้อสังเกตจากข้อมูลการค้าโลกในช่วงครึ่งแรกของปีพบว่า สินค้าประเภท Green Energy และ AI-related เป็นกลุ่มที่ขยายตัวค่อนข้างสูง ซึ่งตอกย้ำเทรนด์โลกที่ต้องเร่งลงทุนแก้ปัญหา Climate Change และกระแสตื่นตัวของการพัฒนาและใช้เทคโนโลยี AI ในปัจจุบัน
แม้การค้าโลกจะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่บริบทโลกในปัจจุบันทำให้แนวโน้มการค้าโลกบิดเบี้ยวไปจากการค้าโลกเสรีในอดีต แสดงถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกซึ่งเต็มไปด้วยความเสี่ยงด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่เปรียบเสมือนหลุมพรางที่ซ่อนตัวอยู่ โดยปัญหา Geopolitics ที่ยังคงต้องติดตาม มีดังนี้
ความขัดแย้งสหรัฐฯ-จีน กับผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่อาจนำไปสู่ซีซั่น 2 ของซีรี่ส์ Trade War การเลือกตั้งสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ทั่วโลกต่างจับตามอง เนื่องจากหากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นประธานาธิบดี แนวนโยบายของนายทรัมป์จะส่งผลกระทบหลากหลายต่อการค้าโลก ซึ่งหากจะย้อนเหตุการณ์เพื่อตอกย้ำความน่ากังวลดังกล่าว ก็คงต้องกล่าวถึง Trade War จนถึง Tech War ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่มีจุดเริ่มมาจากนายทรัมป์ตั้งแต่ปี 2561
เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อรูปแบบ Supply Chain โลก ไปจนถึงการส่งออกของประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทย โดยในช่วงเวลานั้นไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ได้มากขึ้น แต่ก็ส่งออกไปจีนได้ลดลงเช่นกัน ขณะที่การค้าโลกก็ซบเซาจาก Trade War ของทั้งสองประเทศ ทำให้การส่งออกไทยในปี 2562 หดตัว 2.6%
สำหรับการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ นายทรัมป์กล่าวไว้ในช่วงหาเสียงว่า จะขึ้นภาษีนำเข้ากับทุกประเทศ 10% หลังจากในช่วงที่ผ่านมาจีนแก้เกม Trade War ด้วยการกระจายฐานการผลิตของตนออกไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ ดังนั้น หากนายทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีจริง ก็จะส่งผลกระทบต่อการค้าโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นอกจากนี้ ไทยยังมีความเสี่ยงที่จะโดนมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) จากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่มีการลงทุนของจีนในไทย
สงครามระหว่างอิสราเอลกับคู่กรณี…ความขัดแย้งที่มีผลต่อเงินเฟ้อโลก สถานการณ์สงครามของอิสราเอลนั้นได้ขยายวงไปรอบด้านทั้งกับกลุ่มฮามาส กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน และกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน ซึ่งแม้อิสราเอลจะมีศักยภาพทางการทหารที่เหนือกว่าคู่กรณี แต่ท่าทีของอิสราเอลที่แข็งกร้าวในปัจจุบันและเน้นปฏิบัติทางการทหารรุกโจมตีคู่กรณี โดยเฉพาะกลุ่มฮามาสและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ เริ่มทำให้เกิดความเสี่ยงที่อิหร่านซึ่งเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มดังกล่าว จะต้องมีการตอบโต้คืน
ซึ่งแม้ว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นว่าสถานการณ์จะไม่พัฒนาจนกลายเป็นสงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่านอย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็ไม่อาจวางใจ เพราะในปัจจุบันสถานการณ์ในภูมิภาคดังกล่าวก็ได้ส่งผลกระทบต่อเส้นทางการเดินเรือที่สำคัญอย่างช่องแคบ Bab-El-Mandeb และคลองสุเอซ ซึ่งถือเป็นเส้นทางหลักสำหรับเดินเรือขนส่งสินค้าจากเอเชียไปยังยุโรปแล้ว เนื่องจากเรือขนส่งสินค้าส่วนหนึ่งเลือกที่จะหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าว
โดยการเดินเรืออ้อมทวีปแอฟริกา ส่งผลกระทบต่อค่าระวางเรือ นอกจากนี้ ความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางมีผลต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งค่าระวางเรือและราคาน้ำมันล้วนเป็นปัจจัยสำคัญต่อเงินเฟ้อโลก ดังนั้น หากสงครามของอิสราเอลกับคู่ขัดแย้งยกระดับขึ้น โดยเฉพาะกรณีอิหร่านเข้ามาทำสงครามด้วย ก็จะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อโลกอย่างมีนัยสำคัญและจะกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจและการค้าโลกสะดุดล้มได้อีกครั้ง
นอกจากปัญหา Geopolitics ที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อมาราว 30 เดือน ไปจนถึงปัญหา Geopolitics ใกล้ตัวอย่างความขัดแย้งในเมียนมาซึ่งนับเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าใกล้ชิดกับไทย โดยทั้ง 2 กรณียังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงในเร็ววัน
ผู้ประกอบการควรต้องเตรียมพร้อมรับกับความเสี่ยงดังกล่าว โดยอาจเริ่มจากการทำ
(1) Scenario Planning สร้างสถานการณ์จำลองที่อาจเกิดขึ้นและวิเคราะห์ผลกระทบต่อธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถเตรียมตัวรับมือโดยไม่ต้องรอให้เกิดปัญหาแล้วจึงแก้ไข
(2) การกระจายตลาดส่งออก เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในบางภูมิภาค
(3) การสร้าง Supply Chain Resilience หรือความยืดหยุ่นในห่วงโซ่อุปทาน เช่น การเพิ่มความหลากหลายของ Supplier การรักษาสินค้าคงคลังเพื่อเป็น Buffer จากความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น และการเตรียมเส้นทางขนส่งทางเลือก เป็นต้น และสุดท้าย (
4) การป้องกันความเสี่ยงอย่างครบวงจร ซึ่ง EXIM BANK ได้เตรียมเครื่องมือไว้ให้ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นบริการประกันการส่งออก ประกันการลงทุน รวมถึงเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน อาทิ Forward Contract เพื่อที่ผู้ประกอบการจะไม่ต้องกังวลกับสถานการณ์ไม่คาดคิดที่จะเกิดขึ้นได้ทุกขณะ
Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 22 สิงหาคม 2567