ตัวเลข PMI ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีนี้ไม่ดีขึ้น มีแต่เสี่ยงจะแย่ลง
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เดือนสิงหาคมของหลาย ๆ ประเทศบ่งชี้ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังไม่น่าจะสดใสขึ้นมาได้ อาจจะไม่แย่ลง แต่ก็คงจะซึม ๆ ต่อไป เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว PMI ภาคการผลิตยังอยู่ในโซน "หดตัว"
จีน ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ (PMI Composite) ในเดือนสิงหาคมตามตัวเลขของทางการจีน อยู่ที่ 51.6 จุด แม้ว่าจะสูงกว่า 50 ซึ่งเป็นจุดแยกระหว่างการขยายตัวและหดตัว แต่ก็ลดลงจาก 52.1 จุด ในเดือนกรกฎาคม
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เดือนสิงหาคมของหลาย ๆ ประเทศบ่งชี้ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังไม่น่าจะสดใสขึ้นมาได้ อาจจะไม่แย่ลง แต่ก็คงจะซึม ๆ ต่อไป เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว PMI ภาคการผลิตยังอยู่ในโซน “หดตัว”
จีน ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ (PMI Composite) ในเดือนสิงหาคมตามตัวเลขของทางการจีน อยู่ที่ 51.6 จุด แม้ว่าจะสูงกว่า 50 ซึ่งเป็นจุดแยกระหว่างการขยายตัวและหดตัว แต่ก็ลดลงจาก 52.1 จุด ในเดือนกรกฎาคม
ส่วน ญี่ปุ่น การผลิตเริ่มฟื้นตัวขึ้น PMI ภาคการผลิตที่จัดทำโดยธนาคารโอ จีบัน (Au Jibun) อยู่ที่ 49.8 จุด ดีขึ้นมาจาก 49.1 จุด ในเดือนกรกฎาคม แต่ยังคงก้าวไม่พ้นโซนหดตัว คำสั่งซื้อใหม่ลดลงเล็กน้อย ขณะที่ผลผลิตกลับมาขยายตัวเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือน และบริษัทญี่ปุ่นรายงานว่า ซื้อปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2022
สำหรับ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ดัชนี PMI ภาคการผลิตอยู่ที่ 51.1 จุด แม้จะอยู่เหนือ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าอยู่ในโซนขยายตัว แต่ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 4 เดือน ส่วนคำสั่งซื้อใหม่และผลผลิต เมื่อกำจัดปัจจัยทางฤดูกาลออกแล้วเติบโตชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตสินค้าในอาเซียนยังรายงานว่า สภาวะภาคการผลิตดีขึ้นเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน และโดยรวมแล้วเป็นการเติบโตในระดับปานกลาง
ส่วนทางฝั่งตะวันตก สหรัฐอเมริกา ประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก PMI ภาคการผลิตที่จัดทำโดยสถาบันบริการการจัดการอุปทาน (ISM) อยู่ที่ 47.2 จุด อยู่ในโซนหดตัวเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน แต่เพิ่มขึ้นจาก 46.8 จุด ในเดือนกรกฎาคม ขณะที่ PMI การผลิตที่จัดทำโดย เอสแอนด์พี โกลบอล อยู่ที่ 47.9 จุด เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน
เอสแอนด์พีวิเคราะห์ว่า PMI ภาคการผลิตของสหรัฐที่ลดลงอย่างต่อเนื่องชี้ให้เห็นว่า ภาคการผลิตเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจในช่วงกลางไตรมาสที่ 3 และในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าแรงฉุดนี้อาจทวีความรุนแรงขึ้นอีก เมื่อพิจารณาจากตัวบ่งชี้ต่าง ๆ โดยเฉพาะอัตราส่วนคำสั่งซื้อต่อสินค้าคงคลัง
สำหรับ ยูโรโซน การผลิตยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดัน โดยผลผลิตของโรงงานยังคงลดลงเป็นส่วนใหญ่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 45.8 จุด คำสั่งซื้อใหม่ลดลงแรงที่สุดในปีนี้ และความเชื่อมั่นทางธุรกิจก็ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน อย่างไรก็ตาม PMI Composite ได้แรงภาคบริการหนุนให้ภาพรวมอยู่ในโซนขยายตัวที่ 51.0 จุด แต่ก็ชะลอลงจาก 52.0 จุด ในเดือนกรกฎาคม
ขณะที่ สหราชอาณาจักร เป็นพื้นที่เศรษฐกิจหลักแห่งเดียวที่ตัวเลข PMI การผลิตดีสวนทางโลก โดยเพิ่มขึ้นจาก 52.1 ในเดือนกรกฎาคม ขึ้นไปอยู่ที่ 52.5 ในเดือนสิงหาคม เป็นระดับสูงสุดในรอบ 26 เดือน ขณะที่ PMI ภาคบริการอยู่ที่ 53.7 เพิ่มขึ้นจาก 52.5 ในเดือนกรกฎาคม
ถึงอย่างนั้นก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ของเอสแอนด์พีแสดงความเห็นว่า ตัวเลขที่ดูดีของสหราชอาณาจักรเป็นผลมาจากการฟื้นตัวภายใน ขณะที่คำสั่งซื้อส่งออกลดลง ดีมานด์ลดลงทั้งในสหภาพยุโรปและในจีน ซึ่งเศรษฐกิจชะลอตัว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 8 กันยายน 2567