ออสเตรเลีย ส่งคณะผู้แทนการศึกษาเยือนไทย มุ่งส่งเสริมความร่วมมือด้านการเรียน
สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยเปิดเผยว่า สำนักงานการพาณิชย์และการลงทุนออสเตรเลีย (Austrade) นำคณะผู้แทนจากสถาบันการศึกษาและฝึกอบรมของออสเตรเลียจำนวน 19 แห่ง เยือนประเทศไทยและกัมพูชา ระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคม
นายแดเนียล บอยเยอร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Austrade กล่าวว่า คณะนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาข้ามชาติ (Transnational Education: TNE) และการพัฒนากำลังแรงงานร่วมกับไทย
“ภารกิจนี้จะช่วยให้สถาบันจากออสเตรเลียได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภูมิทัศน์การศึกษา กฎระเบียบ และความต้องการของอุตสาหกรรมในประเทศไทยโดยตรง” นายบอยเยอร์กล่าว และบอกอีกว่านอกจากนี้ สถาบันการศึกษาในไทยยังมีโอกาสจับคู่กับพันธมิตรจากออสเตรเลีย ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำหลักสูตรร่วมกัน การพัฒนาหลักสูตร การทำวิจัย หรือการเสริมสร้างขีดความสามารถและทักษะ
ภารกิจของคณะนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่ปี 2583 ของออสเตรเลีย ซึ่งระบุว่าภาคการศึกษาและการพัฒนาทักษะเป็นหนึ่งในภาคส่วนสำคัญที่ช่วยปลดล็อกโอกาสความร่วมมือระหว่างออสเตรเลียและไทย
คณะผู้แทนจากออสเตรเลียประกอบด้วยตัวแทนจากสถาบันต่าง ๆ ได้แก่ Alana Kaye College, Australian Pacific College and English Unlimited, Charles Sturt University, Chisholm Institute, Curtin University, Deakin University, HEX, Macquarie University, Melbourne Polytechnic, RMIT University, University of Queensland, University of Tasmania, University of Adelaide, University of New South Wales, University of Sydney, University of Technology Sydney, University of Wollongong College, Scape Australia และ West Australian Institute of Further Studies
ดร.แอนเจลา แมคโดนัลด์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย กล่าวว่า ออสเตรเลียมีมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก และสถาบันหลายแห่งมีหลักสูตรที่ได้รับการรับรองในระดับสากล ออสเตรเลียพร้อมเป็นพันธมิตรกับประเทศไทยเพื่อพัฒนาขีดความสามารถสำหรับตลาดการศึกษาที่นี่ในระยะยาว โดยเฉพาะในภาคการผลิตขั้นสูง ภาคบริการ และทักษะด้านสิ่งแวดล้อม (Green Skills)
“ความร่วมมือระหว่างออสเตรเลียและประเทศไทยจะช่วยให้เกิดการพัฒนากำลังแรงงานที่พร้อมสำหรับอนาคต อีกทั้งยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น” ดร.แอนเจลากล่าว
กำหนดการของคณะผู้แทนในกรุงเทพฯ ประกอบด้วย การหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยและผู้แทนภาคอุตสาหกรรม โอกาสในการสร้างเครือข่าย และการเยี่ยมชมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ โดยหลังจากจบกำหนดการในประเทศไทย คณะผู้แทนจะเดินทางต่อไปยังกัมพูชาเพื่อสำรวจโอกาสเพิ่มเติม
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 12 มีนาคม 2568