ทะเลจีนใต้ จุดสลบของการค้าโลก
ปัญหาขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังแผ่ขยายลุกลามออกไปมากขึ้นทุกทีในเวลานี้ ส่งผลกระทบในทางลบต่อระบบการค้าโลกอย่างมีนัยสำคัญมากขึ้นทุกที แต่ที่ทุกคนเป็นกังวลมากที่สุดในขณะนี้ก็คือ ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ ที่อาจกลายเป็น “ระเบิด” ทำลายระบบการขนส่งสินค้าทางทะเลลงเมื่อใดก็ได้
การค้าโลกได้รับผลกระทบอย่างหนักอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด เมื่อการล็อกดาวน์ และการปิดโรงงานผลิต แทบทำลายห่วงโซ่ซัพพลายลงทั่วโลก และมีส่วนสำคัญทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบหลายทศวรรษขึ้นตามมา
ต่อมาเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้จำเป็นต้อง “ปิดคลองสุเอซ” นานร่วมสิบวันเมื่อปี 2021 และล่าสุดความขัดแย้งในตะวันออกกลางก็ทำให้เส้นทางเดินเรือผ่านทะเลแดงใช้งานไม่ได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางผ่านแหลมกู๊ดโฮป ปลายสุดของทวีปแอฟริกา ทำให้การเดินทางล่าช้ากว่าเดิม 9-10 วัน ต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้นอีกไม่ใช่น้อย
ขณะที่ปัญหาในทะเลแดงยังไม่สิ้นสุด ก็เกิดปัญหาการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ขึ้นในทะเลจีนใต้ ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จนก่อให้เกิดความตึงเครียดยืดเยื้อมาจนถึงขณะนี้
ข้อมูลจากหน่วยงานด้านการค้าของสหประชาชาติระบุว่า ทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ละปีสินค้าสารพัดผ่านเข้าออกพื้นที่กว้างใหญ่ขนาด 3.5 ล้านตารางกิโลเมตรนี้ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของปริมาณสินค้าของทั้งโลก มูลค่าของสินค้าที่ส่งผ่านทะเลจีนใต้แต่ละปีอยู่ระหว่าง 3.6 ล้านล้านดอลลาร์ ถึง 5.3 ล้านล้านดอลลาร์เลยทีเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น น้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมราว 40% ของทั้งโลก ถูกจัดส่งผ่านเส้นทางเดินเรือของทะเลจีนใต้นี้ในแต่ละปีอีกด้วย
จีนจำเป็นต้องใช้เส้นทางนี้เพื่อขนส่งสินค้าราว ๆ 40% ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของตนเอง อินเดียใช้เส้นทางนี้ส่งสินค้าออกราว 1 ใน 3 ของทั้งหมด และญี่ปุ่นเองก็ส่งออกสินค้าราว 20% ของตนผ่านเส้นทางนี้ทุก ๆ ปี
จุดหมายปลายทางของสินค้าเหล่านั้นกระจายกันอยู่ทั่วโลก แต่ที่สำคัญเป็นพิเศษก็คือ ภาคพื้นยุโรป, ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ซึ่งล้วนได้รับผลกระทบทั้งหมดหากเส้นทางสินค้านี้ได้รับผลกระทบ
จีนอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ทะเลจีนใต้ทั้งหมดเป็นของตนเอง ไม่สนใจแม้แต่คำพิพากษาของศาลอนุญาโตตุลาการ ณ กรุงเฮก เมื่อปี 2016 ที่ระบุว่า คำกล่าวอ้างของจีนไม่มีมูลฐานทั้งในทางกฎหมายและในเชิงประวัติศาสตร์ให้อ้างอิงได้
การอ้างสิทธิของจีนจึงเป็นการละเมิดสิทธิของประเทศอื่น ๆ รวมทั้งที่อ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้ตามกฎหมายทะเล ว่าด้วยเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 20 ไมล์ทะเลนอกชายฝั่งของประเทศตน
การปะทะระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ทวีความตึงเครียดมากขึ้น เมื่อสหรัฐอเมริกาออกมาย้ำอีกครั้งว่า จะปฏิบัติตามพันธะในสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรทางทหารกับฟิลิปปินส์ หากกองทัพฟิลิปปินส์ถูกโจมตี รวมทั้งในพื้นที่ทะเลจีนใต้
ข้อมูลของทางการสหรัฐอเมริการะบุว่า จีนอ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้ทั้งหมด ไม่ใช่ด้วยเหตุผลในเชิงประวัติศาสตร์ แต่เป็นเพราะต้องการครอบครองแหล่งพลังงานสำคัญ คือแหล่งก๊าซธรรมชาติ ทั้งที่ผ่านการตรวจพิสูจน์แล้ว และที่ยังไม่สำรวจแต่มีความเป็นไปได้ ซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณนี้รวมแล้วไม่น้อยกว่า 5.38 ล้านล้านคิวบิกเมตร
ยิ่งไปกว่านั้น พื้นที่ทะเลจีนใต้ยังมีแหล่ง “สินแร่หายาก” (Rare-Earth Minerals) ขนาดใหญ่อยู่อีกด้วย สินแร่หายากเหล่านี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีเพื่อพลังงานสะอาดของจีนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องของแบตเตอรี่ และด้านอิเล็กทรอนิกส์ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศกำลังวิตกว่า
ในขณะที่เส้นทางขนส่งสินค้าผ่านทะเลแดงใช้งานไม่ได้เช่นในเวลานี้ เมื่อบวกกับความตึงเครียดในตะวันออกกลางระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล ที่พร้อมระเบิดเป็นสงครามใหญ่ได้ทุกเมื่อ ซึ่งเท่ากับว่าอิหร่านก็สามารถปิดเส้นทางเดินเรือผ่านช่องแคบฮอร์มุซขึ้นมาในวันใดวันหนึ่งก็ได้
หากความตึงเครียดในทะเลจีนใต้เสื่อมทรามลงมากขึ้นไปอีก ก็เท่ากับว่าการขนส่งสินค้าทางทะเลกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตอย่างหนักพร้อม ๆ กัน 3 ด้าน ที่จะก่อให้เกิดปัญหาสินค้าและโภคภัณฑ์ราคาแพงและขาดแคลนขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อทุกประเทศ ทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อมอย่างเฉียบพลันขึ้นทันทีนั่นเอง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 28 สิงหาคม 2567