ถึงเวลาที่ไทยควรต้องมีบทบาทในบิมสเทค (BIMSTEC) มากขึ้น (1)
KEY POINTS
* ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศสมาชิกบิมสเทค (BIMSTEC) ครั้งที่ 6 ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 4 เม.ย. 2568
* บิมสเทค เป็นชื่อย่อของกรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation)
* ไทยมีส่วนริเริ่มก่อตั้งขึ้นและมีการลงนามปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) เมื่อปี 2540 เพื่อเป็นกลุ่มความร่วมมือสำหรับ 4 ประเทศเริ่มต้น ได้แก่ บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา และไทย ต่อมาได้ขยายรวมไปถึง เมียนมา เนปาล และภูฏาน ทำให้มีสมาชิกรวมเป็น 7 ประเทศในปัจจุบัน
หลายคนอาจสงสัยหรือไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับบิมสเทคมาก่อน เรามาเริ่มจากว่า บิมสเทคคืออะไร ก่อนละกัน บิมสเทค (BIMSTEC) เป็นชื่อย่อของกรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) ที่ไทยมีส่วนริเริ่มก่อตั้งขึ้นและมีการลงนามปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) เมื่อปี 2540 เพื่อเป็นกลุ่มความร่วมมือสำหรับ 4 ประเทศเริ่มต้น ได้แก่ บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา และไทย
ต่อมาได้ขยายรวมไปถึง เมียนมา เนปาล และภูฏาน ทำให้มีสมาชิกรวมเป็น 7 ประเทศในปัจจุบัน ส่วนสาขาความร่วมมือก็ได้มีการขยายและควบรวมให้กระชับเป็น 7 สาขาในปัจจุบัน ได้แก่ การค้าการลงทุนและการพัฒนา การเกษตร สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การไปมาหาสู่ระหว่างประชาชน และความเชื่อมโยง (connectivity) [1]
บิมสเทคมีนัยอะไรในโลกใบนี้ บิมสเทคเป็นกลุ่มความร่วมมือของประเทศกำลังพัฒนาที่มีความหลากหลายของระดับเศรษฐกิจและการพัฒนา มีทั้งประเทศที่ยังต้องการความช่วยเหลือด้านการพัฒนา ไปจนถึงประเทศที่สามารถส่งดาวเทียมสู่วงโคจรของโลกได้ เช่น อินเดีย บิมสเทคมีประชากรรวมกันมากกว่า 1.73 พันล้านคน มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ในปี 2566 รวมกัน 4.7 ล้านล้านดอลลาร์ (เทียบกับอาเซียนที่มี 3.79 ล้านล้านดอลลาร์) โดยมีอินเดียเป็นพลังขับเคลื่อนที่ใหญ่ที่สุด รองลงมาคือไทย (GDP ของอินเดียและไทยเท่ากับ 75% และ 10% ของ GDP รวมของบิมสเทคทั้งหมด)
นอกจากนี้บิมสเทคยังเป็นตลาดสินค้าและตลาดแรงงานขนาดใหญ่ เพราะอัตราการเติบโตของประชากรยังอยู่ในระดับสูง และด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยต่อปีของบิมสเทคในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา (ปี 2557-2566) ที่ 6.8% นำโดยอินเดีย จะทำให้กลุ่มชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นกว่า 800 ล้านคน (เฉพาะในอินเดียเพิ่มขึ้น 750 ล้านคน) ในอีก 5 ปีข้างหน้า บิมสเทคจึงถือว่าเป็นตลาดการค้าใกล้บ้านที่มีพลวัตสูงและน่าสนใจ
บิมสเทคสำคัญกับไทยอย่างไร บิมสเทคเป็นปราการด้านตะวันตกที่จะช่วยเสริมเสถียรภาพ ความมั่นคง และลดการแทรกแซงจากมหาอำนาจภายนอกภูมิภาคให้กับไทย นอกเหนือจากที่เรามีอาเซียนเป็นปราการด้านตะวันออกและด้านใต้มากว่า 57 ปีแล้ว
หากประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้มีความมั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจ ก็จะทำให้ไทยสามารถพัฒนาประเทศ ขยายโอกาสด้านการค้า การลงทุนกับประเทศเหล่านี้ได้ และยังทำให้ไทยสามารถใช้ทำเลที่ตั้งเพื่อดึงดูดการลงทุนจากประเทศนอกภูมิภาคเข้ามา ทำให้เราเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่ด้านอุปทานของโลก (Global Supply Chain) เพื่อตอบสนองตลาดที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย 2 ด้าน คือ อินเดียและจีน ดังที่เราได้ใช้ประโยชน์ในกรอบอาเซียน +1 อาเซียน +3 และในกรอบ RCEP
ดังนั้น บิมสเทค จึงเป็นข้อต่ออีกอันหนึ่งที่ขาดไม่ได้ และจะช่วยเสริมนโยบาย Look West ที่รัฐบาลไทยประกาศไว้เมื่อปี 2559 และเสริมประโยชน์ในกรอบ Indo-Pacific ที่กำลังทวีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต โดยไทยสามารถเล่นบทบาทในด้านการเชื่อมโยงได้ทั้งทางบก (Land Link) และทางทะเล (Sea Link) ซึ่งดีกว่าอีกหลายประเทศที่เล่นบทบาทการเชื่อมโยงได้เฉพาะทางบกหรือเฉพาะทางทะเลเท่านั้น
แม้บิมสเทคจะก่อตั้งมา 28 ปีแล้ว แต่ก็มีความคืบหน้าไม่มากนัก ความคาดหวังที่สำคัญในช่วงแรกคือ การจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศสมาชิกบิมสเทค (BIMSTEC Free Trade Area) สำหรับตลาดที่มีประชากร 1.4 พันล้านคนในขณะนั้น โดยเริ่มเจรจากันมาตั้งแต่ปี 2547 แต่ก็ไม่คืบหน้า ยังติดขัดเรื่อง การแลกเปลี่ยนรายการสินค้าที่จะนำมาลดภาษีระหว่างกัน แต่หลังจากนั้นก็ไม่เคยมีการประชุมกันอีกเลย ทั้งในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและรัฐมนตรีด้านการค้าเพื่อติดตามผลเป็นเวลากว่า 20 ปี
สำหรับสาขาที่มีความคืบหน้าพอสมควรคือ ด้านความมั่นคง ที่มีการจัดทำความตกลงร่วมมือ 3 ฉบับ[2] มีความตกลงร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติ และจัดตั้งศูนย์บิมสเทคว่าด้วยอากาศและสภาพแวดล้อม (BIMSTEC Centre for Weather and Climate) ที่เมือง Noida รัฐอุตรประเทศ ของอินเดีย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสภาพอากาศและช่วยลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในหมู่ประเทศสมาชิก
รวมทั้งมีความร่วมมือ ด้านพลังงานซึ่งรวมถึงการจัดตั้งศูนย์ด้านพลังงานของบิมสเทค (BIMSTEC Energy Centre) ที่เมือง Bengaluru ของอินเดีย ส่วนด้านความเชื่อมโยงที่ไทยเป็น lead country นั้น ก็มีความคืบหน้าจนสามารถสรุปการเจรจาความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล (Agreement on Maritime Transport Cooperation) และคาดว่าจะมีการนามความตกลงในห้วงการประชุมผู้นำที่จะมีขึ้นนี้
ส่วนความร่วมมือในด้านอื่นๆ ก็ดำเนินไปแบบล่าช้าด้วยความไม่พร้อมของสมาชิกบางประเทศ ทั้งที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม แต่เมื่อใกล้เวลาก็มักจะยกเลิกหรือเลื่อนการประชุมออกไปอีก กลายเป็นปัญหาเรื้อรังในบิมสเทค ผลพวงจากการระบาดของโควิด-19 (ปี 2563-2565) ทำให้บิมสเทคไม่มีการประชุมหารือระหว่างกันเลย
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2565 จึงมีการประชุมผู้นำครั้งที่ 5 แบบออนไลน์ ที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา เพื่อส่งมอบตำแหน่งประธานของบิมสเทค (วาระ 2 ปี) ให้แก่ไทย และในช่วงที่ไทยเป็นประธานก็มีแผนที่จะจัดการประชุมผู้นำในช่วงเดือนพ.ย. 2566 แต่ก็เลื่อนออกไปเป็นเดือนก.ย. 2567 และเลื่อนออกไปอีกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลใหม่ของไทย และกำลังจะมีการประชุมได้ในครั้งนี้
จากการที่บิมสเทคไม่มีความคืบหน้ามากนัก ผู้นำของบิมสเทคเมื่อเดือนต.ค. 2559 จึงได้เห็นชอบให้จัดตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นมา 1 ชุด โดยมีผู้แทนไทยเป็นประธาน ทำหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะทิศทางความร่วมมือของบิมสเทคในอนาคตให้ผู้นำบิมสเทคพิจารณา ซึ่งคณะผู้ทรงคุณวุฒิได้จัดทำรายงานและเสนอผ่านเลขาธิการบิมสเทคให้ผู้นำได้พิจารณารายงานดังกล่าวในการประชุมผู้นำบิมสเทคในเดือนเม.ย.นี้ด้วย
ผมขอเกริ่นให้ฟังมาเท่านี้ก่อน แล้วจะมาเล่าต่อถึงผลการศึกษาของคณะผู้ทรงคุณวุฒิข้างต้นในคราวต่อไป
เชิงอรรถ :
ดร.สุนทร ชัยยินดีภูมิ อดีตเอกอัครราชทูตและรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิของบิมสเทคเพื่อจัดทำรายงานเสนอแนะผู้นำเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของบิมสเทคในปี 2567 บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนโดยไม่ผูกพันกับท่าทีหรือนโยบายของกระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลไทย
[1] รายละเอียดกิจกรรมของบิมสเทคสามารถสืบค้นได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศ (www.bimstecthailand.com) และ สำนักเลขาธิการบิมสเทค (www.bimstec.org)
[2] ประกอบด้วย
2.1)ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ อาชญากรรมข้ามชาติ และการค้ายาเสพติด (BIMSTEC Convention on Cooperation in Combating International Terrorism, Transnational Organised Crime and Illicit Drug Trafficking) มีผลบังคับใช้เมื่อ 16 มี.ค. 2564
2.2)ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการช่วยเหลือทางกฎหมายว่าด้วยคดีอาญา (BIMSTEC Convention on Mutual Legal Assistance in Criminal Matters) ซึ่งเจรจาเสร็จเรียบร้อยแล้วและรอกระบวนการภายในเพื่อรองรับการปฏิบัติของประเทศสมาชิกที่เหลือ ได้แก่ ภูฏาน และเนปาล และ
2.3)ความตกลงว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ (BIMSTEC Convention Against Trafficking in Persons) ซึ่งเจรจาเสร็จเรียบร้อยแล้วและรอการลงนามหรือให้ความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกทั้งหมด (บทความโดย ดร.สุนทร ชัยยินดีภูมิ)
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 28 มีนาคม 2568