"เวียดนาม" คุมเข้มมาตรการหวั่นถูกใช้เป็นฐานเลี่ยงภาษีสหรัฐฯ
เวียดนาม เพิ่มมาตรการตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าและการลงทุนจากต่างชาติ หลังเผชิญแรงกดดัน หวั่นถูกใช้เป็นฐานเลี่ยงภาษีสหรัฐฯ พร้อมปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ
ในภาวะที่ภาคธุรกิจของเวียดนามกำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จึงได้เพิ่มมาตรการควบคุมเกี่ยวกับการปลอมแปลงถิ่นกำเนิดสินค้าและการลงทุนจากต่างชาติ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ และช่วยป้องกันการอาศัยเวียดนามเป็นช่องทางเลี่ยงภาษีโดยมิชอบ
ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้กำหนดอัตราภาษีที่สูงขึ้นสำหรับสินค้าหลายประเภทในหลายประเทศ สร้างความกังวลให้กับภาคธุรกิจของเวียดนามต่อผลกระทบทางอ้อม โดยเฉพาะเมื่อสินค้าต่างชาติหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศเพื่อปลอมแปลงถิ่นกำเนิดที่แท้จริงของสินค้าก่อนส่งออก ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการส่งออกให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
โดยในปี 2567 เวียดนามนำเข้าเหล็กจากจีนเป็นมูลค่ากว่า 12,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 32.2% จากปีก่อนหน้า ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวคาดว่าจะดำเนินต่อไป เนื่องจากจีนยังคงมีอุปทานส่วนเกินของเหล็กจำนวนมาก ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อการแข่งขันของอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ
อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงให้สินค้าส่งออกของเวียดนามถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดและอาจเผชิญกับมาตรการภาษีที่สูงขึ้นจากสหรัฐฯ ปัญหาการปลอมแปลงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า เพื่อเลี่ยงภาษีเคยเกิดขึ้นแล้วในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้
ปัจจุบันแนวโน้มดังกล่าวยังคงเกิดขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอและรองเท้า ซึ่งโรงงานเวียดนามจำนวนมากรับจ้างผลิตสินค้าให้แก่คู่ค้าจากจีน เพื่อนำส่งออกไปยังสหรัฐฯ ภายใต้ถิ่นกำเนิดจากเวียดนาม
ขณะที่ระบบตรวจสอบคุณภาพและถิ่นกำเนิดสินค้าของเวียดนามยังไม่มีความเข้มงวดเพียงพอทำให้บางบริษัทสามารถใช้วัตถุดิบจากจีนในการผลิตสินค้าแล้วติดตรา “สินค้าจากเวียดนาม” หากสถานการณ์นี้ ยังดำเนินต่อไป เวียดนามอาจถูกจับตามองว่าเป็นเพียงฐานการผลิตที่เอื้อให้มีการเปลี่ยนถิ่นกำเนิดสินค้า ส่งผลให้สินค้าส่งออกของประเทศต้องเผชิญกับมาตรการภาษีที่เข้มงวดขึ้นจากสหรัฐฯ และอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะยาว
ทั้งนี้ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูงสุดสามประเทศ ได้แก่ แคนาดา จีน และเม็กซิโก โดยกำหนดให้สินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโกถูกเก็บภาษีนำเข้า 25%
ขณะที่สินค้าจากจีนจะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีก 10% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป นอกจากนี้ สินค้าอุตสาหกรรมหนัก เช่น อลูมิเนียมและเหล็ก ที่ส่งออกจากทั้งสามประเทศไปยังสหรัฐฯ จะต้องเสียภาษีในอัตรา 25% เช่นเดียวกัน
นโยบายดังกล่าวอาจสร้างผลกระทบในหลายมิติ โดยเฉพาะต่อประเทศที่มีเศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกและมีความเชื่อมโยงกับจีน เช่น เวียดนาม ซึ่งอาจเผชิญกับการไหลเข้าของบริษัทต่างชาติที่ต้องการหลีกเลี่ยงภาษีของสหรัฐฯ การโยกย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนามของบริษัทจากจีน แคนาดา และเม็กซิโก อาจนำไปสู่สถานการณ์ที่เวียดนามกลายเป็นฐานผลิตขั้นสุดท้ายของห่วงโซ่อุปทาน และถูกใช้เป็นถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ
อีกหนึ่งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเวียดนามคือการแข่งขันภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นจากสินค้าราคาถูกที่ไหลทะลักเข้ามาในตลาด โดยเฉพาะจากจีน เนื่องจากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ มีอุปสรรคมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตจากจีนมองหาตลาดใหม่เพื่อระบายสินค้า ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศของเวียดนามเอง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเวียดนามยังไม่ได้อยู่ในรายชื่อประเทศที่ต้องเผชิญกับการขึ้นภาษีจากสหรัฐฯ โดยตรง และกลุ่มสินค้าส่งออกหลักของเวียดนามยังไม่ได้รับผลกระทบในทันที สถานการณ์นี้จึงอาจเป็นโอกาสให้เวียดนามดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของสหรัฐฯ
สำหรับประเทศไทย แม้จะไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องเสียภาษีเพิ่มเติมโดยตรง แต่ก็อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะหากมีการลักลอบส่งออกสินค้าจากจีนผ่านเวียดนามหรือไทยไปยังสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งอาจสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมให้กับสินค้าส่งออกของไทยในตลาดสหรัฐฯ และตลาดโลก
นอกจากนี้ หากสหรัฐฯ ตรวจพบว่าไทยมีส่วนเกี่ยวข้องในการปลอมแปลงถิ่นกำเนิดที่แท้จริงของสินค้า หรือเป็นช่องทางให้สินค้าจากจีนเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ โดยหลีกเลี่ยงภาษี ไทยอาจถูกกำหนดมาตรการภาษีตอบโต้หรือมาตรการกีดกันทางการค้าในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยและภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีการค้าระหว่างประเทศ
แม้ว่านโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อเวียดนามและไทย โดยเฉพาะจากความเสี่ยงที่สินค้าจีนอาจถูกลักลอบส่งออกผ่านทั้งสองประเทศเพื่อลดภาระภาษี แต่ในขณะเดียวกัน สถานการณ์นี้ก็เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตลาดส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้โดยตรง โดยพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพสูงเพื่อทดแทนสินค้าจากประเทศที่ถูกขึ้นภาษี
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 31 มีนาคม 2568