สัญญาณเตือนภัย "เศรษฐกิจโลก" ส่อถดถอย?
ไม่รู้ว่า "ไทย" พร้อมแค่ไหนกับการรับมือความเสี่ยงใหญ่ของเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณหลายตัวบ่งชัดว่ากำลังเดินสู่ "ภาวะถดถอย" อีกครั้ง?
แม้ว่า “เจอโรม พาวเวล” ประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะปลอบประโลมตลาดด้วยการบอกว่า เศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก ยังขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง การจ้างงานอยู่ในระดับที่ดี และเงินเฟ้อกำลังเดินสู่เป้าหมายที่เฟดกำหนดไว้ แต่ตัวเลขหลายๆ ตัวที่ทางการสหรัฐประกาศออกมา ดูจะสวนทางกับสิ่งที่ “พาวเวล” พูดเอาไว้
โดยเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ค่อนข้างมาก ขณะที่อัตราการว่างงานก็ปรับขึ้นสู่ระดับ 4.1% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 4.0% ในขณะที่แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ของ “เฟด” สาขาแอตแลนตา สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐไตรมาสแรกปี 2568 ที่หดตัวถึง 2.4%
อีกประเด็นสำคัญที่กำลังดึงเศรษฐกิจโลกเดินไปสู่จุดวิกฤติ คือ นโยบายการค้าของประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ของสหรัฐ ที่เตรียมขึ้นภาษีในหลายๆ ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ ซึ่งนโยบายนี้ถูกมองว่าเป็น “อาวุธนิวเคลียร์ทางเศรษฐกิจ” เนื่องจากมีผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศที่ถูกกำหนดภาษีอย่างมาก และยังกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย ที่สำคัญไปกว่านั้นนโยบายดังกล่าวยังส่งผลกระทบกลับมายังเศรษฐกิจของสหรัฐเองด้วย
เราพาไปดูคำเตือนของ “กูรู” เศรษฐกิจระดับโลกที่หลายคนออกมาทำนายว่า โลกกำลังเดินสู่จุดเสี่ยงครั้งใหม่ทางเศรษฐกิจ โดยแบบจำลองของ “เจพี มอร์แกน” บ่งชี้ว่า โอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเพิ่มขึ้นถึง “เท่าตัว” มาอยู่ที่ 31% จากปลายปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 17% ขณะที่นักลงทุนชื่อดังอย่าง “เรย์ ดาลิโอ” ก็เตือนว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงเกิด “หัวใจวาย” ได้หากยังไม่เร่งลดการขาดดุลงบประมาณลง
ก่อนหน้านี้ทั้ง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) และ ธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์) ต่างออกมาเตือนถึงความเสี่ยงใหญ่ของเศรษฐกิจโลกจากนโยบายด้านการค้าของสหรัฐ ที่จะลากเศรษฐกิจจากทั่วโลกพังลงมา ซึ่งเวลานี้เราเริ่มเห็นสัญญาณที่น่ากังวลในหลายๆ จุด
ล่าสุด “ทรัมป์” เล็งที่จะเก็บภาษีกลุ่มยานยนต์ ยา และ เซมิคอนดักเตอร์ ทำให้ภาคเอกชนไทยห่วงว่า การตั้งกำแพงภาษีดังกล่าวจะทุบเศรษฐกิจไทยพังด้วยเช่นกัน จึงอยากเห็นรัฐบาลเร่งตั้ง “ทีมพิเศษ” เพื่อหวังแก้เกมดังกล่าว เราเห็นความพยายามดิ้นรนของภาคเอกชนต่อการเอาตัวรอดจากวิกฤติรอบใหม่ที่กำลังมาเยือน ซึ่งก็หวังว่ารัฐบาลจะแบ่งเวลาแก้ปัญหาการเมืองมาดูแลเรื่องเหล่านี้ด้วยเช่นกัน!
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 12 มีนาคม 2568