"ฝันเรียนต่อนอก" ยากขึ้นแล้ว? 4 ชาติตะวันตกหันมาเข้มงวดนศ.ต่างชาติ
KEY POINTS
* “การศึกษาต่างประเทศ” เป็นธุรกิจระดับโลกที่มีมูลค่าประมาณ 6.8 ล้านล้านบาท โดยสหราชอาณาจักร แคนาดา และออสเตรเลีย เป็นสามประเทศผู้เล่นรายใหญ่
* ในไตรมาสแรกของปี 2567 จำนวนวีซ่านักศึกษาที่ไปยังสหราชอาณาจักร แคนาดา และออสเตรเลีย “ลดลง” ระหว่าง 20% ถึง 30% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
* อุตสาหกรรมศึกษาต่อนอก ได้สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกินกว่าค่าเล่าเรียน เนื่องจากนักศึกษาต้องจ่ายค่าที่พัก ค่าครองชีพ และมักจะทำงานและเสียภาษีในประเทศที่ตนศึกษา
"นักศึกษาต่างชาติ" ถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญเสมือน “ห่านทองคำ” มาตลอดสำหรับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในต่างประเทศ หลายคนศึกษาต่อเพื่อมุ่งกลับไปมีชีวิตที่ดีขึ้นในบ้าน แต่อีกหลายคนก็ถือเป็นโอกาสด่านแรกของการย้ายประเทศโดยเริ่มที่การเรียน จากนั้นจึงค่อยมองหางานทำต่อหลังเรียนจบ และหาโอกาสลงหลักปักฐานยาว
สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า การศึกษาต่างประเทศนับเป็นธุรกิจระดับโลกที่มีมูลค่าสูงถึงราว 2 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 6.8 ล้านล้านบาท) ตามข้อมูลของบริษัท Holon IQ โดยสหราชอาณาจักร แคนาดา และออสเตรเลีย เป็นสามประเทศผู้เล่นรายใหญ่
อุตสาหกรรมนี้ถือเป็นการส่งออกบริการและสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกินกว่าค่าเล่าเรียน เนื่องจากนักศึกษาต้องจ่ายค่าที่พัก ค่าครองชีพ และมักจะทำงานและเสียภาษีในประเทศที่ตนศึกษา
ทว่าปัจจุบันความฝันในการศึกษาต่อต่างประเทศอาจกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อกระแสต่อต้านผู้อพยพที่ทวีความรุนแรงในตะวันตก ประชาชนบางส่วนในยุโรปมองว่า “ผู้อพยพ” จำนวนไม่น้อยได้ก่อปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการก่ออาชญากรรม ความไร้ระเบียบ การจ่ายภาษีที่ไม่เท่าเทียมกับคนท้องที่หรือบางคนก็ไม่ได้จ่าย แต่กลับได้รับสวัสดิการเทียบเท่าเจ้าของประเทศ รวมไปถึงงบประมาณแบกรับผู้อพยพก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ
นั่นจึงเกิดกระแสเรียกร้องให้จัดการผู้อพยพ ไปจนถึงจำกัดการเข้ามาของนักศึกษาต่างประเทศด้วย โดยมี “4 ประเทศสำคัญ” ที่หันมาตั้งกฎเข้มงวดกับนักศึกษาต่างชาติ ได้แก่ สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ แคนาดา และออสเตรเลีย
“นักศึกษาต่างชาติเป็นกลุ่มที่ควบคุมจำนวนได้ง่ายที่สุด นั่นคือเหตุผลที่พวกเขาเป็นอันดับหนึ่งในรายการตัดงบประมาณ และมหาวิทยาลัยเองก็ไม่ได้มีอำนาจต่อรองมากนัก ดังนั้นจึงเป็นเป้าหมายทางการเมืองที่เหมาะสม” ศาสตราจารย์แอนดรูว์ นอร์ตัน (Andrew Norton) ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการอุดมศึกษา จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียกล่าว
กฎที่เข้มงวดขึ้นเหล่านี้เริ่มส่งผลกระทบให้เห็นแล้ว โดยข้อมูลของบริษัท IDP Education ผู้ให้บริการจัดหาที่เรียนและการสอบสำหรับนักเรียนต่างชาติระบุว่า ในไตรมาสแรกของปี 2567 จำนวนวีซ่านักศึกษาที่ไปยังสหราชอาณาจักร แคนาดา และออสเตรเลีย “ลดลง” มากถึงราว 20-30% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมของมาตรการและผลกระทบใน "4 ประเทศ" มีดังนี้
สหราชอาณาจักร :
ประเทศนี้มีจำนวนนักศึกษาต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะจาก “จีน” และ “อินเดีย” โดยในปีการศึกษา 2021-2022 มีนักศึกษาต่างชาติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่จำนวน 679,970 คน แต่ล่าสุดพรรคแรงงานซึ่งเป็นรัฐบาลในปัจจุบัน ได้ให้คำมั่นว่าจะคงมาตรการห้ามไม่ให้นักศึกษาต่างชาตินำผู้ติดตามเข้ามาในประเทศ
สำนักงานนักศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลอิสระของภาคการศึกษา กล่าวว่า การลดจำนวนนักศึกษาเพียงเล็กน้อย อาจทำให้สถาบันการศึกษา 202 แห่ง หรือคิดเป็น 74% ของทั้งหมด “ตกอยู่ในภาวะขาดทุน” โดยรัฐบาลชุดก่อนได้มีคำสั่งให้ทำการตรวจสอบการละเมิดวีซ่าของนักศึกษาต่างชาติ แต่พบหลักฐานน้อยมากเกี่ยวกับเรื่องนี้
เนเธอร์แลนด์ :
ในขณะที่ความรู้สึกต่อต้านชาวต่างชาติกำลังเพิ่มสูงขึ้นทั่วทั้งยุโรป ข้อจำกัดต่อนักศึกษาต่างชาติสามารถเห็นได้ชัดเจนที่สุดในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งรัฐบาลผสมนำโดยฝ่ายขวา ได้ผลักดันนโยบายจำกัดการเข้าถึงมหาวิทยาลัยของนักศึกษาต่างชาติ
ยิ่งไปกว่านั้น มหาวิทยาลัยที่เผชิญกับปัญหาจำนวนนักศึกษาล้นความจุ ได้ตัดสินใจในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะจำกัดจำนวนหลักสูตรที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ และลดจำนวนนักศึกษาต่างชาติลง
แคนาดา :
“แคนาดา” มีนักเรียนต่างชาติคิดเป็น 1 ใน 40 ของประชากรทั้งหมด โดยนักศึกษาต่างชาติมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจมากกว่า 22,000 ล้านดอลลาร์แคนาดา (ราว 5.5 แสนล้านบาท) และรองรับงานประมาณ 218,000 ตำแหน่ง
สำหรับกฎระเบียบใหม่ที่จำกัดนักเรียนต่างชาติ มีตั้งแต่ลดการออกวีซ่านักศึกษาลง 35% ในปีนี้ รวมถึงการยกเลิกสิ่งจูงใจ เช่น สิทธิในการทำงานหลังสำเร็จการศึกษา โดยมีเป้าหมายไปยังกลุ่มสถาบันการศึกษาขนาดเล็กที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก
มูนิรา มิสทรี (Munira Mistry) วัย 43 ปี กังวลว่า อาจสูญเสียงานสอนที่วิทยาลัยแห่งหนึ่งในนครโตรอนโตภายในเดือนธันวาคม เนื่องจากการปราบปรามของรัฐบาลได้ส่งผลให้มีการลดค่าใช้จ่ายของวิทยาลัย
“รู้สึกเหมือนว่าประตูทุกบานกำลังปิดลง” มิสทรี อดีตนักศึกษาจากอินเดียกล่าว โดยปัจจุบันเธอเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในโตรอนโต และยังคงพยายามอย่างหนักในการขอวีซ่าถาวรเพื่อลงหลักปักฐานที่นี่
ออสเตรเลีย :
สำหรับออสเตรเลีย นักเรียนต่างชาติมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจสูงถึง 48,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 1.1 ล้านล้านบาท) ในปี 2023 จนกลายเป็น “สินค้าส่งออกบริการอันดับหนึ่ง” ของประเทศ โดยประมาณ 55% ของจำนวนดังกล่าวถูกใช้จ่ายไปกับสินค้าและบริการนอกมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผลดีอย่างมากต่อธุรกิจขนาดเล็กท้องถิ่น
แผนการของรัฐบาล มีตั้งแต่การจำกัดจำนวนนักศึกษาต่างชาติต่อมหาวิทยาลัย และข้อกำหนดการสร้างที่พักอาศัย โดยในขณะนี้ นักศึกษาต่างชาติกำลังเผชิญกับมาตรฐานภาษาอังกฤษที่เข้มงวดขึ้น การถูกปฏิเสธวีซ่าเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น และวิทยาลัยเอกชนบางแห่งถูกสั่งให้หยุดรับสมัครนักศึกษาปลอมภายในเวลา 6 เดือน มิฉะนั้นจะถูกเพิกถอนใบอนุญาต
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 25 สิงหาคม 2567