จีนเพิ่มผลิตภาพการเกษตรด้วยเทคโนโลยีการเพาะเมล็ดพันธุ์ (1)
จีนเพิ่มผลิตภาพการเกษตรด้วยเทคโนโลยีการเพาะเมล็ดพันธุ์ (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4082
คนไทยมีวลีเด็ดที่ผมจำได้แต่ครั้งวัยเด็กว่า “เรื่องกินเรื่องใหญ่ เรื่องตายเรื่องเล็ก” ขณะที่คนไทยเชื้อสายจีนก็นิยมทักทายกันด้วยการถามไถ่ว่า “กินข้าวหรือยัง?” ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของเรื่องปากท้อง วันนี้ผมจะชวนท่านผู้อ่านไปคุยเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเมล็ดพันธุ์กันครับ
พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนก็ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับเรื่องอาหารมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้ว่า “เอกสารกลางอันดับ 1” (No. 1 Central Document) ของการประชุมพรรคฯ ระบุถึงนโยบายการพัฒนาด้านการเกษตรและชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร มาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ จีนยังกำหนดหลายนโยบายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอาหาร “3S’s” อันได้แก่ ความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) ความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) และ ความยั่งยืนด้านอาหาร (Food Sustainability) รวมทั้งการสร้างความกระชุ่มกระชวยในพื้นที่ชนบท (Rural Revitalization) ในระยะหลัง
แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศ จำนวนประชากร ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและบริการ และปัจจัยอื่นๆ ทำให้พื้นที่ที่เหมาะสำหรับการเพาะปลูกของจีนมีอยู่อย่างจำกัด จีนจึงพยายามทุกวิถีทางอย่างรอบด้านในการเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตรให้มีปริมาณและคุณภาพที่สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ
หนึ่งในวิธีการที่จีนให้ความสำคัญอย่างมากก็ได้แก่ การลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาและนำเอาเทคโนโลยีการเพาะเมล็ดพันธุ์ (Seeding) เพื่อนำไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ในวงกว้าง
จีนตระหนักดีว่า อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์มีบทบาทสําคัญขั้นต้น ในความก้าวหน้าด้านการเกษตร แต่การทำเรื่องดังกล่าวให้เกิดผลเป็ปรูปธรรมในวงกว้างมิได้ราบรื่น และยังต้องใช้เวลาและการสนับสนุนส่งเสริมจากภาครัฐอีกมาก
อาจกล่าวได้ว่า การพัฒนาเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์ของจีนในระยะแรกหลังการเปิดประเทศสู่ภายนอก เป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจากความไม่พร้อมด้านทรัพยากรหลายประการ
ในความพยายามที่จะเพิ่มความมั่นคงด้านอาหาร จีนได้ออกกฎหมายเมล็ดพันธุ์ (Seed Law) ขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี 2000 เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์สมัยใหม่
อย่างไรก็ดี การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ของภาครัฐส่วนใหญ่ มาจากสถาบันวิจัย วิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยที่กระจายตัวในหลายพื้นที่ แต่ก็ยังขาดความคิดริเริ่มในการวิจัยขั้นพื้นฐาน เทคโนโลยีล้ำสมัย และมิติในเชิงพาณิชย์ จึงต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนวิจัยของรัฐที่จำกัดเป็นหลัก
ขณะที่ในส่วนของภาคเอกชน แม้ว่ามีจำนวนกิจการค่อนข้างมาก แต่ยังขาดมิติในเชิงคุณภาพ กล่าวคือ จีนมีบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์มากกว่า 5,000 ราย แต่ส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็ก และทำกำไรได้ค่อนข้างน้อย ทำให้ไม่อาจจัดสรรผลกำไรเหล่านั้น เพื่อการวิจัยและพัฒนาได้มากเท่าที่ควร
ขณะเดียวกัน การขาดการสนับสนุนด้านการวิจัยจากภาครัฐ ก็ทำให้อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์อ่อนแอในด้านนวัตกรรม ส่งผลให้การพัฒนาและถ่ายทอดด้านเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์ดำเนินไปอย่างล่าช้า และไม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของตลาดภายในประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกได้
ข้อมูลในอดีตยังระบุว่า ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ 3 รายใหญ่ของจีน มีสัดส่วนทางการตลาดไม่ถึง 10% ของมูลค่าตลาดเมล็ดพันธุ์ภายในประเทศ เทียบกับระดับ 50% ของผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก
ขณะเดียวกัน การวิจัยและพัฒนากลายเป็น “จุดอ่อน” สำคัญดังกล่าว กล่าวคือ เม็ดเงินลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของบริษัทจีน 1,500 อันดับแรก รวมกันมีมูลค่าเพียง 3,000 ล้านหยวนต่อปี ซึ่งห่างไกลจาก ของมอนซานโต (Monsanto) ยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรแห่งสหรัฐฯ เพียงรายเดียวที่ตก 10,000 ล้านหยวนต่อปี
ในภาพใหญ่ ขณะที่เอกชนจีนในอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ มีจำนวนเพิ่มเป็น 6,400 ราย แต่บทบาทในการวิจัยเชิงพาณิชย์เพียงราว 10-20% ของการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์โดยรวม
ขณะที่เอกชนสหรัฐฯ ขับเคลื่อนถึง 75% ของการวิจัยเชิงพาณิชย์ สิ่งนี้สะท้อนว่า ภาคเอกชนจีนมีบทบาทในการนำเมล็ดพันธุ์ไปประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับของสหรัฐฯ
ในช่วงทศวรรษหลัง การส่งเสริมของภาครัฐ นับว่าทรงพลัง และมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งช่วยขยายความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์ได้อย่างจริงจัง อาทิ การเร่งเพิ่มความหลากหลายของเชื้อพันธุ์
(Germplasm) และการออกในรับรองความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety Certificates) แก่พืชผักตัดต่อพันธุกรรมที่พัฒนาจากภายในประเทศเป็นครั้งแรก เมื่อต้นปี 2020
การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเมล็ดพันธ์ ก็ถูกเน้นย้ำในการประชุมระดับสูงหลายครั้ง และปรากฏในเอกสารสำคัญมากมาย อาทิ การประชุมคณะทำงานกลางด้านเศรษฐกิจ เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2020 ที่ระบุให้อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์มีลำดับความสำคัญสูงในแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของปี 2021
รัฐบาลจีนยังออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องในหลายส่วนอย่างท้าทาย อาทิ การออกแผนการกำกับดูแลการตัดต่อพันธุกรรม (GMO) เมื่อต้นปี 2021 ที่กำหนดการส่งเสริมการพัฒนาและการประยุกต์ใช้ GMO ในเชิงพาณิชย์
ขณะเดียวกัน ในทุกโอกาสของการลงพื้นที่สำรวจความก้าวหน้าทางการเกษตร ผู้นำและผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลจีน มักกล่าวเน้นย้ำด้วยถ้อยคำที่คล้ายคลึงกัน สรุปได้ว่า กุญแจสำคัญในการสร้างความมั่นคงของธัญพืชอยู่ที่ผลผลิต และประเทศควรมีความสามารถในการผลิตและจัดหาธัญพืชได้เพียงพอในยามจำเป็น
ท่อนหนึ่งของคำกล่าวยังระบุว่า “การพึ่งพาตนเองในเทคโนโลยีการเกษตร เริ่มต้นจากการเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ดีและสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกับเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการรับรอง ... เมล็ดพันธุ์สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ แต่เทคโนโลยีสามารถสร้างปาฏิหาริย์ได้” พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านอาหารผ่านนวัตกรรมเมล็ดพันธุ์
คำกล่าวเหล่านี้สะท้อนถึงการให้ความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์สมัยใหม่อย่างแท้จริง ถึงขนาดว่าเมล็ดพันธุ์ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ไมโครชิปการเกษตร” เป็นครั้งแรกในการประชุมใหญ่ด้านการเกษตรของจีน เมื่อปี 2021 ซึ่งเป็นเสมือนการรับรองสถานะเชิงคุณค่าของเมล็ดพันธุ์อย่างเป็นทางการ
การดำเนินงานตามนโยบายส่งเสริมดังกล่าวที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้สถานการณ์โดยรวมเริ่มดีขึ้นในระยะหลัง การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ธัญพืชหลัก 2 ชนิด อันได้แก่ ข้าวและข้าวสาลี ประสบความสําเร็จอย่างน่าพอใจ การเพาะปลูกที่ใช้เมล็ดพันธุ์ในประเทศครอบคลุมพื้นที่กว่า 95% ของทั้งหมด จนอาจถือได้ว่า จีนสามารถพึ่งพาตนเองในการเพาะปลูกข้าวและข้าวสาลีได้
แต่ใช่ว่าการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ของจีนจะแผ่ซ่านอย่างทั่วถึง จีนต้องทำอะไร อย่างไรอีกบ้างในการแก้ไขปัญหาคอขวด และความท้าทายที่มีอยู่ และสร้างความก้าวหน้าในระดับระหว่างประเทศให้เกิดขึ้น?
เราไปคุยกันต่อในตอนหน้าครับ
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 31 มีนาคม 2568