บสย.ต่อลมหายใจเอสเอ็มอี ช่วยลูกหนี้ 1.6 หมื่นรายสูงสุดเป็นประวัติการณ์
นับจากช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กระทบทั้งด้านสังคม และเศรษฐกิจไปทั่วทั้งโลก ประเทศไทยเองก็เผชิญปัญหานั้นเช่นกัน
ปัญหาใหญ่ที่สุด คงหนีไม่พ้นภาวะรายได้น้อย แต่รายจ่ายยังเท่าเดิม หรือหนักขึ้น จนทุกวันนี้แม้โควิด-19 จะคลี่คลายแล้ว แต่ผู้คนก็ยังเป็นหนี้กัน แถมสถานการณ์หนักขึ้น ลามไปถึงหนี้รถยนต์ หนี้ที่อยู่อาศัย ที่ผ่อนจ่ายกันไม่ไหว และอีกกลุ่มที่ก็ต่อสู้มาอย่างหนัก ก็คือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่มีปัญหารุมเร้ามากมาย
ซึ่งหน่วยงานภาครัฐต่างเข้ามาช่วยกันเป็นกำลังในการบรรเทาปัญหาหนี้ที่รุมเร้า เหล่านี้ ในส่วนของภาคเอสเอ็มอีนั้น มี บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ทำหน้าที่ในการช่วยค้ำประกันสินเชื่อ ให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ และในอีกด้านคือการช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอี ที่ใช้บริการหนังสือค้ำประกัน บสย.ที่ไปต่อไม่ไหว และถูกจ่ายเคลมแล้ว
โดย สิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. ระบุว่า จากนโยบายภาครัฐ ที่ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้สินนั้น บสย.ได้รับภารกิจสำคัญในการช่วยแก้หนี้เอสเอ็มอี ที่ถือหนังสือค้ำประกันของ บสย. และถูกจ่ายเคลมจากสถาบันการเงิน ผ่านมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” หรือมาตรการ 3 สี (ม่วง เหลือง เขียว) ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน 2565
มาตรการดังกล่าว เป็นมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ที่ บสย.พัฒนาขึ้นตามความสามารถในการชำระหนี้ โดยเปิดกว้างและให้โอกาสลูกหนี้ที่ถูกจ่ายเคลม ปรับตัวต่อลมหายใจ ช่วยรักษาสภาพคล่องระหว่างที่เข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้กับ บสย. จุดเด่นคือ “ผ่อนน้อย เบาแรง” “ตัดเงินต้น ก่อนตัดดอก” หรือจ่ายเงินต้นบางส่วน คิดอัตราดอกเบี้ย 0% และผ่อนยาว 7 ปี “หนี้ลด หมดเร็ว”
ทั้งนี้ ตั้งแต่ออกมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ในปี 2565 ถึงปัจจุบัน บสย.ประสบผลสำเร็จในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ค้ำประกันสินเชื่อที่ถูกจ่ายเคลมไปแล้วถึง 16,577 ราย (ในปี 2567 ระยะเวลา 10 เดือนแรกของปี หรือมกราคม-ตุลาคม 2567 จำนวน 3,131 ราย) คิดเป็นมูลหนี้รวมกว่า 10,636 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 33 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้ง บสย.
“ความสำเร็จที่ชัดเจน คือ ช่วยเหลือลูกหนี้ที่อยู่ในมาตรการกลุ่มสีเขียวให้สามารถปลดหนี้ และเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ ผ่านมาตรการ ‘ปลดหนี้’ (สีฟ้า) จำนวน 126 ราย โดยมีแนวโน้มที่ลูกหนี้ที่ต้องการ ‘ปลดหนี้’ ผ่านมาตรการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมาตรการปลดหนี้ เริ่มเมื่อเดือนมกราคม 2567 เป็นมาตรการช่วยลูกหนี้กลุ่มสีเขียวที่ผ่อนชำระดี 3 งวดติดต่อกัน และต้องการปลดหนี้ โดย บสย.ลดเงินต้นให้ 15%” กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย.ระบุ
นอกจากนี้ บสย.ยังมุ่งพัฒนาศักยภาพของเอสเอ็มอีไทย ผ่านศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงินเอสเอ็มอี ร่วมกับการให้บริการผ่าน LINE OA : @tcgfirst ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ โดยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563-31 ตุลาคม 2567 มีการให้ความรู้ทางการเงินแก่ SMEs รวม 22,141 ราย แบ่งเป็นการให้คำปรึกษา 6,793 ราย และการอบรม 15,348 ราย คิดเป็นความต้องการสินเชื่อรวม 17,107 ล้านบาท โดยสามารถช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบ (Success rate) คิดเป็น 18.32%
กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย.ระบุอีกว่า อย่างไรก็ดี บสย.ยังมีแผนการยกระดับการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีในประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2567 บสย.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ Korea Credit Guarantee Fund (KODIT) และ Korea Technology Finance Corporation (KOTEC) สถาบันค้ำประกันสินเชื่อของสาธารณรัฐเกาหลี
โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับและพัฒนาการค้ำประกันสินเชื่อในประเทศไทยให้แข็งแกร่ง การบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีขึ้น และเพิ่มศักยภาพในการสนับสนุนทางการเงินให้กับเอสเอ็มอี รวมทั้งยกระดับเครดิต การันตี โมเดล โดยใช้ข้อมูลทางเลือกอื่นๆ ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เช่นรูปแบบการใช้จ่าย และพฤติกรรมการชำระเงิน มาคำนวณคะแนนเครดิตค้ำประกันสินเชื่อ (Alternative Credit Scoring Model) พร้อมนำโมเดลดังกล่าวไปใช้กับรูปแบบธุรกิจใหม่
ทั้งนี้ จากการ MOU กับทั้งสองสถาบัน จะช่วยขยายศักยภาพและสร้างความพร้อมของการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. โดยขยายรูปแบบการค้ำประกันสินเชื่อ จากปัจจุบันที่ค้ำประกันและจ่ายเคลมเป็นรายพอร์ต (Portfolio Guarantee Scheme : PGS) เป็นการค้ำประกันตรงและจ่ายเคลมเป็นสัดส่วนรายฉบับ (Direct and Individual Guarantee)
โดย บสย.จะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบการตรง ตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูล การประเมินความเสี่ยงรายบุคคล การคิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันตามระดับความเสี่ยง (Risk-Based Pricing) ซึ่งจะทำให้ บสย.ขยายขอบเขตให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้มากขึ้น ครอบคลุมความต้องการเอสเอ็มอี ในทุกมิติของการค้ำประกันสินเชื่อเครดิต การันตี
พร้อมทั้ง บสย.ได้ยกระดับ Transforms องค์กรในด้านต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงตามนโยบายภาครัฐ สู่การจัดตั้ง “สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ” (NaCGA : National Credit Guarantee Agency) ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเน้น 4 มิติหลัก ดังนี้
1)ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทุกกลุ่ม และพัฒนาช่องทางการให้บริการที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2)ด้านการพัฒนาเครื่องมือโมเดลวิเคราะห์ความเสี่ยงในรูปแบบข้อมูลทางเลือก (Alternative Credit Scoring Model) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อในรูปแบบ RBP (Risk-Based Pricing) คิดค่าธรรมเนียมตามระดับความเสี่ยงของเอสเอ็มอีช่วยผู้ประกอบการรับภาระค่าธรรมเนียมค้ำประกันลดลงตามระดับความเสี่ยง
3)ด้านการใช้ประโยชน์จาก Big Data ฐานข้อมูลการค้ำประกันสินเชื่อตลอดระยะเวลา 33 ปี มาวิเคราะห์ข้อมูลในมิติด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาโอกาสในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีให้มากยิ่งขึ้น ร่วมกับ Stakeholders ที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม
4)ด้านการใช้ Digital Disruption เป็นแรงขับเคลื่อนองค์กร เพื่อพัฒนาระบบงาน และบริการใหม่ๆ ทางการเงินบน Virtual Banking
“โดยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบด้าน เป็นแรงผลักดันให้ บสย.ต้องปรับตัวและเรียนรู้ไม่หยุดนิ่ง เพื่อสามารถเป็นองค์กรที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้า ตามพันธกิจและการเป็น SMEs’ Gateway
มุ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และองค์ความรู้ทั้งระบบ”สิทธิกรทิ้งท้าย
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567