ถอดบทเรียนต่างประเทศ ออกกฏหมายสกัด "นักลงทุนจีน" ดัมพ์ราคาอสังหา
KEY POINTS
* ปี 2023 “นักลงทุนจีน” ครองตำแหน่งผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 นักวิเคราะห์ชี้จีนกำลังกวาดซื้ออสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐเพื่อ "หลบเลี่ยงภาษีและการถูกตรวจสอบ"
* รายงาน UPenn เผยตลาดต่างประเทศงัด "ภาษีผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่างชาติ" คุมจำนวนผู้ซื้อชาวต่างชาติและรักษาเสถียรภาพของราคาบ้านในตลาดท้องถิ่น
* สมาชิกรัฐสภาสหรัฐเสนอร่างกฎหมายห้าม ‘จีน’ ถือครองที่ดินบุคคลต่างชาติใดๆ ที่ซื้อที่ดินในรัศมี 100 ไมล์จากฐานทัพทหารสหรัฐจะต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลก่อน
ในปีที่ผ่านมา “นักลงทุนจีน” ครองตำแหน่งผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยที่เป็นชาวต่างชาติในสหรัฐเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 โดยเป้าหมายอันดับหนึ่งคือแถบแคลิฟอร์เนียและนิวยอร์ก
รายงานล่าสุดของสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่าชาวจีนได้ใช้จ่ายเงินทั้งสิ้น 7.5 พันล้านดอลลาร์ ในการซื้อบ้านในสหรัฐในช่วง 12 เดือนสิ้นสุดเดือนมี.ค. 2024 ซึ่งลดลงกว่า 40% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดย NAR ระบุว่านักลงทุนชาวจีนกว่า 1.5 ล้านราย คือชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และไต้หวัน
จีนแห่ซื้ออสังหาสหรัฐ ‘เลี่ยงภาษี’ :
จำนวนการซื้อสังหาริมทรัพย์ของชาวจีนในสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น นักวิเคราะห์ระบุว่าผู้ซื้อชาวจีนกำลังกวาดซื้ออสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐเพื่อ "หลบเลี่ยงภาษีและการถูกตรวจสอบ" ในประเทศจีนทำให้อสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศมีราคาถูกกว่าเพราะไม่มีกฎระเบียบควบคุม
เบนจามิน คีย์ส์ ศาสตราจารย์ด้านอสังหาริมทรัพย์กล่าวว่าสาเหตุหลักมาจากชาวจีนที่มีฐานะร่ำรวยที่ย้ายเงินของตนไปต่างประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีและเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบในจีน
ตามรายงานของ Wharton Business Journal ในวารสารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (UPenn) ตลาดต่างประเทศหลายแห่งได้ใช้ “ภาษีผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่างชาติ” มาใช้เพื่อควบคุมจำนวนผู้ซื้อชาวต่างชาติและรักษาเสถียรภาพของราคาบ้านในตลาดท้องถิ่น
รายงานเผยถึงนโยบายในเขตต่างๆ ที่ถูกเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการลงทุนจากต่างชาติที่ทำให้ราคาตลาดอสังหาริมทรัพย์ในท้องถิ่นพุ่งสูงขึ้นอย่างเช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง รัฐบริติชโคลัมเบียและออนแทรีโอของแคนาดา รัฐวิกตอเรียในออสเตรเลีย
สิงคโปร์ :
สิงคโปร์เริ่มใช้มาตรการเก็บภาษี "อากรแสตมป์" หรือ ภาษีที่เก็บจากการทำสัญญาตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่อัตรา 20% ขณะเดียวกันในฮ่องกง ก็เรียบเก็บภาษีอากรแสตมป์ สูงถึง 30% รวมทั้งผู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 ก็จะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่ใกล้เคียงกันอีกด้วย
นิวซีแลนด์ :
นิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่ราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูงขึ้นจากการลงทุนจากจีน ทำให้ปัจจุบันนิวซีแลนด์เรียกเก็บภาษีจากผู้ซื้อที่ไม่ใช่ผู้มีถิ่นพำนักอาศัยในประเทศ 15%
แคนาดา :
ในแคนาดา รัฐบาลจะหักภาษี ณ ที่จ่าย 50% จากการขายอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติ
ออสเตรเลีย :
ออสเตรเลียเรียกเก็บภาษี 12.6% จากผู้ซื้อชาวต่างชาติที่ซื้อบ้านที่มีมูลค่ามากกว่า 750,000 ดอลลาร์ ตั้งแต่ปี 2017 ถึงปัจจุบัน
ล่าสุดรัฐบาลออสเตรเลียออกมาตรการห้ามชาวต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่แล้วโดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ไปจนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2027 รวมทั้งนักเรียนต่างชาติและผู้ย้ายถิ่นฐานชั่วคราวที่ถือวีซ่าทำงานประเภท 457 จะถูกห้ามซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่แล้ว แต่ได้รับอนุญาตให้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่สร้างขึ้นใหม่ได้
ประเทศเหล่านี้ล้วนเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมจากผู้ซื้อชาวต่างชาติที่ต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยและเพื่อป้องกันไม่ให้ราคาบ้านพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากความต้องการซื้อของชาวต่างชาติ
‘สหรัฐ’ เสนอร่างกฎหมายห้าม ‘จีน’ ถือครองที่ดิน :
พระราชบัญญัติภาษีการลงทุนจากต่างประเทศในอสังหาริมทรัพย์ (FIRPTA) ที่ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1980 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มั่นใจว่าชาวต่างชาติจะต้องเสียภาษีกำไรที่ได้จากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ โดยกำหนดให้ชาวต่างชาติทำการขายหรือโอนต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% จากราคาขายของทรัพย์สินในสหรัฐที่
เหตุการณ์ล่าสุดในปี 2022 บริษัทผู้ผลิตอาหารชื่อ Fufeng Group ได้ซื้อที่ดินในสหรัฐขนาด 370 เอเคอร์เพื่อใช้ในการสร้างโรงสีข้าวโพดใกล้กับฐานทัพอากาศในรัฐนอร์ทดาโคตา ทำให้ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีไบเดนต้องเสนอกฎระเบียบใหม่ ซึ่งกำหนดให้บริษัทหรือบุคคลต่างชาติใดๆ ที่ต้องการซื้อที่ดินภายในรัศมี 100 ไมล์จากฐานทัพทหารสหรัฐฯ บางแห่ง (รวมถึงฐานทัพในนอร์ทดาโคตาด้วย) จะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลก่อน
จากนั้นในปี 2023 รัฐสภาสหรัฐมีการเสนอร่างกฎหมายมากถึง 81 ฉบับใน 33 รัฐ ที่มีเป้าหมายเพื่อห้ามชาวจีนถือครองที่ดินในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลกลางกำลังเร่งความพยายามในการจำกัดหรือสอบสวนธุรกิจที่มีเจ้าของเป็นชาวจีน เช่น TikTok และ Temu
สมาชิกรัฐสภาหลายคนที่สนับสนุนร่างกฎหมายจำกัดการถือครองที่ดินของชาวจีน ได้อ้างถึงความกังวลด้านความมั่นคงของชาติ เช่น ความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจีนอาจใช้ที่ดินเหล่านั้นเพื่อตั้งหน่วยสืบราชการลับ หรือความกังวลว่าความมั่นคงด้านอาหารของสหรัฐอาจตกอยู่ในอันตรายหากมีการซื้อที่ดินทำการเกษตรมากเกินไป ความกังวลเหล่านี้ส่วนหนึ่งได้รับแรงกระตุ้นจากเหตุการณ์บอลลูนสอดแนมของจีนที่ถูกพบเห็นลอยข้ามน่านฟ้าของประเทศในปี 2023
นักลงทุนจีนบุก ‘อาเซียน' เข้าไทย :
NAR ระบุว่านักลงทุนจีนกำลังมุ่งหน้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีภูมิศาสตร์อยู่ใกล้กว่า มีวัฒนาธรรมสอดคล้องกับจีนมากกว่า รวมทั้ง “ราคาไม่แพงอีกด้วย”
นักลงทุนจีนหลั่งไหลออกนอกประเทศ ซึ่งประเทศ ”ไทย“ ก็กลายเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญ โดย “ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์” (REIC) เผยสถิติการซื้อคอนโดมิเนียมของชาวต่างชาติในไทยปี 2024 พบว่า "จีน" ยังคงครองตำแหน่งอันดับ 1 อย่างไม่มีคู่แข่ง ด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 38.9% คิดเป็น 5,670 หน่วย มูลค่ารวม 26,561 ล้านบาท
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 20 มีนาคม 2568