ตามรอยยักษ์(เอไอ)ใหญ่แดนมังกร กรุงไทย พาชมโลกใหม่ "เซินเจิ้น"
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่มากในปัจจุบัน ไม่ได้มีเพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่สาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็นประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เป็นอันดับที่ 2 รองจากสหรัฐ มีมูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 14.36 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อปี 2562 ก่อนเกิดโควิด ซึ่งมีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก กว่า 1,400 ล้านคน และสัดส่วนช่วงวัยของประชากรมีคนหนุ่มสาววัยทำงานสูงมากด้วย
ประกอบกับการที่รัฐบาลจีนวางโครงสร้างการปฏิรูปประเทศ ผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจจีน ที่อัดแน่นไปด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาปรับใช้กับทั้งการดำเนินชีวิต และการดำเนินธุรกิจ เมื่อผสมเข้ากับจำนวนประชากรที่มีอยู่อย่างมหาศาลแล้ว ทำให้จีนถือว่าเป็นคู่แข่งประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐได้แบบสมน้ำสมเนื้อ
เมื่อการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ของจีน ถือว่ารวดเร็วอย่างน่าเหลือเชื่อ ดังนั้น ธนาคารกรุงไทย ได้นำคณะสื่อมวลชนบินลัดฟ้าไปศึกษาและดูงานถึง “เมืองเซินเจิ้น” เมื่อวันที่ 7-12 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่ง “เซินเจิ้น” ถือเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศจีน รองจาก “กรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้” แต่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของมณฑลกวางตุ้ง พัฒนามาจากหมู่บ้านชาวประมงขนาดเล็กเมื่อ 40 ปีก่อน ต่อยอดอุตสาหกรรมโลกเก่า การรับจ้างผลิตสินค้าปลายทางต่างๆ จนถูกขนานนามจากภาพจำของการเป็นเมืองแห่งการก๊อบปี้ ทำให้ขณะนี้ เซินเจิ้น ถูกยกให้เป็นซิลิคอนวัลเลย์ หรือการเป็นพื้นที่ที่รวบรวมเทคโนโลยีใหม่ๆ ตั้งไว้เป็นจำนวนมาก ถือเป็นแหล่งสร้างงานและรายได้ที่สำคัญต่อทั้งเศรษฐกิจในประเทศต้นทาง และเศรษฐกิจโลกด้วย
การศึกษาดูงานที่เซินเจิ้นในครั้งนี้ “ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงทิศทางธนาคารกรุงไทยว่า กรุงไทย ถือเป็นธนาคารที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาช่วยในกระบวนการทำงาน พัฒนาแอพพลิเคชั่น Krungthai Next ที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าวัยรุ่น วัยทำงานมากขึ้น ปรับโฉมจากการเป็นธนาคารของหน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียว ผลักดันตัวเองขึ้นมาเป็นธนาคารเพื่อผู้ใช้บริการ จนปัจจุบันสามารถมีฐานผู้ใช้งานกว่า 40 ล้านคน
พร้อมยืนยันว่ากรุงไทยยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ เมื่อช่วงปี 2565 กรุงไทยตั้งชื่อว่า GROWING NEW BUSINESSES ก้าวไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และนวัตกรรมมาต่อยอดการให้บริการ ซึ่งกรุงไทยมีการเปิดบริษัทลูกขึ้นมาดูแลเป็นการเฉพาะ อาทิ บริษัท อินฟินิธัส บาย กรุงไทย จำกัด (Infinitas by Krungthai) เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ มุ่งเน้นการให้บริการด้านการพัฒนา Innovation & Digital Platform ต่างๆ เพื่อเข้าสู่ Open Banking, Virtual Digital Banking Service รวมถึงธุรกิจรูปแบบใหม่ด้วย
“การพัฒนาให้ประเทศไทยก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้นั้น เราจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ส่วนนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยให้คนสามารถเข้าถึงบริการและสินเชื่อของธนาคารในระบบได้ และต้องเป็นสินเชื่อที่มีคุณภาพ เพราะต้องยอมรับว่าไทยเป็นประเทศที่เศรษฐกิจนอกระบบสูงถึง 50% ต่อจีดีพี ถือเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะคู่แข่งอย่างเวียดนาม ที่มีหนี้ต่อจีดีพีเพียง 14.4% เท่านั้น ส่วนเพื่อนบ้านที่มีตัวเลขในระดับสูง อาทิ ฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 39.8% หรือมาเลเซีย ที่ 30.5% ยังไม่เท่าไทย” ผยงกล่าว
และเพื่อให้เห็นภาพว่าการนำเทคโนโลยีใหม่ โดยเฉพาะเอไอ จะเข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจให้เดินหน้าได้อย่างรวดเร็วมากน้อยเท่าใด ธนาคารกรุงไทย จึงพาคณะไปศึกษางานกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยี คือ Accenture (เอคเซนเชอร์) และ Huawei (หัวเว่ย) เพื่อให้เห็นถึงทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญ ที่จะมีส่วนขับเคลื่อนธุรกิจการเงินในอนาคต
สำหรับ “เอคเซนเชอร์” บริษัทที่ปรึกษาและให้บริการด้านธุรกิจและเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก ที่ช่วยให้ธุรกิจ รัฐบาล และองค์กรทั่วโลก สร้างแกนการนำดิจิทัลเข้าไปเสริมสร้างธุรกิจหลัก (Digital Core) เพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงาน การเติบโตของรายได้ และพัฒนาบริการที่นำเสนอให้กับลูกค้า โดยปัจจุบันเอคเซนเชอร์ มีพนักงานกว่า 750,000 คน ให้บริการลูกค้าในกว่า 120 ประเทศทั่วโลก ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่มีเทคโนโลยีเป็นศูนย์กลาง ซึ่งธนาคารกรุงไทยมีเอคเซนเชอร์ เป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาดิจิทัลโซลูชั่น (Digital solution) หรือการนำเอไอเข้ามาใช้เพื่อพัฒนาการบริการที่ตอบโจทย์การทำงานทั้งองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการพัฒนาผู้ที่มีทักษะดิจิทัลผ่านการร่วมทุนในบริษัท Arise by Infinitas ซึ่งวางตัวเป็นศูนย์กลางการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ รวมถึงดึงดูดคนที่มีทักษะดิจิทัลจากต่างประเทศ เสริมความแข็งแกร่งด้าน Digital Capabilities และรองรับการขยายธุรกิจของกลุ่มธนาคารกรุงไทย
ขณะที่ “หัวเว่ย” ถือเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของโลก มีผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภค และโซลูชั่นสำหรับธุรกิจ มีพนักงานมากกว่า 2 แสนคน เนื่องจากบริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องวิจัยและพัฒนา (R&D) ทำให้พนักงานกว่า 55% ทำงานในส่วน R&D มีการลงทุนใน R&D เป็นอันดับ 5 ของโลก ในด้านการดำเนินงาน มีอัตราการเติบโตในด้าน Computing Cloud หรือรูปแบบการประมวลผลผ่านอินเตอร์เน็ต รวมถึงธุรกิจใหม่ๆ คือ ธุรกิจพลังงานดิจิทัล (Digital Power) โดยมีธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ทำระบบปฏิบัติการรถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งรถในเมืองฉางอันที่จีน ก็ใช้ระบบปฏิบัติการของหัวเว่ยเช่นกัน ทำให้หัวเว่ยมีรายได้ในปี 2566 มากกว่า 99.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.6% เทียบจากปี 2565 รวมถึงหัวเว่ยมีการลงทุน R&D อย่างต่อเนื่อง มากกว่า 130 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เฉพาะปี 2565 มีการลงทุนมากกว่า 23 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีวิศวกรที่จบปริญญาเอกมากกว่า 5 พันราย
ปัจจุบันหัวเว่ย เป็นพันธมิตรธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่สำคัญของกรุงไทย โดยมีความร่วมมือกันอยู่แล้วในส่วนของ Cloud (คลาวด์) ซึ่งด้านการพัฒนาคลาวด์ หัวเว่ย เปิดให้บริการกว่า 30 ประเทศทั่วโลก มากกว่า 85 ศูนย์ข้อมูลทั่วโลก ทั้งในจีน ตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ ยุโรป ลาตินอเมริกา ส่วนในไทยมี 3 ศูนย์ข้อมูล ซึ่งถือเป็นเจ้าแรกที่มีในประเทศไทย แม้บริษัทอื่นๆ อาจเลือกลงทุนในสิงคโปร์ แต่หัวเว่ย เลือกลงทุนในประเทศไทย และมีพาร์ตเนอร์ในไทยมากกว่า 300 ราย มีสตาร์ตอัพกว่า 100 ราย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากกว่า 1,000 ราย
ไม่เพียงเท่านั้นในทริปนี้ เพื่อได้เข้าใจในทางปฏิบัติการให้บริการลูกค้าแบบครบทุกมิติ ผ่านการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนาธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย ได้ส่งมอบประสบการณ์การใช้จ่ายในตลาดจีน ผ่านบัตร Krungthai Travel UnionPay Debit Card ที่รองรับการใช้จ่ายทั่วโลกอย่างคุ้มค่า ยืนยันว่าได้รับอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างประเทศดีที่สุด ใช้จ่ายโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 2.5% การแลกเงินหรือจัดการบัตร ทำได้ตลอด 24 ชม. ผ่านแอพพลิเคชั่น Krungthai NEXT ถือเป็นบริการที่ได้นำเทคโนโลยีใหม่ มาพัฒนาเพื่อให้การบริการลูกค้าสามารถทำได้สะดวกรวดเร็วที่สุด
อีกหนึ่งเส้นทางที่ธนาคารกรุงไทยกำลังจะก้าวเดินเป็นผู้นำในวงการธนาคารพาณิชย์ คือ การให้บริการ Virtual Bank หรือธนาคารไร้สาขา หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุมัติให้ดำเนินการได้ หนึ่งในปัจจัยหลักต้องทำให้ได้อย่างแข็งแรง เพื่อให้บริการดังกล่าว คือ การมีระบบหลังบ้านที่ดี สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้ เป้าหมายจะพลิกโฉมวงการสถาบันการเงินไปอีกขั้น!!
“เราคาดหวังและต้องการแก้ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อให้กลุ่มคนที่อยู่นอกระบบได้จริง นำเอไอเข้ามาวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าอย่างแม่นยำ เพื่อให้อนุมัติสินเชื่อได้ถูกต้องเหมาะสม โดยการเกิดขึ้นของธนาคารไร้สาขา เชื่อว่าจะเข้ามาลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการเงิน แต่ไม่อยากให้มองว่าเป็นการผูกขาดของทุนใหญ่ เพราะการทำธนาคารไร้สาขา มีความเสี่ยงที่จะลงทุนแล้วอยู่ไม่รอดเช่นกัน แม้ทุกคนที่เข้ามาจะเชื่อว่าต้องได้กำไรก็ตาม” คุณผยงกล่าวในตอนท้าย
ตอกย้ำอนาคต การใช้เทคโนโลยีและเอไอ เข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจและเพิ่มความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 25 สิงหาคม 2567