"สี จิ้นผิง" เร่งเจ้าหน้าที่รัฐให้ดันเศรษฐกิจโต 5% ท่ามกลางข้อกังขานักวิเคราะห์
ประธานาธิบดี "สี จิ้นผิง" เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับเร่งผลักดันเศรษฐกิจจีนให้เติบโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ท่ามกลางความกังขาของนักวิเคราะห์ที่มองว่า เศรษฐกิจอันดับสองของโลกอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโต 5% ในปีนี้ได้
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ของจีน เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับร่วมกันผลักดันให้ประเทศบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจตามที่ตั้งไว้ หลังจากที่นักวิเคราะห์แสดงความกังขาถึงโมเมนตัมของเศรษฐกิจอันดับสองของโลกนี้
“เจ้าหน้าที่ต้องพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมประจำปี” สี จิ้นผิง กล่าวในการประชุมที่เป็นประธาน ณ เมืองหลานโจว ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลกานซู ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ
“ทุกภูมิภาค และทุกหน่วยงาน ควรดำเนินการตามนโยบาย และมาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งหมดที่คณะกรรมการกลางได้เสนอ และปฏิบัติตามภารกิจทางเศรษฐกิจสำหรับไตรมาสที่สามและสี่” สี จิ้นผิง กล่าว
ความคิดเห็นของผู้นำจีนเกิดขึ้นหลังจากที่นักเศรษฐศาสตร์จากวอลล์สตรีทจำนวนมาก รวมถึงนักเศรษฐศาสตร์จาก JPMorgan Chase เริ่มคาดการณ์ว่า จีนอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ประมาณ 5% ในปีนี้ โดยพวกเขาระบุว่า เป้าหมายดังกล่าวจะต้องอาศัยการเร่งใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการอื่นๆ หากต้องการให้บรรลุได้
“การแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ของสี น่าจะเชื่อมโยงกับข้อมูลที่อ่อนแอที่เราได้สังเกตเห็นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา” หลิน ซ่ง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ด้านจีนแผ่นดินใหญ่ของ ING Bank NV กล่าว “คำพูดของเขาจะทำให้เกิดความเร่งด่วนมากขึ้นในแง่ของการสนับสนุนนโยบาย และเราน่าจะเห็นการกระตุ้นเพิ่มเติมในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า”
ทั้งนี้ ซ่งหวังที่จะเห็นนโยบายที่ผสมผสานกัน ทั้งการกระตุ้นการลงทุน และการบริโภค ควบคู่ไปกับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายขึ้นเพื่อสนับสนุนการเติบโต อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่เขาเห็นคือ จำนวนโครงการลงทุนที่มีคุณภาพลดลงไปเมื่อเทียบกับอดีต
“ผมไม่คิดว่าการเลือกใช้ถ้อยคำของสี จิ้นผิง สะท้อนถึงความมั่นใจที่ลดลงของปักกิ่งในการบรรลุเป้าหมาย” กรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัยจีนของ Evercore ในนิวยอร์ก กล่าว “แต่อาจทำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และตลาดเกิดความสับสนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรายังต้องรอดูการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งถัดไปว่าจะกล่าวถึงเรื่องนี้อย่างไร”
กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 13 กันยายน 2567