เศรษฐกิจ "สหรัฐอเมริกา" กำลังถูกทำลายโดยทรัมป์
นับตั้งแต่ "โดนัลด์ ทรัมป์" หวนกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง พร้อมกับนโยบายเศรษฐกิจ-การค้า แบบพิลึกพิลั่น ไม่อยู่กับร่องกับรอย สร้างความปั่นป่วน วุ่นวายไปทั่วโลก เพราะยากจะคาดเดา และวิเคราะห์สถานการณ์ล่วงหน้าใด ๆ ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า ภายใต้การกระทำต่าง ๆ เหล่านั้น จิตเจตนาที่แท้จริงของทรัมป์ ต้องการอะไรกันแน่
ที่แน่ ๆ ก็คือ ทรัมป์ ทำให้เค้าลางของสงครามการค้าครั้งใหญ่ก่อตัวขึ้นทุกหัวระแหง นับตั้งแต่ประกาศขึ้นภาษีสำหรับสินค้าที่นำเข้าจากจีน เม็กซิโก และ แคนาดา ที่แม้ว่าจะดำเนินไปในลักษณะ ติด ๆ ดับ ๆ แต่ก็ส่งผลให้บรรดาประเทศที่ตกเป็นเป้า ประกาศขึ้นภาษีต่อสินค้าจากสหรัฐอเมริกาเป็นการตอบโต้ ในขณะที่ทรัมป์เองข่มขู่สำทับซ้ำว่า จะใช้มาตรการนี้กับทุกประเทศที่ทำการค้ากับสหรัฐอเมริกา
สหรัฐอเมริกาได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อเศรษฐกิจโดยรวมของทั้งโลก ดังนั้นจึงไม่แปลกที่พฤติกรรม และนโยบายที่พลิกผันกะทันหันและคาดเดาไม่ได้ที่ว่านี้ ส่งผลให้ความหวั่นกลัวว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจของทั้งโลกชะลอตัวลง
จนเป็นที่มาของการระดมเทขายหุ้นในตลาดครั้งใหญ่ ซึ่งเริ่มต้นที่ตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาเอง ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า ในความเป็นจริงแล้ว นโยบายการค้าของทรัมป์ กำลังทำลายเศรษฐกิจของประเทศตัวเองอย่างใหญ่หลวง
และส่งผลเสียหายให้เกิดขึ้นมากกว่าที่จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศอื่น ๆ อย่างที่ทรัมป์ข่มขู่และจินตนาการเอาไว้ โดยการสั่นคลอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทำลายขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความเสียหายให้กับการเติบใหญ่ขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในระยะยาวนั่นเอง
สิ่งที่ทรัมป์ใช้เป็นเหตุผลหรือเป็นข้ออ้างมาตลอดก็คือ ภาวะขาดดุลทางการค้าของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาอ้างว่าเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกา ถูกนานาประเทศเอารัดเอาเปรียบมาช้านาน แต่นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า ความไม่สมดุลที่ว่านั้นเป็นธรรมชาติของระบบการค้า เป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยให้ระบบคงอยู่ได้ และในท้ายที่สุดก็จะอำนวยประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายในระบบ
ตัวอย่าง เช่น นาย ก. ซื้อของจากร้านนาย ข. เป็นประจำ แต่นาย ข. กลับไม่เคยซื้ออะไรจากนาย ก.เลย แต่กลับนำเงินที่ได้จากการขายไปซื้อสินค้าที่ตนต้องการจากร้านอื่น ๆ แทน วันดีคืนดี นาย ก. ออกมาเรียกร้องให้นาย ข. ซื้อจากตนเองบ้าง ซึ่งเท่ากับเป็นการเรียกร้องหาสมดุลทางการค้าระหว่าง นาย ก. กับนาย ข. ที่เป็นปัญหาก็คือ การเรียกร้องดังกล่าวจะไม่หยุดอยู่แค่นั้น แต่จะลุกลามออกไป แล้วในที่สุดทุกคนก็จะออกมาเรียกร้องแบบเดียวกัน
ผลลัพธ์ก็คือ การค้าทั้งระบบหยุดนิ่งสนิท มีเพียงหนทางเดียวที่การค้าจะเกิดขึ้นได้ นั่นก็คือการหวนกลับไปใช้ระบบ “บาร์เตอร์เทรด” คือการแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกัน หลังจากต่างฝ่ายต่างประเมินแล้วว่า มีคุณค่าเท่าเทียมกัน
โดยข้อเท็จจริงแล้ว ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกาก็ชวนให้น่าวิตกอยู่ไม่น้อย เมื่อเริ่มต้นปี 2025 สหรัฐอเมริกามียอดขาดดุลการค้าโดยรวมสูงถึง 134,400 ล้านดอลลาร์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งนั่นหมายความว่า ประเทศอื่น ๆ พากันขายสินค้าให้กับสหรัฐอเมริกา แล้วพากันเก็บเงินดอลลาร์ที่ได้มาสำรองเอาไว้ สำหรับเพื่อใช้จ่ายในอนาคต ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเรียกว่า เป็นราคาที่สหรัฐอเมริกาต้องจ่าย ฐานที่มีเงินตราเป็นสกุลเงินที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่ต้องการ
เพราะแน่นอน คงไม่มีชาติไหนที่อยากขายสินค้าให้เกาหลีเหนือ แล้วนำเงินเกาหลีเหนือมาเก็บตุนเอาไว้ ตรงกันข้าม เงินดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกา เป็นสกุลเงินที่ได้รับความเชื่อถือและมีเสถียรภาพ จึงถูกใช้เป็นเงินสำรองของนานาประเทศ สงครามภาษีของทรัมป์ จึงกำลังทำลายบทบาทของเงินดอลลาร์ในฐานะเป็น “โกลบอลเคอร์เรนซี” ไปในตัวนั่นเอง
ปัญหาใหญ่ที่สุดของการใช้วิธีการขึ้นภาษีเพื่อลงโทษประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าก็คือ การโต้ตอบโดยใช้วิธีการเดียวกันจากประเทศที่ตกเป็นเป้า อย่างที่เรียกกันว่า สงครามการค้า ที่ในที่สุดก็จะกลายเป็นวัฏจักรชั่วร้ายที่สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย
ตัวอย่างที่เห็นกันชัด ๆ ก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมที่นำเข้าจากแคนาดา เป็น 25% ก็ถูกตอบโต้ด้วยการขึ้นค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บสำหรับการส่งออกกระแสไฟฟ้าให้กับสหรัฐอเมริกาเพิ่มเป็น 25% ที่ทำให้ทรัมป์ถึงกับต้องประกาศภาวะฉุกเฉินและเพิ่มภาษีขึ้นเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ แต่สุดท้ายก็ต้องประกาศระงับการขึ้นภาษีและตกลงที่จะเปิดการเจรจาซึ่งกันและกันแทน
สงครามภาษีทำนองนี้ มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับ สหภาพยุโรป, จีน, บราซิล และบรรดาประเทศคู่ค้าอีกมากมายของสหรัฐอเมริกา ผลก็คือ สหรัฐอเมริกา ที่จำเป็นต้องพึ่งพาสินค้านำเข้าจากหลายประเทศ ตกอยู่ในสภาพกักตัวเองอยู่ภายในกำแพงภาษีที่สร้างขึ้นด้วยตัวเอง อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศจะถีบตัวสูงขึ้น เช่นเดียวกับต้นทุนการผลิตสินค้าในสหรัฐอเมริกาเอง ซึ่งส่งผลให้ศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าที่ผลิตโดยสหรัฐอเมริกาลดลง สูญเสียตลาดสำคัญ ๆ ให้กับทั้งอียู และจีน ไปในที่สุด
ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นก็คือ นโยบายและพฤติกรรมของทรัมป์ แม้เพียงได้รับตำแหน่งมาไม่ช้าไม่นาน ก็กระตุ้นให้เกิดการหารือกันขึ้นระหว่างประเทศอื่น ๆ เพื่อกระชับความร่วมมือทางด้านการค้าซึ่งกันและกันให้มากขึ้น
ตัวอย่าง เช่น การเจรจาว่าด้วยความตกลงทางด้านการค้าฉบับใหม่ระหว่าง อินเดีย กับ อียู กำลังใกล้จะสำเร็จอยู่รอมร่อ ในขณะที่จีน, เม็กซิโก และ แคนาดา ก็เริ่มเปิดการเจรจาเพื่อให้ความสัมพันธ์ด้านธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศทั้งสามขยายกว้างและลงลึกมากยิ่งขึ้น
ในระยะสั้น นโยบายการค้าของทรัมป์อาจสร้างความเสียหาย ก่อให้เกิดความยุ่งยากทางเศรษฐกิจขึ้นกับนานาประเทศทั่วโลก แต่ในระยะยาวแล้ว ประเทศที่ทรัมป์สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นได้มากที่สุด อาจเป็น สหรัฐอเมริกา
ประเทศที่ทรัมป์ ทำให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ไม่ใช่สหรัฐอเมริกา แต่เป็นนานาประเทศนั่นเอง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 20 มีนาคม 2568