"เอสเอ็มอี" สแกน "ช้อปหนี้เสีย" ขายต้องคุ้ม ซื้อต้องถูก
ยังคงพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ สำหรับภาพหนี้เสียหรือหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สะท้อนจากข้อมูลของเครดิตบูโร ณ เดือนมกราคม 2568 พบว่ามียอดคงค้าง 1.22 ล้านล้านบาท มีจำนวนบัญชี 9.5 ล้านบัญชี คิดเป็นสัดส่วน 9% ของยอดหนี้ครัวเรือนในระบบเครดิตบูโรที่ 13.6 ล้านล้านบาท
เมื่อเจาะรายละเอียดตามยอดหนี้คงค้างตั้งแต่ 1 แสนบาทลงไปจนถึงมากกว่า 1 ล้านบาท พบว่ายอดคงค้าง 1 แสนบาทลงไปที่เป็น NPL มีอยู่ประมาณ 3.4 ล้านคน ที่เป็นลูกหนี้ คิดเป็น 65% ของจำนวนรายลูกหนี้ที่เป็น NPL ยอดหนี้คงค้างกลุ่มนี้มีจำนวน 1.23 แสนล้านบาท เกือบ 4.7 ล้านบัญชี
จากภาพดังกล่าวและหนี้ครัวเรือนที่แตะ 90% โดยยังไม่มีท่าทีจะลดน้อยถอยลง ทำให้รัฐบาลเกิดไอเดียจะรับซื้อหนี้ของประชาชนออกจากสถาบันการเงิน เพื่อลดภาระหนี้และกระตุ้นเศรษฐกิจ พลันที่แนวคิดเปิดเผยออกมา มีทั้งเสียงหนุนและค้าน
เมื่อถามถึงโจทย์ซื้อหนี้ที่นำออกนอกระบบ แบ่งเค้กทำกำไร ขายคละเหมาเข่ง ช่วยกันทำอย่างไรไม่ให้หนี้วนซ้ำกลับมาใหม่?
แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานยุทธศาสตร์ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ให้ความเห็นว่า 1.(คน) ขายต้องคุ้ม (คน) ซื้อต้องถูก ลูกหนี้ต้องรับการติดตามทวงถามจ่ายคืนดำเนินคดี เป็นการหมดภาระหรือแค่เริ่มต้นกับการเปลี่ยนเจ้าหนี้รายใหม่?
2.ดอกเบี้ยท่วมต้น ปรับแบบท่วมท้น เจ้าหนี้รับไปเกินคุ้ม ยื้อจ่าย หยุดหนี้ หรือไปต่อที่ศาลต้องมีความชัดเจนในการบริหารจัดการ
3.หนี้แบบมีหลักประกันและแบบไม่มีหลักประกัน รวมทั้งหนี้แบบมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันและไม่มี บสย.ค้ำประกัน มีวิธีการบริหารอย่างไร?
4.ซื้อหนี้ ลูกหนี้เคลียร์จบ “เครดิตบูโร” บริหารจัดการอย่างไรต่อ ?
5.กระบวนการสร้างวินัยทางการเงินของเอสเอ็มอี ความรับผิดชอบอย่างมีธรรมาภิบาลของลูกหนี้ ที่ต้องมีการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างความตระหนักในการวางแผนการใช้จ่ายอย่างรอบคอบ คำนึงถึงการบริหาร ความเสี่ยงและใช้ตรงวัตถุประสงค์ในการประกอบอาชีพ เพิ่มรายได้ให้ธุรกิจ เพิ่มการเรียนรู้ทักษะการประยุกต์ใช้ “เศรษฐกิจพอเพียง” การบริหารจัดการทางการเงิน การถอดบทเรียนจากการติดกับหนี้เดิมเพื่อไม่ให้เกิดหนี้ใหม่ที่ด้อยคุณภาพ
การแก้หนี้ในระบบ “คุณสู้..เราช่วย” เป็นหนึ่งในกลไกที่น่าสนใจและสร้างโอกาสให้กับลูกหนี้ในภาคประชาชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เพลี่ยงพล้ำ ติดกับดักหนี้ มาตรการจ่ายตรง คงทรัพย์ช่วยเหลือหนี้บ้านไม่เกิน 5 ล้านบาท หนี้เช่าซื้อรถยนต์ จำนำทะเบียนไม่เกิน 8 แสนบาท หนี้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ จำนำทะเบียนไม่เกิน 50,000 บาท และหนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีไม่เกิน 5 ล้านบาท
โดยเฉพาะหากเป็นหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลสามารถนำไปรวมกับหนี้บ้านและรถได้ อีกทั้งยังมีมาตรการจ่าย ปิด จบ และมาตรการลดผ่อน ลดดอก แต่ปัญหาทำไมลูกหนี้กลับลงทะเบียนร่วมโครงการน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เหตุผล คือ
1.แช่แข็ง 1 ปี ห้ามขอสินเชื่อเพิ่ม หากเอสเอ็มอีสามารถฟื้นฟู และกลับมาใหม่ได้เร็วกว่า 1 ปี ทำอย่างไร?
2.มีกลไกการฟื้นฟู ระบบพี่เลี้ยง ที่ปรึกษาเพื่อ Restart ธุรกิจอย่างไร?
3.ช่องทางการติดตามกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการเชิงรุกของแต่ละธนาคาร ซึ่งมีฐานข้อมูลกลุ่มที่เข้าเกณฑ์อยู่แล้ว?
อย่างไรก็ตาม “4 กลไกการแก้หนี้ยั่งยืน” ต้องพิจารณาในทุกมิติ จากสถานการณ์จริงอดีต ปัจจุบัน สู่ฉากทัศน์อนาคตที่ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับเอสเอ็มอี เกษตรกรและประชาชนที่เผชิญสถานการณ์หนี้เรื้อรัง ฉุดรั้งให้เกิดความยากจนซ้ำซ้อน ไม่สามารถออกจาก “กับดับหนี้” ตลอดชีวิต ประเด็นที่ขาดหายไปจาก “คุณสู้ เราช่วย” คือ
(1)กลไกแก้หนี้ในระบบสถาบันการเงิน ต้องมีเจ้าภาพหน่วยงาน องค์กรที่มีอำนาจในการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเจรจา อย่างเป็นระบบ เนื่องจาก “ลูกหนี้ส่วนใหญ่มีเจ้าหนี้หลายราย” ทั้งในระบบอย่างเดียว และบางส่วนเป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบร่วมกัน ซึ่งควรกำหนดให้ “ศูนย์ไกล่เกลี่ย” สำนักงานศาลยุติธรรม ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ภาคประชาชนที่มีอยู่ทั่วประเทศ และสถาบันอนุญาโตตุลาการ เข้ามาเป็นแกนกลางในการรวบหนี้เจรจา เพื่อให้สอดคล้องกับ “ขีดความสามารถของลูกหนี้” ในปัจจุบัน และป้องกันปัญหา “เจรจาไม่จบ จ่ายต่อไม่ไหว”
(2)กลไกแก้หนี้นอกระบบสถาบันการเงิน จากสถานการณ์เอสเอ็มอี ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้ตามปกติทำให้เอสเอ็มอีจำนวนมาก ไหลลงสู่หนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น และสุดท้ายยากที่จะฟื้นกลับคืนมาฉะนั้น การแก้หนี้ ลูกหนี้ที่มีหนี้ทั้งในและนอกระบบจะช่วยให้ลดการติดบ่วงหนี้นอกระบบดอกท่วมต้น
และสิ่งสำคัญ คือ หากลูกหนี้มีหนี้นอกระบบแบบมีหลักประกันและชำระอย่างต่อเนื่อง ต้องมีกลไกในการช่วยเหลือให้สามารถ Refinance หนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบ เพื่อลดภาระและฟื้นฟู อาทิ มีที่มีเงิน ส่วนที่ไม่มีหลักประกันอาจใช้ Good Money เป็นต้น หรือ “นอกระบบชำระดี มี Refinance เข้าระบบ”
(3)กลไกการพัฒนา ฟื้นฟูหนี้ ถอดบทเรียนด้วยระบบโค้ช พี่เลี้ยงทางธุรกิจในเชิงพื้นที่ เพื่อดูแลให้คำแนะนำ การพลิกฟื้นธุรกิจ ส่งต่อบ่มเพาะขีดความสามารถตามความต้องการและลดโอกาสการกลับมาเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ
(4)กลไกการส่งกลับสู่ระบบเศรษฐกิจด้วย “SME Wallet” ได้เครดิตการค้าแบบไม่มีดอกเบี้ย สร้างวินัยการใช้จ่ายเงิน มีดิจิทัลฟุตพรินต์ทั้งการซื้อและการขาย ใช้เงินตามวัตถุประสงค์ของธุรกิจ เพิ่มช่องทางในการนำเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบ
ถือว่า บสย.เป็นกลไกสร้างโอกาสที่สำคัญให้เอสเอ็มอีต้องเร่งเพิ่มการค้ำประกันให้สถาบันการเงินของรัฐ และสถาบันการเงินรัฐต้องปรับการใช้เกณฑ์ที่ผ่อนปรนจากเดิมปลดล็อก “สกอริ่งเข้มๆ” แบบค้านกับนโยบายเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อเอสเอ็มอี แต่ขาดการเชื่อมต่อให้สนับสนุนการนำเงินไปใช้อย่างถูกต้อง คุ้มค่าตามวัตถุประสงค์
นอกจากนั้น “กลไกแก้หนี้” นี้ ยังช่วยส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพผู้ไกล่เกลี่ย อนุญาโตตุลาการ จะเป็นทางเลือกของผู้มีประสบการณ์ทางการเงิน การธนาคารและบริหารธุรกิจ ทั้งที่อยู่ในวัยทำงานและวัยเกษียณ ที่จะพลิกฟื้นสร้างเศรษฐกิจใหม่ ลดภาระงานของศาลยุติธรรม ลดต้นทุนของเจ้าหนี้และลูกหนี้ การเข้าถึงการใช้ประโยชน์ให้ลูกหนี้ได้เจรจาพร้อมกันและสามารถใช้เงินคืนได้จริงตามความสามารถ
อีกทั้งสร้างกลไกการพัฒนาให้โอกาส “เอสเอ็มอี”กลับสู่เศรษฐกิจในระบบได้รวดเร็วขึ้น ส่งผลให้เอสเอ็มอีไทยหลุดกับดักหนี้ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันไปสู่ความยั่งยืน เศรษฐกิจไทยเสี่ยงสูงที่เป็น “เศรษฐกิจกดทับ” การสร้างกับดักให้กับเศรษฐกิจวนเวียนกับการแก้ปัญหาเดิมๆ ซ้ำๆ โอกาสในการเข้าถึงมาตรการต่างๆ ยาก ค่าใช้จ่ายนอกระบบสูงระบบเส้นสายฝังรากลึก เหลื่อมล้ำดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรมต้องเร่งแก้ รีบทำ ก่อนเศรษฐกิจไทยติดกับวงล้อมตัวเองแบบพังทั้งระบบ
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 26 มีนาคม 2568