ถอดบทเรียน "อินโดนีเซีย" จากนโยบาย "ประชานิยม" สู่ระเบิดเวลาเศรษฐกิจ
KEY POINTS
* “รูเปียห์” อ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 27 ปี และตลาดหุ้นดิ่ง 7.1% แรงสุดในรอบ 14 ปี ส่งสัญญาณเตือนปัญหาเชิงโครงสร้างในด้านเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ
* 2 นโยบายหลักของ ปธน.ปราโบโว ทั้งการทำ ‘ประชานิยม’ และกองทุน ‘ดานันตารา’ อาจเป็นระเบิดเวลาทางการเงินส่งผลกระทบเศรษฐกิจ
* โครงการอาหารกลางวันฟรีที่ใช้งบมากถึง 950,000 ล้านบาทต่อปี เสี่ยงขาดดุลงบประมาณทะลุเกิน 3% ของ GDP และ Danantara กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติถูกวิจารณ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการและความโปร่งใส
เศรษฐกิจของอินโดนีเซียกำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ เมื่อค่าเงิน "รูเปียห์" อ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 27 ปี และดัชนีหุ้นคอมโพสิตจาการ์ตาลดลงมากถึง 7.1% แรงสุดในรอบ 14 ปี อาจกำลังส่งสัญญาณเตือนปัญหาเชิงโครงสร้างในด้านเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ
ภีมะ ยุธิษฐิระ ผู้อำนวยการบริหารศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์และกฎหมายในจาการ์ตา เตือนว่าการที่ค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่าลงนั้น สะท้อนถึง "ความไม่ไว้วางใจ" ของตลาดที่มีต่อความเป็นผู้นำและนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดี “ปราโบโว สุเบียนโต” ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ “Danantara” ด้วย
นโยบาย ‘ปราโบโว’ กดดัน ‘การคลัง’ :
ครั้งหนึ่ง อินโดนีเซียเคยเป็นตลาดที่ได้รับความนิยมอย่างมากในภูมิภาคนี้ แต่เมื่อปีที่แล้วได้สูญเสียเสน่ห์ในสายตานักลงทุนทั่วโลกอย่างรวดเร็ว แต่รัฐบาลของประธานาธิบดีปราโบโวได้ลดงบประมาณที่จำเป็นหลายด้าน เช่นการลดงบประมาณการศึกษาระดับสูงลง 39% ลดค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพลง 18.5% และลดโครงการสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานลงถึง 73%
ในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับภาวะชะลอตัว การลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้อง แต่กลับเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของประชาชน สร้างความกังวลทางเศรษฐกิจ และจุดชนวนให้นักลงทุนตื่นตระหนกและพากันถอนการลงทุนออกจากประเทศ
นโยบาย “ประชานิยม” ของประธานาธิบดีปราโบโว กลายเป็นหนึ่งความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความมั่นคงของนโยบายเศรษฐกิจ จากโครงการอาหารกลางวันฟรีที่คาดว่าจะใช้งบประมาณมหาศาลถึง 950,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้การขาดดุลงบประมาณของประเทศทะลุเกินกรอบ 3% ของ GDP ที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย
ล่าสุดเมื่อ ก.พ.ที่ผ่านมา อินโดนีเซียตั้ง “ดานันตารา อินโดนีเซีย” (Danantara Indonesia) กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่รวมรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง และประกาศรายชื่อคณะที่ปรึกษา ซึ่งประกอบด้วย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย , มหาเศรษฐี เรย์ ดาลิโอ และนักลงทุน แชปแมน เทย์เลอร์
กองทุนดานันตาราเคยถูกมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่กล้าได้กล้าเสีย แต่ตอนนี้กลับกลายเป็น “ระเบิดเวลาทางการเงิน” ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการและความโปร่งใสว่า การตัดสินใจลงทุนอาจได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางการเมืองมากกว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจ
เมื่อความต้องการงบประมาณจาก 2 นโยบายหลังของปราโบโว ทั้งกองทุน Danantara และนโยบายประชานิยมมารวมกัน อาจก่อให้เกิดภาระทางการคลัง เช่น การขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น
นักลงทุนไม่มั่นใจ 'อินโดนีเซีย’ :
ผลกระทบจากปัจจัยเหล่านี้เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจน เมื่อนักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยถอนเงินลงทุน โดยเมื่อ 18 มี.ค. ดัชนีหุ้นคอมโพสิตจาการ์ตาลดลงมากถึง 7.1% แรงสุดในรอบ 14 ปี จนต้อง “หยุดการซื้อขายหุ้นเป็นครั้งแรก” และลดลงกว่า 12% ในปีนี้ ขณะเดียวกันกองทุนทั่วโลกได้ขายหุ้นอินโดนีเซีย ซึ่งมีมูลค่ากว่า 2 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้
รวมทั้งค่าเงินรูเปียห์ร่วงลงสู่ 16,642 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ ต่ำสุดในรอบ 27 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อปี 2541 และอ่อนค่าลงกว่า 3% ในปีนี้ และเป็นหนึ่งในสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ที่ทำผลงานแย่สุดในปีนี้
แรงกดดันต่อค่าเงินรูเปียห์เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนม.ค. หลังจากธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) “ลดดอกเบี้ย” ลง 0.25% สู่ระดับ 5.75% เหนือความคาดหมายนักเศรษฐศาสตร์ที่คาดว่าจะคงดอกเบี้ย โดย BI เผยว่าต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่าจะทำให้เงินรูเปียห์อ่อนค่าลงก็ตาม สุดท้ายแล้วรูเปียห์อ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดจนทำให้ BI ต้องเข้าแทรกแซงตลาดเกือบทุกวันเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน
ลอยด์ ชาน นักวิเคราะห์ค่าเงินจาก MUFG กล่าวว่า ตลาดเริ่มกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงที่รัฐบาลอินโดนีเซียจะใช้จ่ายเงินมากขึ้น เนื่องจากโครงการทางสังคมต่างๆ ที่รัฐบาลใหม่กำลังดำเนินการอยู่ ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังคงระมัดระวังในการลงทุน และมีความเป็นไปได้ที่ค่าเงินรูเปียห์จะอ่อนค่าลงไปต่ำกว่า 17,000 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ หากทรัมป์ตัดสินใจขึ้นภาษีศุลกากรในสัปดาห์หน้า
สุดท้ายแล้ว เว็บไซต์เอเซียไทมส์รายงานว่า เมื่อเงินทุนไหลออกจากอินโดนีเซีย ค่าเงินรูเปียห์ก็จะยิ่งเปราะบางต่อปัจจัยภายนอกมากขึ้น การอ่อนค่าของเงินรูเปียห์หมายถึงต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และความยากลำบากในการชำระหนี้ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
หลายปัจจัยรุมเร้า ‘เศรษฐกิจ’ :
ค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียที่อ่อนค่าลงในช่วงนี้ไม่ได้มาจากสาเหตุเดียว เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกในและภายนอก
ปัจจัยภายนอกที่สำคัญคือ อินโดนีเซียขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบจากความไม่แน่นอนในการส่งออก อันเป็นผลมาจากนโยบายการค้าของประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ซึ่งอาจทวีความรุนแรงขึ้นในวันที่ 2 เม.ย.นี้
ปัจจัยภายในประเทศได้แก่ ความกังวลเบื้องต้นเกี่ยวกับงบประมาณของอินโดนีเซียที่อาจขาดดุล ความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนสำคัญอย่าง “ศรีมุลยานี อินทราวาตี”
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวลง การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่อ่อนแอลงและความเชื่อมั่นที่ลดลง สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย และทำให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับศักยภาพการเติบโตในอนาคต
ยันเศรษฐกิจ ‘อินโดนีเซีย’ ยังแกร่ง :
อย่างไรก็ดี BI พยายามลดความกังวลของตลาดเกี่ยวกับค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลง โดยยืนยันว่าสถานการณ์ปัจจุบันไม่เหมือนกับวิกฤตเศรษฐกิจปี 1998
ส่วนแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีกระทรวงประสานงานเศรษฐกิจยังคงมั่นใจว่าค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลงนั้นเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว โดยอ้างอิงถึงพื้นฐานเศรษฐกิจภายในประเทศที่แข็งแกร่ง จากเศรษฐกิจที่มีรากฐานมั่นคง ตลาดกำลังฟื้นตัว และมีมุมมองเชิงบวกจากการประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคาร Bank Rakyat Indonesia และ Bank Mandiri ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐขนาดใหญ่สองแห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 27 มีนาคม 2568