เป็นจังหวัดเศรษฐกิจเข้มแข็งที่สุด แล้วประชาชนได้อะไร
นอกจากกรุงเทพมหานครแล้ว ท่านผู้อ่านคิดว่าจังหวัดใดเป็นจังหวัดที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็งมากที่สุดในประเทศไทย บางคนคิดว่า "ชลบุรี" ซึ่งเป็นที่ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก บางคนก็คิดว่าน่าจะเป็น “ระยอง” เพราะมีโรงงานขนาดใหญ่มาก บางคนก็คิดว่าน่าจะเป็น “สมุทรปราการ” เพราะเป็นส่วนขยายของ กทม. คำตอบก็คือถูกทั้ง 3 จังหวัดแล้วแต่ว่าเราจะวัดด้วยเกณฑ์อะไร
ในการศึกษาถึงระดับการพัฒนาของจังหวัด โดยมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในรายงานเบื้องต้นซึ่งจัดลำดับความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจจาก ขนาดของเสาหลักทางเศรษฐกิจที่วัดจากตัวชี้วัด 3 ตัวด้วยกันคือ 1.ขนาดของเศรษฐกิจ 2.รายได้ต่อหัวของประชาชนในจังหวัด และ 3.งบประมาณรวมขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
พบว่า สามจังหวัดผู้นำ ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และสมุทรปราการ โดยมีนครราชสีมาตามมาห่างๆ แต่ถ้าถามว่า ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจนี้ จังหวัดใดมีความเปราะบางเชิงโครงสร้างน้อยที่สุด วัดจากความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ความหลากหลายทางเศรษฐกิจ และการจ้างงาน อัตราส่วนหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ “ชลบุรี” ก็จะสลับขึ้นเป็นผู้นำ ตามด้วยสมุทรปราการ และระยอง
เมืองเอกด้านการท่องเที่ยวเที่ยวเช่น “เชียงใหม่” อยู่ลำดับที่ 16 และ “ภูเก็ต” อยู่ในลำดับที่ 38 สาเหตุที่ “เชียงใหม่” ไม่ได้อยู่ในลำดับสูงนักเพราะเป็นจังหวัดที่ใหญ่ มีประชากรมาก และกระจายอยู่ในที่ความเจริญเข้าไปได้ยาก ส่วน “ภูเก็ต” แม้ว่าจะได้รายได้จากการท่องเที่ยวหลายแสนล้านและเป็นจังหวัดที่สร้างรายได้ท่องเที่ยวสูงสุดของประเทศก็จริง แต่เมื่อนำรายได้มาคำนวณเป็นมูลค่าเพิ่มจริงๆ แล้ว GDP จังหวัดก็ไม่ได้สูงเท่าจังหวัดอื่นๆ
ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ภูเก็ตมีเศรษฐกิจเสาเดี่ยวหรือบางทีก็เรียกกันว่า “เศรษฐกิจศาลพระภูมิ” เพราะพึ่งพาการท่องเที่ยวแต่อย่างเดียว ในช่วงที่โควิด 19 ระบาด ก็เห็นชัดแล้วว่าภูเก็ตมีปัญหาด้านรายได้มากกว่าจังหวัดอื่น ๆ ที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจมากกว่า
ที่น่าสนใจคือรายได้รวมของ อบจ. ในจังหวัดต่างๆ หลายจังหวัดมีรายได้สูงกว่าหลายกระทรวง ทีเดียว จึงไม่น่าแปลกใจว่าในการเลือกตั้งนายก อบจ. ที่ผ่านมาทำไมถึงมีการขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด จังหวัดที่มีรายได้ อบจ. สูงสุด ได้แก่ นครราชสีมามีรายได้ อบจ. รวม 25,061 ล้านบาท รองลงมาคือ ชลบุรี 21,295 ล้านบาทและสมุทรปราการ 18,869 ล้านบาท ทั้งหมดนี้ล้วนมีบ้านใหญ่ทั้งนั้น
แม้แต่จังหวัดเล็กๆ ที่นายกอุ๊งอิ๊งอุตส่าห์ไปช่วยหาเสียง เช่น นครพนมก็มีขีดความสามารถของ อบจ. ไม่เบาคือ 6,000 ล้านบาท ส่วน 3 จังหวัดสุดท้ายที่มีขนาดของงบประมาณรวมของ อบจ. เล็กที่สุด ได้แก่ สิงห์บุรี 2,334 ล้านบาท อำนาจเจริญ 2,124 ล้านบาท และแม่ฮ่องสอน 1,820 ล้านบาท
โดยทั่วไปแล้วจังหวัดที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจสูงก็มักจะมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมาก แต่เมื่อมาดูเสาหลักด้านสาธารณูปโภคแล้วพบว่า ระยองเป็นจังหวัดที่น่าจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวประชากรสูงที่สุดในประเทศ แต่โอกาสเข้าถึงสาธารณูปโภคสู้จังหวัดใหญ่อื่น ๆ ไม่ได้
โครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรของจังหวัดระยองจัดอยู่ในลำดับที่ 24 ทั้งนี้เพราะปริมาณผลิตน้ำประปาต่อหัวของประชากรอยู่ในลำดับ 10 จำนวนสถาบันศึกษาวิชาชีพเฉพาะทางอยู่ในลำดับที่ 21 จำนวนมหาวิทยาลัยก็อยู่ในลำดับที่ 28 ในขณะที่จังหวัดอื่นๆ เช่น ชลบุรี นครราชสีมาและเชียงใหม่เป็น 3 จังหวัดแรกที่มีจำนวนมหาวิทยาลัยมากที่สุด ระยองมีสถาบันศึกษาวิชาชีพเฉพาะทางเพียง 6 แห่ง ในขณะที่สกลนครมีถึง 21 แห่ง
การศึกษานี้ได้ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลไทยที่ผ่านมาได้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรที่เอื้ออำนวยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคอีสานไม่น้อย เพราะเมื่อมาดูเสาหลักด้านโครงสร้างพื้นฐานพบว่า ใน 20 ลำดับแรกมีจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึง 8 จังหวัดนอกจากเมืองเอก เช่น ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และอุบลราชธานี แล้วยังมีจังหวัดที่ได้รับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่ใน 20 ลำดับแรก คือ สกลนคร (13) บุรีรัมย์ (16) ศรีสะเกษ (17) และชัยภูมิ (20)
ในด้านสุขภาพอนามัยประเทศไทยทำได้ค่อนข้างดี ดูจากความแตกต่างของค่าคะแนนระหว่างจังหวัดที่ลำดับดีที่สุดกับจังหวัดที่ลำดับต่ำที่สุดแตกต่างกันไม่มากนัก จังหวัดที่โดดเด่นมักเป็นจังหวัดที่มีความเป็นเมืองสูง ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ง่าย เป็นจังหวัดที่มีโรงเรียนแพทย์ และจังหวัดที่มีโรงพยาบาลเอกชนมาก และจังหวัดที่สามารถให้บริการทางสุขภาพแก่นักท่องเที่ยวได้ ได้แก่ สมุทรสาคร ขอนแก่น ภูเก็ต และเชียงใหม่
ปัญหาใหญ่ของจังหวัดที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจสูงก็คือ มักจะมีปัญหาทางสังคมค่อนข้างสูง โดยเฉพาะความปลอดภัยทางสังคม ซึ่งวัดจากการเกิดอุบัติเหตุทางถนนต่อประชากรในพื้นที่ 1,000 คน จำนวนคดียาเสพติดและคดีอาญาเกี่ยวกับการประทุษร้ายร่างกายประเภทต่าง ๆ
นอกจากปัญหาภัยทางสังคมแล้ว จังหวัดใหญ่ที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจสูงยังมีปัญหาด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่น จังหวัดที่มีปัญหาการเกิดภัยอันตรายจากสารเคมีและวัตถุอันตราย ได้แก่ สมุทรปราการ ชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง และสมุทรสาคร การประชุมกับแกนนำคนรุ่นใหม่ในจังหวัดอุตสาหกรรม เช่น ระยอง พบว่า คนรุ่นใหม่เห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจทำให้เกิดการรวยกระจุกไม่กระจาย ค่าครองชีพสูง คุณภาพสิ่งแวดล้อมต่ำ มีอุบัติเหตุทางด้านทางถนนและอุตสาหกรรมมาก ทำให้ประชาชนคนท้องถิ่นไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริงดังที่ปรากฏตามตัวเลข
เสาหลักสุดท้ายก็คือ การดูความสามารถในการรับมือความเสี่ยงด้านพิบัติภัย โดยคาดหวังว่าจังหวัดที่ชุมชนเข้มแข็ง มีอาสาสมัคร จะสามารถเป็นตาข่ายรองรับภัยพิบัติเมื่อเกิดขึ้น ในประเด็นนี้พบว่า จังหวัดใหญ่ๆ และจังหวัดที่สำคัญทางเศรษฐกิจจะมีความเสี่ยงสูง คืออยู่ในลำดับที่ต่ำกว่า 60 ในหลายพื้นที่ เช่น ปทุมธานี (62) ขอนแก่น (63) ระยอง (64) สมุทรสาคร (68) พระนครศรีอยุธยา (70) นครราชสีมา (71) เชียงใหม่ (73) ภูเก็ต (74) ชลบุรี (75) สมุทรปราการ (76)
ยิ่งไปกว่านี้หลายจังหวัดยังมีความสามารถในการรับมือไม่สูง ในจำนวนจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีความอภิวัฒน์รอบด้านหรือที่เราเรียกว่า “จังหวัดอภิวัฒน์” ได้แก่ ชลบุรีมาเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยขอนแก่น นครราชสีมา นนทบุรี อุดรธานี เชียงใหม่ อุบลราชธานี ปทุมธานี และสงขลา
สรุปได้ว่าระดับการพัฒนาเศรษฐกิจไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนแต่อย่างใด อบจ. ใดสนใจข้อมูลข้างบนสามารถติดต่อสอบถามจากมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะได้ที่อีเมล ppsi.cm2011@gmail.com
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 11 มีนาคม 2568