ถึงเวลาที่ไทยควรต้องมีบทบาทในบิมสเทค (BIMSTEC) มากขึ้น (2)
วันก่อนได้เล่าให้ท่านผู้อ่านฟังเกี่ยวกับบิมสเทค (BIMSTEC) ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำกรอบบิมสเทค ครั้งที่ 6 ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 4 เมษายน 2568 นี้
บิมสเทคเป็นหนุ่มที่กำลังจะก้าวออกจากวัยรุ่นเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่ก็ยังค้นหาตัวเองไม่พบ อยู่ระหว่างการทำความเข้าใจและใช้ประโยชน์ในศักยภาพของตัวเอง และเผชิญกับความท้าทายที่กำลังมาให้ได้
คณะผู้ทรงคุณวุฒิที่ผู้นำของบิมสเทคได้ตั้งขึ้นมา ได้ศึกษาการดำเนินการที่ผ่านมาของบิมสเทคและพบจุดอ่อนในการทำงานของบิมสเทค 5 เรื่อง ได้แก่
(1)ประเทศสมาชิกยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับบิมสเทคมากพอ
(2)เมื่อกำหนดวันประชุมแล้ว แต่ในที่สุดก็มักจะมีการเลื่อนหรือยกเลิกหรือขอทบทวนซ้ำแล้วซ้ำอีก
(3)บิมสเทคไม่มีงบประมาณของตัวเองเพียงพอในการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการที่ตกลงกัน
(4)ขาดกลไก ในการประสานงาน ติดตามและประเมินผลลัพธ์ และ
(5)ขาดการประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนเข้าใจและพร้อมสนับสนุนบิมสเทคต่อไป
คณะผู้ทรงคุณวุฒิจึงได้เสนอให้มีการปรับปรุงกลไกการทำงานของบิมสเทค และเร่งสร้างผลงานให้เป็นรูปธรรมเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากสาธารณชนว่าบิมสเทคจะยังคงมีประโยชน์ (Relevance) ต่อไปในทศวรรษหน้า ซึ่งที่ประชุมผู้นำบิมสเทคที่จะถึงนี้ จะมีวาระเพื่อพิจารณารายงานดังกล่าวของคณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ ด้วย
แม้ความร่วมมือในบิมสเทคจะยังต้องการพลังขับเคลื่อนในหลายด้าน แต่ผมเห็นว่าอย่างน้อยมี 3 ประเด็นหลักที่ไทยควรพิจารณามีบทบาทมากขึ้น ได้แก่
ประการแรก :
ความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนและการพัฒนาเป็นสาขาที่มีศักยภาพมากที่สุดใน การเร่งพัฒนาและสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับภูมิภาคบิมสเทคเร็วที่สุด แต่ทุกวันนี้มูลค่าการค้าระหว่างกันของประเทศสมาชิกบิมสเทค (Intra-BIMSTEC trade) อยู่ที่ร้อยละ 7 ของมูลค่าการค้ารวมทั้งหมดของบิมสเทคเท่านั้น (เทียบกับอาเซียนอยู่ที่ร้อยละ 21 ของมูลค่าการค้ารวมของประเทศสมาชิกอาเซียน) ดังนั้น จึงยังมีโอกาสอีกมากในการเร่งให้เกิดการขยายตัวของการค้าระหว่างกัน
แต่เมื่อดูความคืบหน้าของการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีของบิมสเทคจนถึงขณะนี้แล้ว อาจกล่าวได้ว่าไม่น่าจะประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้ กรอบการเจรจาที่ใช้อยู่ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความตกลงเมื่อปี 2547 หรือ 21 ปีที่แล้ว ซึ่งไม่ได้สอดรับกับบริบทของการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะไม่ได้ครอบคลุมถึงเรื่องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในด้านการค้าหรือการชำระเงิน การส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวที่มีนัยเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม (หรือเศรษฐกิจสีฟ้าที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทร) และภาคบริการสมัยใหม่
เราเสียเวลาไป 20 ปี และก็แทบมองไม่เห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ ดังนั้น เราจึงควรเสนอให้ยกเลิกกรอบการเจรจาความตกลงว่าด้วยเขตการค้าเสรีบิมสเทคที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แล้วเสนอให้มีกรอบการเจรจาใหม่ที่ครอบคลุมประเด็นของการค้าการลงทุนที่ทันสมัยกว่า รวมทั้งตั้งเป้าหมายที่สามารถมองเห็นความสำเร็จ (Achievable) และกำหนดกรอบเวลาการเจรจาที่ต้องจบลงแน่นอน รวมถึงกำหนดสาขาที่จะมีการบังคับใช้ก่อน (Early harvest)
โดยไม่ต้องรอให้จบการเจรจาในทุกเรื่องเสียก่อนแล้วจึงให้ความตกลงเขตการค้าเสรีมีผลบังคับใช้ ยิ่งตัดสินใจช้าไปอีก กระแสความสนใจของการลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ก็จะไหลไปยังภูมิภาคอื่นหมด
ประการที่ 2 :
แม้การค้าการลงทุนและการพัฒนาจะเป็น 1 ใน 7 สาขาความร่วมมือของบิมสเทค[1] แต่ก็เป็นที่น่าประหลาดใจว่าเรากลับมีแต่หัวข้อ แต่ไม่มีกลไกหรือแผนงานที่จะส่งเสริมเรื่องการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมเลย และหากเรายังคงมุ่งเจรจาเฉพาะในกรอบการค้าและการลงทุน ก็ย่อมจะเป็นเรื่องยากที่จะประสบความสำเร็จเพราะสังคมยังคงมีความหวาดระแวงต่อการเจรจาเขตการค้าเสรี เราจึงควรพิจารณารวมประเด็นเรื่องการพัฒนาไว้ภายใต้กรอบการเจรจาเขตการค้าเสรีของบิมสเทคด้วย
แต่ต้องยอมรับว่าประเทศสมาชิก บิมสเทคทั้ง 7 ประเทศมีความพร้อม ศักยภาพ และระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน ทำให้ความร่วมมือใน ด้านต่าง ๆ ของบิมสเทคมีข้อจำกัดและมีระดับความก้าวหน้าที่ต่างกัน เท่าที่ดูในขณะนี้มีเพียงอินเดียและไทยที่มีความพร้อมและศักยภาพในการขับเคลื่อนความร่วมมือในบิมสเทคมากกว่าอีก 5 ประเทศที่เหลือ ดังนั้นหากจะผลักดันความก้าวหน้าอันใดในบิมสเทค ก็จะต้องอาศัยพลังจาก 2 ประเทศนี้มากกว่า เปรียบเสมือนปีก 2 ข้างที่จะช่วยพยุงให้บิมสเทคบินไปข้างหน้าได้
ที่ผ่านมาอินเดียมีบทบาทมากกว่าไทย โดยเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานของบิมสเทคมากที่สุด (ร้อยละ 34) รองลงมาคือไทย (ร้อยละ 17) อินเดียยังเป็นผู้สนับสนุนหลักจัดตั้งศูนย์ต่าง ๆ ของบิมสเทคแล้ว 2 ศูนย์ (ด้านพลังงาน และด้านสภาพอากาศ) และกำลังจะเสนออีก 3 ศูนย์ ได้แก่ ด้านการเกษตร การวิจัยทางทะเล และการขนส่งทางทะเล โดยศูนย์เหล่านี้ตั้งอยู่ในอินเดียทั้งสิ้น ขณะที่บิมสเทคก็มีความตกลงที่จะจัดตั้งศูนย์ด้านการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมที่ภูฏานแต่ก็ยังไม่เกิดขึ้น และมีความตกลงที่จะจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer Centre) ที่ศรีลังกา แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นเช่นกัน
ส่วนไทยนั้นก็ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกบิมสเทคมาโดยตลอดในจำนวนที่ไม่น้อยเลย แต่ก็เป็นในกรอบทวิภาคีกับแต่ละประเทศ ยังไม่มีนโยบายให้ความช่วยเหลือแก่บิมสเทคในภาพรวม ทั้ง ๆ ที่เราก็มีศักยภาพและดำเนินงานอยู่ โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้โครงการพระราชดำริ และด้านสาธารณสุข ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาลไทยยังไม่ได้เล็งเห็นความสำคัญที่จะมีบทบาทในกรอบบิมสเทคมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้บิมสเทคขับเคลื่อนวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ
ดังนั้นเราจึงควรระดมพลัง (synergy) ของหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกัน พิจารณาควบรวม (Consolidate) กิจกรรมการให้ความช่วยเหลือของไทยในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในกรอบทวิภาคีมาใช้ประโยชน์ในกรอบ พหุภาคี
เพื่อให้เราเห็นภาพรวมการให้ความช่วยเหลือของไทยที่เป็นรูปธรรม โดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กต. สามารถมีบทบาทสำคัญในการเป็นจุดศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลและประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานและองค์กรของไทยที่ให้ความช่วยเหลือในขณะนี้
นอกจากนี้ เราควรพิจารณาจัดตั้งศูนย์บิมสเทคเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อแสดงบทบาทและความพร้อมของไทยในภูมิภาคด้วย บทบาทการเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาก็เป็น Soft Power ที่มีความสำคัญเช่นกัน ดังเช่นที่ญี่ปุ่นหรือสาธารณรัฐเกาหลีก็ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
ประการที่ 3 :
การเชื่อมโยง (Connectivity) เป็นสิ่งที่ไทยจะได้ประโยชน์อย่างมากเนื่องจาก ความได้เปรียบด้านที่ตั้ง หากสามารถส่งเสริมให้มีการคมนาคมที่ทันสมัย ไร้รอยต่อ และลดอุปสรรคของ การขนส่งสินค้าและผู้โดยสารก็จะทำให้ไทยเป็นตัวเชื่อมต่อ (Hub) ระหว่างภูมิภาคบิมสเทคและอาเซียน ที่ผ่านมารัฐบาลไทยก็ประกาศให้ความสำคัญกับเรื่องการเชื่อมโยง
ล่าสุดก็มีการเสนอโครงการแลนด์บริดจ์
การประกาศนโยบายเหล่านี้กลับไม่มีการรองรับด้วยท่าทีและนโยบายภายในที่ชัดเจนและมองถึงระยะยาว การเสนอนโยบายใหม่ๆ ก็ไม่ได้รับการกลั่นกรองสนับสนุนด้วยผลการศึกษาความเป็นไปได้หรือความคุ้มทุนของโครงการที่ชัดเจน ทำให้ขาดความหนักแน่น รัฐบาลไทยจึงควรต้องปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ การจะผลักดันโครงการเพื่อการเชื่อมโยงต้องกระทำในทุกระดับ
โดยองคาพยพกลไกราชการ โดยเฉพาะกระทรวงที่เกี่ยวข้องจะต้องเล่นบทบาทเป็นผู้ปฏิบัติที่เอาจริงด้วย
ทั้งนี้ เป็นเรื่องน่ายินดีที่สมาชิกบิมสเทคทั้งหมดสามารถสรุปการเจรจาความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล และอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะลงนามในห้วง การประชุมผู้นำที่จะถึงนี้ เราจึงควรรีบผลักดันให้เกิดกิจกรรมเพื่อใช้ประโยชน์จากความตกลงนี้โดยเร็วต่อไป
ในการประชุมผู้นำบิมสเทคที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้จะมีการออกเอกสารวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 (Bangkok Vision 2030) เพื่อกำหนดทิศทางที่จะนำพาประเทศสมาชิกบิมสเทคไปสู่ความมั่งคั่ง (Prosperous) มีความยืดหยุ่น (Resilient) และเปิดกว้าง (Open) ภายในปี 2573
แต่วิสัยทัศน์จะไม่มีประโยชน์หากขาดการกระทำ (Actions) ที่เป็นรูปธรรมเด่นชัดให้เห็น ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งบิมสเทค และเป็นสมาชิกที่มีศักยภาพรองจากอินเดียในการผลักดันความร่วมมือให้เคลื่อนไปข้างหน้า จึงถึงเวลาแล้วที่ไทยควรต้องแสดงบทบาทอย่างแข็งขันมากกว่านี้ในการผลักดันบิมสเทค เพราะในที่สุดก็จะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากกรอบความร่วมมือนี้ไม่น้อย อย่างน้อยก็ควรเร่งผลักดันให้มีการดำเนินการตามข้อเสนอต่าง ๆของคณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ เพื่อให้มั่นใจว่าบิมสเทคจะมีผลงานเป็นรูปธรรมให้เห็นก่อนการเฉลิมฉลองครอบรอบ 30 ปีของการก่อตั้งบิมสเทคในปี 2570
เชิงอรรถ:
ดร. สุนทร ชัยยินดีภูมิ อดีตเอกอัครราชทูตและรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิของบิมสเทคเพื่อจัดทำรายงานเสนอแนะผู้นำเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของบิมสเทคในปี 2567 บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนโดยไม่ผูกพันกับท่าทีหรือนโยบายของกระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลไทย
[1] ความร่วมมือ 7 สาขา ได้แก่ การค้าการลงทุนและการพัฒนา การเกษตร สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การไปมาหาสู่ระหว่างประชาชน และความเชื่อมโยง (connectivity)
(บทความโดย ดร.สุนทร ชัยยินดีภูมิ)
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 28 มีนาคม 2568